ไม่พบผลการค้นหา
ญาติเหยื่อ-ภาคประชาชน หวังรัฐไทยมีกฎหมายป้องกันทรมานและอุ้มหาย ด้าน 'อังคณา' ยันใช้เงินฟาดหัวแก้ปัญหาไม่ได้ต้องเยียวยาด้วยความยุติธรรม ขณะ 'พี่สาววันเฉลิม' ห่วงแกนนำเยาวชนนักศึกษา สุ่มเสี่ยงถูกผลักเป็นผู้ลี้ภัยแล้วโดนอุ้ม วอนสังคมช่วยอุ้มชู

คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฏร หรือ กมธ.กฎหมาย จัดเสวนา 'ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหาย ความก้าวหน้าครั้งใหม่ของสิทธิมนุษยชนไทย'

สิตานันท์ สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาววันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ถูกบังคับให้สูญหาย กล่าวว่า ส่วนใหญ่ผู้ถูกอุ้มหาย คือผู้ลี้ภัยทางการเมือง มีเหตุมาจากการแสดงความคิดเห็น ทั้งที่ไม่ใช่อาชญากรหรือฆ่าใคร ดังนั้นรัฐไทยต้องยอมรับการแสดงความคิดเห็น และหากมีความผิดก็ต้องนำผู้ลี้ภัย มาดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่อุ้มหายหรืออุ้มฆ่า ซึ่งผู้ลี้ภัยมี 2 กรณีคือ ผู้ที่มีฐานะหรือเงินทุนก็สามารถรู้ภายในประเทศที่ปกป้องเขาได้ แต่ผู้ไม่มีทุนทรัพย์ ก็ลี้ภัยได้เพียงประเทศเพื่อนบ้าน อยู่ในสถานะผิดกฎหมายไม่มีหลักประกันความคุ้มครองอะไร แต่สิ่งที่ได้รับจากทางการคือ ถูกอุ้มหายหรือบางคนโดนฆ่าทิ้งอย่างทรมาน

สิตานันท์ กล่าวด้วยว่า ไม่อยากเห็นเยาวชนนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยต้องลี้ภัย จึงอยากให้ทุกคนในสังคมสนใจประเด็นนี้และช่วยกันอุ้มชู สนับสนุนและช่วยเป็นหูเป็นตา เพราะสถานการณ์ทางการเมืองตอนนี้ สุ่มเสี่ยงสำหรับแกนนำเยาวชนนักศึกษาหลายๆ คนซึ่งล้วนเสียสละชีวิตและอนาคตของตัวเองในการปราศรัยบนเวทีหรือชุมนุม และถ้าคนในสังคมไทยหลับหูหลับตาก็จะเกิดการหุ้มหายอีก แต่หากยืนหยัดไม่ยอมให้เรื่องนี้เกิดขึ้นอีก ผู้มีอำนาจรัฐก็จะไม่กล้าทำกับประชาชนอย่างที่ทางมา

ขอสภาฯ ผ่านร่าง ก.ม.ป้องกันการทรมานอุ้มหายสมัยประชุมหน้า 

ขณะที่ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า ภาคประชาชนทำงานหนักมากในการป้องกันการทรมานและอุ้มหาย โดยเฉพาะองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนที่ถือว่าทั้ง 2 กรณี เป็นการละเมิดสิทธิ์ที่ร้ายแรงที่สุด เพราะนอกจากการทำให้คนหนึ่งหายไปโดยวิธีนอกกฎหมายแล้ว ยังทำให้กระบวนการยุติธรรมหายไปด้วย มีการซ่อนหรือทำลายศพจนไม่เหลือหลักฐาน และแม้เป็นคดีร้ายแรง แต่มีอายุความ ถ้าผู้สั่งการหรือก่อการมีอำนาจหรืออิทธิพลมากพอ ก็ทำลายหลักฐานได้อย่างที่ผ่านๆ มา

พร้อมกันนี้ ขอบคุณ กมธ.กฎหมายที่ผลักดันร่างกฎหมายฉบับประชาชน มีเนื้อหาสำคัญคือ ให้คดีทรมานและคดีอุ้มหายเป็นคดีอาญาและไม่มีอายุความ, มีการค้นหาความจริงต่างๆ พร้อมยืนยันว่า ถ้ามีกฎหมายป้องกันทรมานและอุ้มหาย ก็จะเป็นการปรามไม่ให้กรณีลักษณะนี้เกิดขึ้นและนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ ซึ่งการไม่มีข้อหา 'ทรมาน-อุ้มหาย' ที่เกิดจากการกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมักเกิดขึ้นกับประชาชนที่ยากจนและด้อยโอกาสและตกเป็นแพะอย่างที่สังคมได้รับรู้ โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมไปถึงการซ้อมทหารเกณฑ์ในค่ายทหารด้วย จึงอยากให้สภาผู้แทนราษฎร ผ่านร่างกฎหมายนี้ในสมัยประชุมหน้า 

พรเพ็ญ ระบุด้วยว่า แม้มีการเสนอกฎหมายหลายฉบับที่มีชื่อคล้ายและเหมือนกัน รวมถึงของรัฐบาลด้วย ที่ยื้อเวลาในชั้นกฤษฎีกา แต่ก็ควรให้สภารับหลักการวาระหนึ่งไปก่อนแล้ว ค่อยปรับแก้เนื้อหาสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศและความเป็นจริงในชั้นกรรมาธิการได้

'อังคณา' ยันใช้เงินฟาดหัวแก้ปัญหาไม่ได้

ส่วน อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า หากเอกชนอุ้มหาย ทรมาน หรือกระทำต่อเอกชนด้วยกันเอง ภาครัฐมีหน้าที่คุ้มครอง แต่ถ้าผู้กระทำผิดคืออำนาจรัฐ เป็นเรื่องที่ยากมากในการที่จะนำคนผิดมาลงโทษ และจากประสบการณ์ในประเทศไทย คนที่ถูกอุ้มหายมักจะถูกทำให้เชื่อว่าเป็นคนไม่ดี เป็นทนายโจร, เกี่ยวข้องกับยาเสพติดหรือต่อต้านรัฐ เมื่อคนไม่ดีถูกทำให้หายไปสังคมก็ไม่ต้องใส่ใจ และความทุกข์ทรมานของญาติผู้ตกเป็นเหยื่อ ยังไม่เท่ากับความเงียบของสังคม จึงขอบคุณชุมชนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ด้วย

อังคณา เชื่อว่า ทุกอย่างมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ ซึ่งถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ไม่สามารถนิรโทษกรรมได้ จะต้องไม่มีอายุความ และนำขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศ ส่วน "การเอาเงินฟาดหัว" ไม่มีประโยชน์ ไม่ได้ทำให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนแบบนี้ยุติลง แต่คือการดูถูก โดยเห็นว่า การเยียวยาที่สำคัญที่สุด คือการคืนความยุติธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการนำคนผิดมาลงโทษ 

อังคณา กล่าวด้วยว่า ถ้ารัฐไทยออกกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้มาอ่อนจนเอาผิดใครไม่ได้ ก็อย่าออกเลย รอรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยมาออกกฎหมายดีกว่า เพราะตนเชื่อว่า รัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่เคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่สามารถออกกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิมนุษย์ชนที่ดีได้ เพราะสิ่งสำคัญคือ เจตจำนงทางการเมืองของผู้มีอำนาจ 

'โรม' ย้ำผลักดัน ก.ม.ป้องกันการทรมานอุ้มหายถึงที่สุด

ด้านรังสิมันต์ โรม โฆษก กมธ.กฎหมาย ระบุว่า กมธ.กฎหมาย เรียกเจ้าหน้าที่รัฐให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยการเมืองโดนอุ้มหาย แต่ไม่ได้อะไร ในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่รัฐไม่รู้ว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยเฉพาะกรณีที่เกิดนอกประเทศไทย ดังนั้นหากไม่มีกฎหมายป้องกันการทรมานและอุ้มหาย ก็ยังไม่มียังขั้นตอนหรือกลไกอะไรที่จะรับประกันว่า ผู้ลี้ภัยจะได้กลับมาหรือนำคนผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นปัญหาที่ กมธ.กฎหมาย คิดแล้วว่าเป็นเรื่องใหญ่ และจะผลักดันเรื่องนี้ให้ถึงที่สุด แม้จะยากภายใต้เงื่อนไขการเมืองปัจจุบัน และเชื่อว่าจะหาความร่วมมือจาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลได้แต่กับ ส.ว.ไม่รู้ว่าจะขอความร่วมมือเรื่องนี้ได้อย่างไร

รังสิมันต์ กล่าวด้วยว่า หลายคนอาจมองว่า ผู้ได้รับผลกระทบจากการทรมาน-อุ้มหาย มีจำนวนน้อย แต่ต้องตระหนักว่า เรื่องนี้สามารถเกิดขึ้นกับคนอื่นๆ ได้ และการแก้ปัญหาไม่ใช่แค่การเยียวยา แต่คือการสร้างความมั่นใจว่า จะไม่มีคดีแบบนี้ จะไม่ต้องมีคนได้รับผลกระทบแบบนี้อีก ดังนั้น เรื่องนี้ใหญ่กว่าจำนวนหรือตัวเลขผู้ถูกทรมานและอุ้มหาย แต่เป็นการสร้างความมั่นใจในกระบวนการยุติธรรมโดยรวม และหลักประกันว่าจะไม่มีเรื่องการทรมานและอุ้มหายกับใครอีก