ไม่พบผลการค้นหา
คณะกรรมมาธิการที่ทางการเมียนมาแต่งตั้งกล่าวว่า มีเจ้าหน้าที่ทหารบางนายก่ออาชญากรรมสงครามต่อชาวโรฮิงญา แต่กองทัพไม่ได้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา

คณะกรรมาธิการอิสระในการสืบหาข้อเท็จจริง (ICOE) ที่ทางการเมียนมาแต่งตั้งขึ้นออกแถลงรายงาน 461 หน้าสรุปว่า ทหารบางนายใช้กำลังรุนแรงเกินความเหมาะสม มีแนวโน้มว่าจะก่ออาชญากรมสงครามต่อชาวโรฮิงญา และละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง รวมถึง “การสังหารชาวบ้านผู้บริสุทธิ์และทำลายบ้านเรือนของพวกเขา” แต่อาชญากรรมเหล่านั้น ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ICOE ระบุว่า ทีมงานได้เก็บหลักฐานมาจากรัฐยะไข่ นครย่างกุ้งและกรุงเนปิดอว์ โดยมีการสัมภาษณ์พยานประมาณ 1,500 คนจากหลายชุมชนทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ ทั้งชาวมุสลิม ชาวยะไข่ กลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ

คณะกรรมาธิการระบุว่า ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะถกเถียงหรือสรุปว่า อาชญากรรมเหล่านั้นเกิดขึ้นจากความตั้งใจที่จะทำลายกลุ่มสัญชาติ ชาติพันธุ์ เชื้อชาติ หรือศาสนาใดทั้งกลุ่มหรือบางส่วนของกลุ่มนั้นๆ

รายงานฉบับนี้ออกมาเพียงไม่กี่วันก่อนที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) จะมีคำตัดสินว่าควรมีมาตรการฉุกเฉินในการยุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่กำลังดำเนินอยู่ในเมียนมาตามที่แกมเบียกล่าวหาหรือไม่ ส่งผลให้กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนออกมาประณามรายงานของ ICOE ว่าเป็นการออกรายงานมาแบบผักชีโรยหน้า

แม้รายงานฉบับนี้จะแสดงให้เห็นถึงการยอมรับผิดของทางการเมียนมาว่ามีเหตุเลวร้ายเกิดขึ้นจริง แต่องค์กรชาวโรงฮิงญาเมียนมาในสหราชอาณาจักร (BROUK) กล่าวว่ารายงานนี้เป็น “การประชาสัมพันธ์อย่างโจ่งแจ้ง” เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจไปจากการตัดสินคดีของ ICJ การสอบสวนของเมียนมามีจุดบกพร่องร้ายแรงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐยะไข่เป็นความพยายามในการฟอกขาวความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญาโดยกองทัพเมียนมา

ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ รายงานฉบับนี้ทำให้ทหารแต่ละคนเป็นแพะรับบาปมากกว่าจะบอกว่ากองทัพเป็นผู้ออกคำสั่ง นอกจากนี้ โรเบิร์ตสันยังเรียกร้องให้ ICOE ออกรายงานฉบับเต็มมาโดยเร็ว เพราะการสืบสวนสอบสวนทั้งหมดของ ICOE รวมทั้งระเบียบวิธีและการปฏิบัติไม่โปร่งใสอย่างมาก

ปฏิบัติการทางทหารของเมียนมาเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ส.ค.ปี 2017 ที่มีกลุ่มติดอาวุธโจมตีเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของเมียนมาเสียชีวิตหลายนาย การปราบปรามชาวโรงฮิงญาในรัฐยะไข่ทำให้ชาวโรฮิงญาลี้ภัยไปยังบังกลาเทศกว่า 740,000 คน

เมียนมา ซึ่งเป็นประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ยังคงยืนยืนจุดยืนเดิมว่า กองทัพเมียนมามีความชอบธรรมในการปราบปรามกลุ่มกองกำลังปลดปล่อยโรฮิงญาอาระกัน (ARSA) ที่ก่อเหตุโจมตีใส่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงบริเวณชายแดน แต่ผู้ลี้ภัยที่ลี้ภัยไปยังบังกลาเทศระบุว่า กองทัพเมียนมาทั้งสังหาร ข่มขืน ทรมาน และเผาบ้านของพวกเขา ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่จึงยังไม่กล้าเดินทางกลับรัฐยะไข่ เพราะเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย

คณะกรรมาธิการ ICOE ประกอบไปด้วยชาวเมียนมา 2 คน และชาวต่างชาติ 2 คน ได้แก่ โรซาริโอ มานาโล ทูตฟิลิปปินส์ประจำเมียนมา และเคนโซ โอชิมะ อดีตทูตญี่ปุ่นประจำยูเอ็น ซึ่งทั้งหมดได้รับการแต่งตั้งจากทางการเมียนมา

เมื่อเดือนก่อน อองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมาเดือนทางไปกรุงเฮกของเนเธอร์แลนด์ เพื่อขึ้นให้การในศาล ICJ โดยเธอกล่าวว่า เหตุการณ์ในรัฐยะไข่มีความซับซ้อน พร้อมเตือนว่าคดีนี้อาจจุดไฟให้วิกฤตความรุนแรงในรัฐยะไข่อีกครั้ง 

นอกจากนี้ เมียนมายังถูกฟ้องร้องอีกหลายคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวโรฮิงญา รวมถึงคดีในศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) และคดีกว่าในอาร์เจนตินาที่กล่าวหาว่าซูจีเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดกับอาชญากรรมต่อชาวโรฮิงญา

ที่มา : Channel News Asia, Irrawaddy