ไม่พบผลการค้นหา
รู้หรือไม่!? ในประวัติศาสตร์รถยนต์ไฟฟ้ามีมานานกว่า 171 ปี ก่อนที่ผู้ชายที่ชื่อ เฮนรี ฟอร์ด ผู้ก่อตั้งบริษัทฟอร์ดมอเตอร์จะผลิต ‘โมเดล ที’ รถยนต์ใช้น้ำมันออกมาฆ่ารถยนต์ไฟฟ้าให้หายจากโลกไปนานกว่าศตวรรษ
1800s : ประวัติศาสตร์รถยนต์เริ่มด้วยไฟฟ้า

ย้อนกลับไปช่วงต้นศตวรรษ 1800 นักประดิษฐ์หลายรายทั่วโลกเริ่มต้นผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยคนแรกที่เป็นผู้ประดิษฐ์รถยนต์ที่วิ่งด้วยแบตเตอรีสำเร็จคือ โรเบิร์ต แอนเดอร์สัน ชาวอังกฤษ ในช่วงราวปี 1832

จากนั้น ในช่วงปี 1899 เป็นครั้งแรกที่นักแข่งรถชาวเบลเยียม คามิลล์ เจแน็ตซี สามารถซิ่งรถยนต์ไฟฟ้าได้เร็วกว่า 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ด้วยรถยนต์ไฟฟ้าที่เขาประดิษฐ์เอง 

ช่วงปลายศตวรรษดังกล่าว รถแท็กซีที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานแบตเตอรีเองก็เริ่มฮิตในหลายๆ เมืองทันสมัยในยุคนั้นเช่นกัน

แน่นอนว่า การตีพิมพ์ข่าวผู้เสียชีวิตคนแรกด้วยอุบัติเหตุรถยนต์ก็เกิดขึ้นในยุคแห่งการเริ่มต้นนี้

first-electric-car.jpg
  • โรเบิร์ต แอนเดอร์สัน และรถยนต์ไฟฟ้าคันแรกของโลก (ที่มา automostory.com)

1900-1910s : รถยนต์ไฟฟ้าครองเมือง

เข้าสู่ยุคเฟื่องฟูของรถยนต์ไฟฟ้า เมื่อ 75 เปอร์เซ็นต์ของรถยนต์ในสหรัฐอเมริกาขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า และมีโครงข่ายสถานีชาร์จแพร่หลาย ฮิตขนาดว่า หลายค่ายรถยนต์ทำการตลาดสำหรับดึงดูดใจลูกค้าผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นดีไซน์เบาะหรูหรา ช่องวางแจกันดอกไม้ นาฬิกา รวมถึงชุดแต่งหน้าบนรถ! และพยายามแข่งขันพัฒนาในรถยนต์เงียบขึ้น สะอาดขึ้น และทำงานได้ดีกว่ารถยนต์ใช้น้ำมันที่เริ่มตีตลาดเข้ามาแข่งขัน

นักประดิษฐ์ในช่วงเวลาที่สำคัญนี้ ได้แก่ เฮนรี ฟอร์ด และโทมัส เอดิสัน ซึ่งพยายามพัฒนาให้รถยนต์ไฟฟ้าราคาถูก และวิ่งได้ไกลกว่า 100 ไมล์ อย่างไรก็ตาม ฟอร์ดได้ล้มเลิกโปรเจ็กต์ไปอย่างน่าเสียดายในปี 1914

เพราะอะไรกันนะ?


1920s-1960s : ‘โมเดล ที’ ยึดตลาดรถยนต์

เพราะปีดังกล่าว เฮนรี ฟอร์ด ผู้ก่อตั้งค่ายรถยนต์ฟอร์ดที่เรารู้จักกันดี ประสบความสำเร็จในการพัฒนารถยนต์เครื่องยนต์สันดาป หรือที่ใช้น้ำมันในการขับเคลื่อน ‘ฟอร์ด โมเดล ที’ (Ford Model T) ในปี 1908 จากนั้น ในปี 1912 เขาสามารถหาทางผลิตโมเดล ทีได้ถูกกว่ารถยนต์ไฟฟ้า

000_19M2WR.jpg
  • โมเดล ที จากค่ายฟอร์ด ที่ถูกนำมาจัดแสดงในกรุงปารีส เมื่อปี 2018

นี่คือเหตุผลง่ายๆ ว่าทำไมโมเดล ที ฆ่ารถยนต์ไฟฟ้าตายทั้งสหรัฐ

  • โมเดล ที ขายในราคาแค่ 650 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับรถยนต์ไฟฟ้าราคาเฉลี่ย 1,750 ดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ขณะเดียวกัน อเมริกาช่วงนั้นมีการขยายถนนทั่วประเทศ ซึ่งหมายความว่าผู้คนต้องการใช้รถยนต์มากขึ้น และมากขึ้น
  • พร้อมกันนั้น มีการขุดค้นพบน้ำมันดิบในรัฐเท็กซัส ส่งผลให้ราคาน้ำมันถูกลงอย่างมาก
  • และคนในชนบทที่ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง แต่พวกขเาสามารถเข้าถึง และซื้อน้ำมันได้

ทั้งหมดทั้งมวล ทำให้ในช่วงปี 1935 รถยนต์ไฟฟ้าล้มหายตายจากไปจากโลกของเรา

ในช่วงปี 1970 เป็นต้นมา รถยนต์ไฟฟ้าถูกบางค่ายผู้ผลิตนำกลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง ด้วยราคาน้ำมันที่เพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้มีประเด็นอะไรสลักสำคัญ

แต่จากวันนั้น เมื่อปีที่เฮนรี ฟอร์ด เปิดตัวโมเดล ที ล่วงเลยมากว่า 100 ปีแล้ว โลกเริ่มเผชิญปัญหาจากควันพิษของการใช้รถใช้ถนน

ทำให้ช่วงปี 1990 เป็นต้นมา หลายค่าย เช่น โตโยต้า จีเอ็มมอเตอร์ส ฮอนด้า นิสสัน เริ่มทยอยผลิตโมเดลไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้าออกมาทดลองในตลาดอีกครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จนัก และบางรุ่นถูกยกเลิกไป

แต่ความพยายามผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายังไม่ได้หายไปถาวร ในปี 2003 เทสลา ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบถือกำเนิดขึ้น พร้อมด้วยหลายค่ายรถยนต์ผู้นำโลก ทยอยพัฒนา และเปิดตัวรถยนต์ลูกผสมประเภทไฮบริด ที่ใช้น้ำมันขับเคลื่อนคู่กับไฟฟ้า รวมถึงพยายามพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ ที่มีศักยภาพทัดเทียมกับเครื่องยนต์สันดาป


2010s : การ (ค่อยๆ) กลับมาของรถยนต์ไฟฟ้า

การกลับมาของรถยนต์ไฟฟ้าไม่ง่ายนัก เพราะความซับซ้อนของปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น

  • เทคโนโลยีที่ต้องพัฒนาให้แบตเตอรีวิ่งได้ไกลกว่า 300 กิโลเมตร/ชาร์จ และปลอดภัย มีราคาถูก
  • ความแพร่หลายของสถานีชาร์จไฟฟ้า
  • การทำการตลาด ที่ต้องได้รับความร่วมมือจากทั้ง รัฐ-เอกชน-ผู้บริโภค เพื่อให้ดีมานด์-ซัพพลาย ของรถยนต์พลังงานสะอาดเป็นที่ต้องการโดยทั่วไป

อย่างไรก็ดี ในหลายปีให้หลังมานี้ กระแสรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มเป็นที่จับตามากขึ้น เพราะนอกจากเทคโนโลยีที่ก้าวไกลมากขึ้นทำให้รถยนต์ไฟฟ้าวิ่งได้โดยสมรรถนะเกือบเทียบเท่ารถยนต์เครื่องยนต์สันดาป คงต้องขอบคุณรัฐบาลในหลายประเทศที่ออกนโยบายสนับสนุนทั้งฝ่ายผู้ผลิตและผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นในเชิงภาษีหรือเงินอุดหนุน นอกจากนี้ รัฐบาลและเอกชนในหลายเมืองก็ได้ร่วมมือกันลงทุนสถานีชาร์จไฟฟ้าร่วมกัน

000_UO6LU.jpg
  • นิสสัน ลีฟ รถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบที่ขายดีที่สุดในปัจจุบัน

เราได้เห็นประเทศจีนที่มีปัญหามลพิษสาหัส มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าอันดับ 1 ของโลก จากนโยบายอุดหนุนช่วยเหลือของรัฐบาล และค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจีนที่ผุดขึ้นมากมาย

เราได้เห็นว่า ประเทศพัฒนาแล้วอย่างนอร์เวย์ มียอดขายรถยนต์พลังงานสะอาดมากกว่ารถยนต์ใช้น้ำมันในปีที่ผ่านมา

เราได้เห็นยอดจองรถยนต์ไฟฟ้าเทสลาที่ทะลุขีดความสามารถการผลิตของบริษัท จนอีลอน มัสก์ โดนจวกยับ (นี่คือเรื่องการบริหารจัดการที่ไม่ดีทั้งสิ้น)

มีการคาดการณ์จากสถาบันวิจัยบลูมเบิร์ก นิว เอเนอจี ไฟแนนซ์ ว่าภายในปี 2040 ครึ่งหนึ่งของรถยนต์ทั่วโลกจะเป็นรถยนต์ที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรีไฟฟ้าล้วน

ทว่าในปี 2021 คร่าวๆ ว่าทุกคนจะได้เห็นโมเดลรถยนต์ไฟฟ้าวางขายกว่า 230 รุ่น จากปลายปี 2018 ที่มีเพียง 179 รุ่น โดยโมเดลจะหลากหลายมากกว่ารถยนต์ซีดาน หรือเก๋งธรรมดาๆ เพราะมีทั้งแบบเอสยูวี และทรงสปอร์ตโก้หรู


2019 : ไทยเผชิญหมอกควันรับต้นปี

กรุงเทพฯ ในวันที่ 8 มกราคมนี้ มีจำนวน 22 พื้นที่ที่ค่า PM 2.5 ทะลุมาตรฐาน ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

หลายคนที่เป็นโรคภูมิแพ้อากาศ เริ่มตั้งสเตตัสว่าหายใจไม่ออก ผื่นขึ้น จามไม่หยุด ใช้งบรักษาพยาบาลประจำปีหมดตั้งแต่ต้นปี ฯลฯ 

อันที่จริงแล้ว ชาวกรุงเผชิญหมอกควันต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายเดือนที่แล้ว

สาเหตุสำคัญของหมอกควันในกรุงเทพ น่าจะเป็นส่วนหนึ่งจากความแออัดของการจราจรบนท้องถนน ที่มีเป็นจำนวนล้านๆ คัน

จราจร

แน่นอนว่า การเข้ามาแทนที่ของรถยนต์ไฟฟ้าบนท้องถนน จะเป็นตัวแปรที่ช่วยลดภาวะเป็นพิษดังกล่าวได้เป็นอย่างดี แต่คำถามคือเมื่อไหร่กัน? เพราะแม้ประเทศไทยจะเป็นฮับการผลิตรถยนต์ของภูมิภาค และเริ่มตื่นตัวต่อกระแสรถยนต์พลังงานสะอาด แต่ประเด็นคือ รัฐไทยยังหนุนรถยนต์ไฟฟ้าไม่สุดตัวหรือไม่?

แต่ก็ยังพอมีข่าวดีคือ มีรายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจว่า สรรพสามิตเตรียมคลอดแพ็กเกจภาษี ‘ไมลด์ไฮบริด’ หรือ ‘อีโค-ไฮบริด’ สำหรับผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศไทย ที่จะมีอัตราภาษีที่ต่ำกว่าภาษีอีโคคาร์ แต่ผู้รับการส่งเสริมการลงทุนจะต้องพัฒนาต่อยอดสู่รถยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี ได้ภายใน 3 ปี

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นการกรุยทางสำหรับการลงทุนจากต่างชาติ แต่ความน่าสนใจคือข้อถกเถียงจากหลายค่ายรถยนต์ที่เห็นแย้งกัน เช่น บางเจ้าว่าแพ็กเกจนี้ดี แต่ผู้ผลิตอีโคคาร์หลายเจ้าไม่พอใจที่แพ็กเกจดังกล่าวเอื้อประโยชน์แค่บางค่าย เพราะได้อัตราภาษีที่ดีกว่าอีโคคาร์ ซึ่งจะส่งผลต่อราคาขายในภายหลัง

หรือในเชิงเทคนิค ที่หลายค่ายผู้ผลิตเคยมีการเข้าพูดคุยกับทางรัฐแล้วว่า เทคโนโลยี ‘ไฮบริด’ กับ ‘ไมลด์ไฮบริด’ ต่างกันมาก และไมลด์ไฮบริดไม่ใช้เทคโนโลยีอนาคตอีกแล้วเพราะใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในมากกว่าระบบไฟฟ้า

คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า สนามรบรถยนต์ไฟฟ้าของไทยจะเร่งเครื่องร้อนแรงกันได้ในเร็ววันนี้หรือไม่

ที่มา :

On Being
198Article
0Video
0Blog