ไม่พบผลการค้นหา
ที่ประชุมกรรมาธิการกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน มีมติส่ง ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ... เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาและนำไปสู่ขั้นตอนกระบวนการออกกฎหมายต่อไป "รังสิมันต์" เผยเป็นความภูมิใจของทั้งคณะที่พร้อมใจทำงานร่วมกัน

น.ส.พรรณิการ์ วานิช ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับที่ภาคประชาชนยื่นมาและถูกปรับปรุงโดย กมธ.กฎหมายฯ นับว่าจะมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากเพราะ สามารถคุ้มครองประชาชนและจะกำหนดให้คดีไม่มีอายุความ สามารถสืบหาจนกว่าจะได้มาซึ่งความยุติธรรม และจะใช้ระบบไต่สวน ที่จะทำให้ศาลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเรียกหาเอกสารหลักฐานได้เอง อีกทั้งยังกำหนดให้คณะกรรมการฯ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญ ในการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน สามารถทำหน้าที่เรียกให้หน่วยงานภาครัฐปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้อย่างเคร่งครัด โดยคณะกรรมการจะมาจากตัวแทนภาคประชาชน 6 คน มาจากข้าราชการ 5 คน จะทำให้คณะกรรมการนี้มีเสียงของภาคประชาชนมากกว่าข้าราชการ จะส่งผลให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีความเป็นมนุษย์และสามารถเข้าใจได้อย่างแท้จริง

นางอังคณา นีละไพจิตร ที่ปรึกษา กมธ.กฎหมายฯ และผู้ได้รับความเสียหายจากการอุ้มหายและซ้อมทรมาน กล่าวว่า เนื่องจาก ร่าง พ.ร.บ.มีหลายร่าง อยากจะเน้นย้ำว่าร่างที่ปรับปรุงโดย กมธ.กฎหมายฯ มีการพิจารณาโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและสอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการซ้อมทรมานฯและหลักการสิทธิมนุษยชน ซึ่งครอบคลุมในทุกบริบททั้งการป้องกัน ปราบปราม และเยียวยา จึงมีความครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด

ด้าน นายรังสิมันต์ โรม โฆษกกรรมาธิการกฎหมายฯ และ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ตลอดเวลาที่ทำงานมา มีการสนับสนุนและพร้อมใจกันของกรรมาธิการที่อยากให้ร่างกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานผ่านสภา หลังจากเปิดสภา มาก็ทำงานกันอย่างแข็งขัน ขอชื่นชมอนุกรรมาธิการและ กมธ.กฎหมายฯ นี่คือความภาคภูมิใจของการทำงานกรรมาธิการ เป็นผลงานและความตั้งใจที่เกิดขึ้น เป็นความสำเร็จของกรรมาธิการทั้งคณะ

ทั้งนี้ ร่างที่จะส่งเข้าสู่สภาผู้แทนฯพิจารณามีอยู่ด้วยกัน 4 ฉบับ คือ ร่างของกระทรวงยุติธรรม ร่างของพรรคประชาชาติ ร่างของพรรคประชาธิปัตย์ และร่าง พ.ร.บ.ที่ปรับปรุงโดยกรรมาธิการกฎหมายฯ อนึ่งเมื่อมีผู้เสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภาผู้แทนฯ แล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนที่สอง คือ การพิจารณากฎหมาย โดยทั่วไปการพิจารณาร่างกฎหมายของสภาแบ่งเป็น 3 วาระด้วยกัน ได้แก่

วาระที่หนึ่ง เรียกว่า ‘ขั้นรับหลักการ' เป็นการพิจารณาหลักการของร่างกฎหมาย โดยผู้เสนอร่างกฎหมายจะมาชี้แจงหลักการและเหตุผลประกอบ ความจำเป็นที่ต้องออกกฎหมาย

วาระที่สอง เรียกว่า ‘ขั้นกรรมาธิการ' เป็นการพิจารณาร่างกฎหมายเป็นรายมาตรา อาจเพิ่ม ตัดทอนหรือแก้ไขบางมาตรา หรือบางถ้อยคำให้สมบูรณ์ขึ้น แต่ต้องไม่ขัดแย้งกับหลักการของร่างกฎหมายฉบับนั้น

วาระที่สาม เรียกว่า ‘ขั้นลงมติเห็นชอบ' เป็นการลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายทั้งฉบับ ไม่มีการอภิปรายใด ๆ และจะแก้ไขข้อความใด ๆ ไม่ได้ ถ้ามีมติเห็นชอบก็จะนำไปสู่การพิจารณาของวุฒิสภา แต่ถ้าไม่เห็นชอบร่างนั้นก็เป็นอันตกไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :