ไม่พบผลการค้นหา
สพฐ. ยินดีผลประเมินความสามารถด้านการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 อยู่ที่ร้อยละ 70 พร้อมรวบรวมเป็นคลังข้อมูล สำหรับโรงเรียนในสังกัดที่ยังไม่ประสบความสำเร็จนำไปศึกษาต่อไป

นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ กพฐ. เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ว่า ที่ประชุมรับทราบผลการประเมินความสามารถด้านการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2561 ทุกสังกัด ได้แก่ สพฐ. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน หรือ สช., สำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย หรือ กศน. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และตำรวจตระเวนชายแดน หรือ ตชด. ภาพรวมได้กว่าร้อยละ 70 ถือว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ 

ทั้งนี้ ได้กำชับและมอบหมายให้ไปโฟกัสเฉพาะกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กด้วย โดยไปวิเคราะห์ผลการอ่าน รวมถึงคะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้น พื้นฐาน (O-NET) ปีการศึกษา 2561 ที่ผ่านมาเป็นเช่นไร โดยให้ตั้งคำถามถึงปัจจัยความสำเร็จ ปัญหาอุปสรรค และถอดบทเรียนที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งโรงเรียนในสังกัด สพฐ.กว่า 30,000 แห่ง จะมีรูปแบบการจัดการที่ต่างกันไป เช่น ในระดับ มัธยมศึกษา บางโรงเรียนใช้หลักสูตรสากล โรงเรียนกลุ่มจุฬาภรณราชวิทยาลัย มีรูปแบบอีกอย่างหนึ่ง หรือโรงเรียนที่อยู่ในภูมิภาคต่างๆ เช่น โรงเรียนภาคเหนือที่อยู่ในพื้นที่สูง หรือตั้งอยู่ในภาคใต้ ก็มีปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จต่างกัน เป็นต้น จากนั้นให้รายงานวันที่ 1 เม.ย. จะมอบให้สำนักทดสอบทางการศึกษา สพฐ.ไปวิเคราะห์รายละเอียดอีกครั้งเพื่อหาคำตอบ

นอกจากนี้ นายบุญรักษ์ ยังกล่าวด้วยว่า การวิเคราะห์ผลการดำเนินการนวัตกรรมการอ่านออกเขียนได้ของโรงเรียนแต่ละแห่งนั้น เพื่อต้องการให้เกิดคลังข้อมูลบริการให้แก่โรงเรียนในสังกัดอื่นๆ ที่ยังไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดย สพฐ. ไม่ได้ตั้งเป้าหมายการทำงานเฉพาะการเห็นความสำเร็จเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการเห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากตัวเด็ก เพราะการดำเนินงานโครงการใดๆ โดยงบประมาณราชการแล้วไม่มีผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อตัวนักเรียน ไม่ควรสนับสนุนกิจกรรมนั้น 

ทั้งนี้ หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ต้องการใช้ข้อมูล สพฐ. พร้อมนำเสนอ ขณะเดียวกันข้อมูลนี้ยังสามารถใช้ตอบคำถามสังคมได้ โดยเฉพาะกับหน่วยงานที่ต้องการความช่วยเหลือด้านการศึกษา สามารถมุ่งเน้นการช่วยเหลือได้ตรงจุดว่าโรงเรียนใดบ้างที่ต้องการสนับสนุนอะไร เชื่อว่าสิ้นปีการศึกษา 2561 สพฐ. จะใช้ประโยชน์จากการประเมินได้มากที่สุด ดังนั้น ครั้งนี้จังไม่ใช่ประเมินเพียงรู้ว่าได้คะแนนเท่าไหร่ แต่ประเมินเพื่ออนาคตที่ดีกว่า