ไม่พบผลการค้นหา
รัฐบาลอินโดนีเซียดึงแอปพลิเคชันตรวจสุขภาพ-ให้คำปรึกษาทางการแพทย์ ร่วมรับมือ 'โควิด-19' คัดกรองผู้ป่วย-ผู้ต้องสงสัยติดเชื้อ ไม่ต้องไป รพ.อย่างเดียว หลังประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรในหลายพื้นที่

จังหวัดชวาตะวันตก หรือ West Java ของอินโดนีเซีย ถูกคนในประเทศตั้งฉายาว่าเป็น 'พื้นที่สีแดง' ของการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 และเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อที่ยืนยันแล้วมากที่สุด 365 ราย จากจำนวนทั้งหมด 3,293 รายทั่วประเทศ ทั้งยังมีผู้เสียชีวิต 35 ราย จากจำนวนผู้เสียชีวิตสะสม 280 รายทั่วประเทศ 

สำนักข่าว Reuters รายงานว่า รัฐบาลอินโดนีเซียกำลังเจอกับอุปสรรคสำคัญในการควบคุมและป้องกันโรคโควิด-19 คือ ภาวะขาดแคลนบุคลากรการแพทย์และอุปกรณ์ป้องกันด้านสุขอนามัย โดยเฉพาะที่ชวาตะวันตก แพทย์ผู้ปฏิบัติงานไม่ได้สัดส่วนกับประชากรกว่า 49 ล้านคนของจังหวัด ขณะที่เตียงผู้ป่วยภาวะวิกฤต (ICU) ทั่วประเทศ มีอยู่ประมาณ 4,000 เตียง เทียบกับสัดส่วนประชากรราว 270 ล้านคน ถือว่าเข้าขั้นขาดแคลน

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียจึงดึงภาคเอกชนมาช่วยรับมืออีกแรงหนึ่ง ได้แก่ ธุรกิจสตาร์ทอัพที่ให้คำปรึกษาหรือคำวินิจฉัยทางการแพทย์ผ่านระบบโทรคมนาคม (telehealth) ซึ่งให้บริการแอปพลิเคชันคัดกรองผู้ต้องสงสัยติดเชื้อโควิด โดยคาดว่าจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงในโรงพยาบาล ลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อเพิ่มเติม

กิจการเทเลเฮลท์ที่รัฐบาลอินโดนีเซียขอความร่วมมือ ได้แก่ Alodokter และ Halodoc ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพในประเทศที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และ GrabHealth กิจการร่วมทุนระหว่าง Grab สิงคโปร์ และ PingAn Good Doctor บริการด้านสุขภาพของธุรกิจประกัน 'ผิงอัน' จากประเทศจีน

ผู้ให้บริการเหล่านี้มีแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ของตัวเองอยู่แล้ว รัฐบาลอินโดนีเซียจึงส่งเสริมให้คนเข้าไปใช้บริการของเอกชนเหล่านี้ โดยประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ ของหน่วยงานรัฐ ทั้งยังจัดเตรียม 'ดิจิทัลคอลเซ็นเตอร์' เอาไว้รับเรื่องต่างๆ และอำนวยความสะดวกเพิ่มเติมสำหรับผู้ใช้บริการ

โควิดอินโดนีเซีย_รอยเตอร์

ด้วยเหตุนี้ ประชาชนจึงสามารถเข้าถึง 'บริการฟรี' ผ่านแอปฯ กลุ่มเทเลเฮลท์ได้ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยแอปฯ เหล่านี้จะเป็นผู้จัดหาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาให้คำปรึกษา หรือช่วยวินิจฉัยอาการเบื้องต้นทางแชต หรือโทรศัพท์ หรือวิดีโอคอล ที่แต่ละคนส่งเข้ามาในแต่ละวัน ขณะที่ GrabHealth จะมีบริการนำยารักษาอาการไปส่งผู้ใช้บริการจากแอปฯ เทเลเฮลท์นี้ด้วย

'นาทาเนล ไฟบิส' ประธานบริหาร Alodokter เปิดเผยว่าสถิติผู้เข้าชมเว็บไซต์ Alodokter เพิ่มขึ้นเป็น 32 ล้านครั้งในเดือน มี.ค. ส่วนผู้ขอคำปรึกษาและให้แพทย์ช่วยวินิจฉัยอาการฟรีผ่านแอปฯ มีจำนวนกว่า 500,000 ราย ขณะที่ GrabHealth ระบุว่ามีผู้เข้าชมเว็บไซต์หรือใช้งานแอปฯ เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมีจำนวนเฉลี่ยวันละ 1 หมื่นคน

ทางด้าน 'โจนาทัน ซูทาร์ตา' ประธานบริหารของ HaloDoc อีกหนึ่งผู้ให้บริการแอปฯ การแพทย์ในอินโดนีเซีย ยอมรับว่า การให้คำปรึกษาและคำวินิจฉัยทางการแพทย์เป็นเพียงตัวเลือกเบื้องต้นสำหรับผู้ที่สงสัยว่าตัวเองจะติดเชื้อโควิด-19 หรือผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการเพียงเล็กน้อย แต่ประชาชนจำนวนมากยังจำเป็นต้องไปโรงพยาบาลเพื่อขอรับการตรวจคัดกรองที่เข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่เคยมีประวัติเจ็บป่วยเกี่ยวกับปอด

ก่อนหน้านี้ โจนาทัน เคยให้สัมภาษณ์สำนักข่าว BBC กรณีแพทย์ในอินโดนีเซียไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากร โดยเขาประเมินสัดส่วนคร่าวๆ ว่า แพทย์ 3 คนจะต้องรับผิดชอบดูแลผู้ป่วยอย่างน้อย 10,000 คน

อย่างไรก็ตาม บริการด้านเทเลเฮลท์ยังมีข้อจำกัด เพราะผู้เข้าถึงบริการด้านนี้จำเป็นจะต้องมีอินเทอร์เน็ตหรือสมาร์ตโฟน แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงหรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รัฐบาลอินโดนีเซียและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายระดับประเทศจำเป็นจะต้องคำนึงถึงประชากรกลุ่มนี้ด้วย

ส่วนกรณีของประเทศไทย เครือข่าย 'เทเลเฮลท์' ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายไทยเซฟ 'ThaiSafeNetwork' ซึ่งเกิดจากความร่วมมือกันของเครือข่ายแพทย์ เครือข่ายภาคประชาชน สื่อมวลชน มหาวิทยาลัยและประชาชนทั่วไป ได้เปิดตัวเว็บไซต์ https://covid19.ymid.or.th เพื่อให้บริการตรวจสอบข้อมูลและให้คำปรึกษาที่เกี่ยวกับโควิด-19 โดยเฉพาะ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: