ไม่พบผลการค้นหา
"คุณหญิงสุดารัตน์" ระบุรัฐบาลที่มีการบริหารจัดการอย่างชาญฉลาดจะ “เกลี่ยเงิน”จากค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นมาใช้แก้ปัญหาวิกฤตโควิดก่อนที่ตัดสินใจ “กู้เงิน” เพิ่มหนี้ให้ประชาชน เชื่อฝ่ายค้านเห็นด้วย

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โพสต์เฟซบุ๊กระุบุว่า เกลี่ยเงิน vs. กู้เงินพล.อ.ประยุทธ์จะเลือกทำอย่างไหนก่อนคะ..? การที่จะทำให้ประเทศผ่านวิกฤตครั้งนี้ ต้องใช้งบมหาศาล ก่อนจะ”กู้เงิน”สร้างหนี้เพิ่ม จึงควรตัดงบปี 63 ที่ไม่จำเป็นเช่น ซื้อเรือดำน้ำ อาวุธ ตึกใหม่ รถใหม่ตัดได้อย่างน้อยร้อยละ10-15 จะได้งบ 300,000-500,000 ล้านบาทมาช่วยประชาชน ไม่ตัดงบก่อนกู้ เท่ากับทำร้ายประชาชน

ดิฉันและพรรคเพื่อไทยเล็งเห็นว่า วิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้ หนักหนาสาหัสมาก โดยที่รัฐบาลจะต้องใช้เม็ดเงินจากภาษีอากรของพี่น้องประชาชนจำนวนมหาศาล เพื่อดำเนินการในเรื่องของการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และการแก้ปัญหาต่อเนื่อง ที่ประเทศไทยจะต้องเผชิญในอนาคตอันใกล้

ดังนั้น หากผู้นำประเทศไม่รู้จักการประหยัด ด้วยการปรับแผนในการใช้เงินตั้งแต่ตอนนี้ เราจะโดน 2 เด้ง คือใช้เงินตามแผนเก่า(ปี 63)อย่างไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และรัฐบาลจะต้องไปกู้เงินอีกจำนวนมหาศาล เพื่อมาแก้ไขวิกฤตของประเทศ


รัฐบาลที่มีการบริหารจัดการอย่างชาญฉลาด ควรจะ “เกลี่ยเงิน” จากค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น, ไม่เร่งด่วน มาใช้แก้ปัญหาวิกฤต ก่อนที่จะตัดสินใจ “กู้เงิน” ค่ะ


ดิฉันได้เสนอไปหลายวัน และย้ำไปหลายครั้งแล้ว ให้นายกฯ ตัดงบประมาณปี 63 ที่ไม่จำเป็นของทุกกระทรวงลง โดยเฉลี่ยร้อยละ10 เป็นอย่างน้อย เพื่อเกลี่ยเงินส่วนนี้มาช่วยแก้ไขวิกฤตที่เกิดขึ้น

บริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกและทั่วประเทศไทย ต่างก็ปรับการใช้งบประมาณใหม่กันหมดแล้ว หากรัฐบาลและกระทรวงต่างๆ ไม่รู้จักปรับตัว ท่านจะกลายเป็นตัวสร้างภาระให้ประเทศ จากการใช้งบประมาณที่สูงขึ้น ในขณะที่รายได้จากการเก็บภาษีอากรในปีหน้า เราน่าจะเก็บภาษีได้ต่ำกว่าเป้าเยอะมาก ทำให้เราต้องกู้เงินมากขึ้น หนี้รายหัวของประชาชนก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว!!

ทำไมธุรกิจอื่นเลื่อนการจ่ายตังค์ หรือ Pending การจัดซื้อไว้ได้ แต่ระบบราชการไทยจึงทำไม่ได้?

สัญญาจัดซื้อจัดจ้างต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การจัดซื้อเรือดำน้ำ, อาวุธต่าง ๆ, การสร้างตึกใหม่, สั่งซื้อรถประจำตำแหน่งใหม่, การดูงาน, อบรมสัมมนา และเรื่องอื่น ๆ ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนน้อยกว่าการแก้ปัญหาโควิด-19 ควรจะถูกปรับเลื่อน-ลด-ยกเลิก ไปบ้าง หากนายกฯ มีความจริงใจที่จะทำเพื่อลดภาระงบประมาณของประเทศนั้น ควรจะตัดงบปี 63 ได้ถึง ร้อยละ15 ด้วยซ้ำ เพราะงบประมาณปี 63 ล่าช้า และเหลือเวลาใช้อีกเพียงแค่ 6 เดือนเท่านั้น ทำไมจึงต้องเร่งใช้ให้เต็ม 3.3 ล้านล้านบาท

ถ้าตัดงบปี 63 ได้ ร้อยละ10 จากงบประมาณทั้งหมด 3.3 ล้านล้านบาท เราจะได้เงิน 300,000 ล้านบาท ถ้าตัดร้อยละ15 เราจะได้เงินเกือบ 500,000 ล้านบาท

เงินจำนวนครึ่งล้านล้านบาทนี้ รัฐบาลสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาวิกฤต แก้ปัญหาให้หมอและพยาบาลให้ดีกว่าที่ผ่านมา เชื่อว่าพี่น้องประชาชนตลอดจนพรรคฝ่ายค้าน จะเห็นด้วยมากกว่าการหลับหูหลับตาใช้เงินเก่าให้หมด เพื่อจะกู้เงินใหม่มาใช้ค่ะ

ดิฉันขอเรียกร้องต่อพลเอกประยุทธ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีอีกครั้งว่า

  • 1) ต้องรีบสั่งการให้ตัดงบประมาณปี 63 ลงอย่างน้อย 10-15% เพื่อนำเงินก้อนนี้ที่จะได้ 300,000 ถึง 500,000 ล้านบาท มาเยียวยาประชาชนและธุรกิจขนาดเล็ก และกลาง SMEs ต่างๆ ให้ประคองตัวอยู่ได้ ในยามวิกฤตเช่นนี้
  • 2) ต้องกระจายงบกลางที่อยู่ในมือนายกฯ เป็นแสนล้าน ไปยังโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค และจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ให้พอเพียงสักที อย่าให้ใครมาตั้งคำถามว่างบกลางหายไปไหน
  • 3) การกู้เงินต้องทำหลังจากทำข้อ (1)ข้อ (2)ให้ครบถ้วนก่อน และการกู้เงินต้องเป็นการกู้เพื่อนำไปใช้ในมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศซึ่งต้องใช้เงินมหาศาล

วางแผนปรับเปลี่ยนงบประมาณ เร่งเกลี่ยเงินที่ไม่จำเป็นมาใช้ ก่อนการกู้เงินสร้างหนี้ให้ประชาชน




ข่าวที่เกี่ยวข้อง :