ไม่พบผลการค้นหา
มติ ครม. คุม พ.ร.บ. อาหาร เพิ่มบทลงโทษ หย่อนบทบังคับการผลิตเพื่อส่งออก หนุนคณะกรรมการดูแลประมง ตั้งปลากัดเป็นสัตว์น้ำแห่งชาติ

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ แถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประจำวันที่ 5 ก.พ. เกี่ยวกับประเด็นการแก้ไขพ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 โดยมีใจความหลักในการควบคุมคุณภาพอาหารและปรับบทลงโทษให้มีความรุนแรงมากขึ้น

ประเด็นหลักในการแก้ไข พ.ร.บ. ฉบับนี้ ประกอบไปด้วย

(1) ประเด็นการโฆษณาเกินจริง ซึ่งมีการกำหนดบทลงโทษชัดเจนและรุนแรงขึ้นกว่าเดิม คือ จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ

(2) การนิยาม "อาหารบริสุทธิ์" และการลงโทษ ทั้งนี้ "อาหารบริสุทธิ์" ในที่นี้คืออาหารที่ปราศจากสิ่งสกปรก สิ่งปลอมปน หรือยา ดังนั้น อาหารเสริมที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นยา แล้วมีส่วนผสมของยา อาทิ อาหารเสริมลดความอ้วน หรือ กาแฟลดความอ้วน โดยมีโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรีบไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ

(3) การปรับปรุงการส่งออก แต่เดิมบริษัทที่ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกจำเป็นต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานของประเทศไทย ยกเว้น ประเภทอาหารควบคุมเฉพาะ ส่งผลให้ผู้ผลิตไทยเกิดความยากลำบากและเสียเปรียบในเชิงการค้า ครม. จึงมีมติให้สินค้าทุกประเภทสามารถผลิตได้ตามมาตรฐานของประเทศนั้นๆ โดยกำหนดใช้กับสินค้าที่ผลิตส่งออกต่างประเทศเท่านั้น

ด้าน พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุถึงความพยายามในการรักษาระดับมาตรฐานการประมงในประเทศไทย โดย ครม. มีมติให้จัดตั้งคณะกรรมการทำงานร่วมกับสหภาพยุโรป ซึ่งในคณะกรรมการนี้มีอธิบดีกรมประมงนั่งเป็นประธาน และประกอบไปด้วยหน่วยงานต่างๆ อาทิ กรมเจ้าท่า กองทัพเรือ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมศุลกากร กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานอัยการสูงสุด และกรมยุโรป

ขณะที่ พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติ ครม. เรื่องการกำหนดให้ ปลากัด เป็นสัตว์น้ำของชาติ อันเนื่องมาจากเหตุผลในมิติด้านวัฒนธรรม ด้านการค้า รวมถึงการเป็นเจ้าของ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีสัตว์ประจำชาติ คือ ช้าง ดอกไม้ประจำชาติคือดอกสุพรรณิการ์หรือดอกคูณ และสถาปัตยกรรมประจำชาติคือศาลาไทย