ไม่พบผลการค้นหา
"พ.ต.อ.ทวี" เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์เฟซบุ๊กข้องใจทำไมรัฐออก พ.ร.ก.ช่วยแต่หนี้สินของเศรษฐี ส่วนหนี้สินของประชาชนกลับไม่เหลียวแล

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์เฟซบุ๊กกรณีรัฐบาล กับ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ออก พ.ร.ก.เพื่อช่วยเหลือนักธุรกิจกับเศรษฐีจำนวน 2 ฉบับ วงเงินสูงถึง 9 แสนล้านบาท คือ ฉบับแรก พ.ร.ก. การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ.2563 ที่มี SME ในประเทศมากกว่า 2 ล้านราย โดยตั้งวงเงินจำนวน 5 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือนักธุรกิจและเจ้าของบริษัท SME วงเงินไม่เกิน 500 ล้านบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 2 พักชำระหนี้ 6 เดือน และ

ฉบับที่สอง พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 ให้ตั้งกองทุน BSF สามารถเข้าไปซื้อตราสารหรือหุ้นกู้ที่ออกใหม่ซึ่งตลาดตราสารหนี้มีขนาดประมาณ 3.6 ล้านล้านบาท โดยตั้งวงเงินไว้ 4 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเศรษฐีที่หุ้นกู้ครบกำหนด

พ.ต.อ.ทวี ระบุว่า เห็นได้ว่า พ.ร.ก. ทั้ง 2 ฉบับเป็นการ “โอนหนี้ของเอกชน”ที่ส่วนใหญ่เป็นเศรษฐี และนักธุรกิจที่ร่ำรวยให้มาเป็น “หนี้สาธารณะ” ที่ประชาชนทั้งประเทศต้องใช้หนี้แทน บาดแผลที่จำได้ดีคือ ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ ปี 2540 ที่สถาบันการเงินประสบปัญหารุ่นแรงที่ผู้ฝากและเจ้าหนี้ขาดความมั่นใจแห่กันถอนเงินออกเพราะเศรษฐกิจตกต่ำ ค่าเงินบาทอ่อน สถาบันการเงินอ่อนแอมีสินทรัพย์ด้อยคุณภาพหรือเอ็นพีแอลมาก ต่างชาติเรียกหนี้คืนและถอนเงินทำให้เงินออกนอกประเทศฯ รัฐบาลขณะนั้น กับ ธปท ได้โอนหนี้ของ 56 สถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการให้ “กองทุนฟื้นฟูฯ” รับภาระให้สถาบันการเงินกู้เพื่อรับประกันการถอนเงินของผู้ฝากและเจ้าหนี้ของสถาบันการเงินอย่างแบบ 100% เป็นการโอนหนีของเอกชนให้เป็นหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯหรือหนี้สาธารณะ แม้ต่อมาตั้งองค์กร ปรส เพื่อขายสินทรัพย์ทั้ง 56 สถาบันการเงินเสร็จสิ้นแล้วนำเงินไปใช้หนี้แล้วก็ตาม แต่หนี้สินก็ยังคงอยู่จำนวนมาก

นับจากปี 2540 จนถึง ปี 2563 ผ่านมาเกือบ 23 ปี ปัจจุบันยังมีหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ค้างอยู่มากถึง 801,416 ล้านบาท (รายงานหนี้สาธารณะสิ้นเดือนมีนาคม 2563) เป็นภาระและบาดแผลทางการเงินที่ถูกสร้างขึ้นโดยคนในอดีตแต่คนในปัจจุบันและอนาคตต้องใช้หนี้แทน

ทั้งนี้ การช่วยเหลือหนี้สิ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโควิดเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง แต่รัฐบาลไม่ควรเลือกช่วยเหลือหนี้สิ้นเฉพาะคนรวยเท่านั้น ส่วนหนี้สินของประชาชนรัฐกลับไม่ได้รับการเหลียวแล ปัจจุบันหนี้สินภาคประชาชนหรือหนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มขึ้นสูงสุดจากการสำรวจล่าสุดเมื่อปี 2562 พบว่าหนี้ครัวเรือนมีมูลค่ามากกว่า 13 ล้านล้านบาท การก่อหนี้ดังกล่าวผู้กู้เงินจำเป็นต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน คือ ที่ดิน สิ่งก่อสร้างที่พักอาศัยหรือหลักทรัพย์ค้ำประกันอื่น และตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ที่ใช้ติดต่อเนื่องมา 65 ปี ได้ถือว่าที่ดินเป็น “สินทรัพย์” ภายใต้ระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล ที่ให้สิทธิแก่เจ้าของอย่างเต็มที่

เมื่อที่ดินตีค่าเป็นเพียง ‘สินทรัพย์’ จึงมีการกักตุนไว้เก็งกำไรและสร้างความร่ำรวยมั่งคั่งของบุคคลจากเอกสารสิทธิโฉนดที่ดิน น.ส3 และน.ส.3 ก รวมถึงเอกสารการครอบครองอื่นมากขึ้น ขณะที่ประเทศไทยยังไม่ได้จำกัดการถือครองที่ดินจึงเป็นโอกาสให้นักล่าสะสมที่ดินเพื่อความมั่งคั่งอย่างไม่จำกัด คุณค่าของที่ดินสำหรับเศรษฐีถือว่าที่ดินสินค้าที่กักตุนไว้เก็งกำไร ส่วนคุณค่าของที่ดินของประชาชน เกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยถือว่าที่ดินเป็นปัจจัยการผลิต เป็นทุนชีวิต หรือทุนทางสังคมเพื่อผลิตอาหาร ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ที่ประกอบอาชีพจำเป็นต้องมีที่ดินทำกินและมีกรรมสิทธิ์ในการรับผิดชอบครอบครัว

การกู้ยืมเงินเจ้าหนี้จะขอให้มีการประกันการชำระหนี้ด้วยทรัพย์ของผู้กู้หรือผู้อื่นก็ได้ เรียกว่า ‘จำนอง’ ในการบังคับจำนองหากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ผู้รับจำนองต้องฟ้องคดีต่อศาลและ การกู้ยืมเงินรูปแบบ ‘ขายฝาก’ ที่เจ้าหนี้ไม่ต้องการผูกพันในรูปแบบสัญญาเพราะมีความเสียงจึงให้ลูกหนี้ทำสัญญาในรูปขายฝากซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกเป็นผู้ซื้อฝากทันที่ที่ทำสัญญาขายฝาก หากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ไถ่ทรัพย์คืนภายในกำหนดระยะเวลาที่ตกลงกันก็หมดสิทธิไถ่ถอน โดยผู้รับซื้อฝากไม่ต้องเสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายในการฟ้องร้องดำเนินคดี (แม้มีแก้ไขกฏหมายขายฝากใหม่ เมื่อ พ.ศ.2562 เพื่อให้มีกระบวนการคุ้มครองผู้ขายฝากที่ดิน แต่หลักการยังคงเดิม) ในการจำนอง และขายฝากที่ดิน หรือที่ดินพร้อมสิ่งก่อสร้างบนที่ดินต้องจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินโดยเสียค่าธรรมเนียม ซึ่งข้อมูลปัจจุบันพบว่า

1. กรณี ‘จำนอง’ มีจำนวน 1,242,133 แปลง วงเงินจำนองประมาณ 1.25 ล้านล้านบาท แยกเป็น

- ที่ดินหรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 1,145,764 แปลง

- สิ่งปลูกสร้าง จำนวน 1,300 แปลง

- อาคารชุด จำนวน 95,069 ห้อง/แปลง

2. กรณี ‘ขายฝาก’ จำนวน 46,011 แปลง มูลค่าขายฝากประมาณ 28,359 ล้านบาท แยกเป็น

- ที่ดินหรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจำนวน 44,913 แปลง

- สิ่งปลูกสร้าง จำนวน 39 แปลง

- อาคารชุดจำนวน 1,059 แปลง

หนี้ที่ถูกบังคดี จากข้อมูลกรมบังคับคดีพบว่ามีคดีที่ศาลมีคำพิพากษาส่งบังคับคดีประมาณมากกว่า 1.4 ล้านคดี มูลค่าทรัพย์สินประมาณมาก 1 ล้านล้านเศษ แต่ที่เจ้าหนี้ตั้งเรื่องบังคับคดีให้บังคับขายทอดตลาด ประมาณมากกว่า 3 แสนล้านบาท (เพราะมีอายุความบังคับคดี 10 ปี) ซึ่งหนี้ดังกล่าวมีหลายประเภทที่เป็นหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันอยู่ด้วย

พ.ต.อ.ทวี ระบุว่า รัฐควรสนับสนุนสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือจัดตั้งกองทุนขึ้นมาเฉพาะโดยขอเรียกชื่อว่า "กองทุนเพื่อรักษาเสถียรภาพของคุณภาพคนไทย" ในวงเงินประมาณ 5 แสนล้านบาท เพื่อซื้อหนี้มีหลักประกันเป็นที่ดิน สิ่งก่อสร้างบนที่ดิน ที่อยู่อาศัย ที่จำนอง ขายฝาก และจากกรมบังคับคดี จากนั้นให้ลูกหนี้ซื้อคืน โดยการพักชำระหนี้ประมาณ 10 ปี และไม่มีดอกเบี้ย หรือให้เช่า รวมทั้งมีมาตรการหรือวิธีการฟื้นฟูอาชีพลูกหนี้ให้มีรายได้เพียงพอในการชาระหนี้

ปกติที่ดินหรือที่ดินพร้อมสิ่งก่อสร้างที่ใช้เป็นทรัพย์ค้ำประกันหนี้สิน มักเป็นหลักทรัพย์ชิ้นสุดท้ายของประชาชน การช่วยเหลือจะเป็นการสร้างความมันคงในชีวิตประชาชน จึงเสนอให้ตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือตั้ง “กองทุนเพื่อรักษาเสถียรภาพของคุณภาพคนไทย” เพื่อพยุงหนี้สินของประชาชนเพื่อสร้างความเป็นธรรม ความเสมอภาคในการช่วยเหลือช่วงวิกฤตโควิด และเป็นการปฏิรูปการช่วยเหลือหนี้สินประชาชนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นโดยอาจขยายเพิ่มภารกิจช่วยเหลือหนี้สินที่ใช้ที่ดินเป็นหลักประกันอื่น อาทิ การซื้อหนีเสียและมีหลักทรัพย์คำประกันของลูกหนี้สู่กระบวนการช่วยเหลือทุกฝ่ายต้องได้รับโยชน์ร่วมกัน “ลูกหนี้จะไม่ถูกฟ้องร้องและจะได้ทรัพย์คืน เจ้าหนี้จะได้รับการชำระหนี้ และรัฐบาลจะไม่เสียหาย” การช่วยเหลือขายคืนให้ลูกหนี้ในราคาเท่าทุน แต่กองทุนสามารถบริหารที่ดินและสิ่งก่อสร้างที่ซื้อมาเพื่อให้ดำเนินการโดยไม่ต้องใช้งบประมาณรัฐอีกตามหลักเกณฑ์ที่มีธรรมาภิบาล โปร่งใส

เคยมีการสำรวจปัญหาหนีสิ้นภาคประชาชนมีความรุนแรงมากเห็นควรตั้งวงเงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อทำให้ลูกหนี้กลับมาดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณค่า ศักยภาพและศักดิ์ศรี หลีกเลี่ยงการฟ้องดำเนินคดี และทำให้ลูกหนี้ไม่ฆ่าตัวตายทั้งยังเป็นการปกป้องสิทธิมนุษยชนและสิทธิด้านการถือครองที่ดินตามปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของเกษตรกรและบุคคลที่ทำงานในเขตชนบทอีกด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :