ไม่พบผลการค้นหา
เว็บไซต์ฟอเรนโพลิซี (Foreign Policy) ชี้หลังวิกฤตโควิด-19 จบ จีนอาจจำเป็นต้องลดความทะเยอทะยานแข่งขันอยากเป็นมหาอำนาจโลก เนื่องจากเงินที่จะใช้เพื่อบรรลุความฝันดังกล่าวกำลังร่อยหรอ

บทความชื่อ ‘China’s Superpower Dreams Are Running Out of Money’ ซึ่งเผยแพร่บนเว็บไซต์นิตยสารฟอเรนโพลิซี ระบุว่า แม้มองจากภายนอกปฏิบัติการในทุกแนวหน้าของจีนดูเหมือนว่าจะสะท้อนถึงอำนาจที่กำลังเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปะทะตามแนวชายแดนกับอินเดีย การเพิ่มกำลังทหารในทะเลจีนใต้ การควบคุมฮ่องกงหรือกดดันไต้หวัน ไปจนถึงการเผชิญหน้ากับญี่ปุ่นต่อประเด็นหมู่เกาะที่เป็นข้อพิพาทและการระงับความไม่สงบภายในประเทศตัวเอง

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นขณะที่จีนพยายามต่อสู้กับการกลับมาระบาดอีกครั้งของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 และในเวลาเดียวกัน จีนก็กำลังลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อแข่งขันเป็นผู้นำในเรื่องเทคโนโลยีเกิดใหม่ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ Quantum Computing และเซมิคอนดักเตอร์ รวมถึงยังมีโครงการ 'หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง' (Belt and Road Initiative) โครงการมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งเพื่อโลกที่มีจีนเป็นศูนย์กลาง

แต่คำถามคือจะเป็นไปได้หรือไม่ที่ประเทศที่เรียกตัวเองว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนาแบบจีน จะสามารถอัดฉีดเงินลงทุนเพื่อแข่งขันเป็นมหาอำนาจกับสหรัฐอเมริกา?

บทความจากฟอเรนโพลิซี ชี้ว่าการแข่งขันเป็นมหาอำนาจโลกถือเป็นธุรกิจราคาแพง สหรัฐฯ ขึ้นชื่อในเรื่องการใช้จ่ายด้านกลาโหมมากกว่า 10 ประเทศที่อยู่ในอันดับถัดมารวมกัน แต่ถึงอย่างนั้นความคิดว่ากองทัพของตัวเองยังคงไม่ได้รับเงินทุนมากพอ หรือยังมีเครื่องไม้เครื่องมือไม่เพียงพอสำหรับบทบาทมหาอำนาจโลกก็ยังคงอยู่ และหากเชื่อตามความเห็นของนักวิเคราะห์ สหรัฐฯ จะสูญเสียความได้เปรียบในการแข่งขัน ถ้าไม่ลงทุนเพิ่มขึ้นในด้านการวิจัยระดับมหาวิทยาลัย เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ความช่วยเหลือต่างประเทศ การทูต พลังงานสะอาด รวมถึงการเตรียมความพร้อมรับมือการระบาดใหญ่ของโรค

แต่หากสหรัฐฯ ซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่กว่าจีนราวๆ ร้อยละ 50 เปอร์เซ็นต์ และมีจีดีพีต่อหัวมากกว่าถึง 6 เท่า ไม่สามารถรักษาสถานะมหาอำนาจของโลกได้ ก็น่าสนใจว่าจะเป็นไปได้อย่างไรที่จีนจะสามารถก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจโลก ซึ่งนี่ยังไม่รวมถึงการพิจารณาข้อเท็จจริงที่ว่าพันธมิตรหลักของจีนคือเกาหลีเหนือ กัมพูชา และเอธิโอเปีย รวมถึงการที่จีนถูกล้อมด้วยเพื่อนบ้านที่เป็นรัฐนิวเคลียร์ที่อาจเป็นปฏิปักษ์ เช่น อินเดียและรัสเซีย หรือบริษัทเทคโนโลยีของจีนที่รัฐสนับสนุนไม่ได้รับความเชื่อถือจากชาติอื่นๆ ทำให้เกิดคำถามว่าจะเป็นไปได้อย่างไรที่ประเทศกำลังพัฒนาเช่นจีนจะสามารถจัดหาเงินทุนเพื่อการแข่งขันเป็นมหาอำนาจกับสหรัฐฯ  

'ฟอเรนโพลิซี' ชี้ว่าคำตอบง่ายๆ คือไม่สามารถเป็นไปได้ เพราะแม้แต่ก่อนโควิด-19 ระบาด การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนก็ชะลอตัวลงจากอัตราการเติบโตด้วยตัวเลข 2 หลัก ในช่วงทศวรรษ 2000 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 6.1 ในปี 2562 หากเชื่อตามตัวเลขของทางการ เนื่องจากตัวเลขนี้ถูกตั้งคำถามอย่างหนัก โดยเฉพาะเมื่อผู้ที่กำหนดเป้าจีดีพีประจำปีอย่าง 'หนิง จี้เจ๋อ' รองประธานคณะกรรมการพัฒนาแห่งชาติและการปฏิรูป คือคนเดียวกับผู้ที่ทำหน้าที่ประเมินจีดีพีในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ ขณะที่การสร้างแบบจำลองอิสระที่เผยแพร่โดยสถาบันบรู๊คกิงส์ ชี้ว่าจีนได้ประเมินการเติบโตของจีดีพีสูงกว่าความเป็นจริงเฉลี่ยร้อยละ 1.7 ต่อปี

โดยมีตัวเลขรายได้จากภาษีอย่างเป็นทางการของจีนยืนยันภาพดังกล่าว เมื่อพบว่าอัตราการเติบโตมีแค่ร้อยละ 3.8 ในปี 2562 เทียบกับร้อยละ 6.2 ในปี 2561 และร้อยละ 7.4 ในปี 2560 แต่ในขณะที่มาตรการทางการเงินของจีนได้ถูกจำกัดมากขึ้น การใช้จ่ายงบประมาณของจีนยังคงเป็นไปตามวิถีเดิมและสิ้นเปลือง โดยเติบโตขึ้นร้อยละ 8.1 ในปี 2562 ซึ่งผลที่ได้คือการขยายช่องว่างในงบประมาณของรัฐบาลจีน โดยการขาดดุลงบประมาณที่รายงานอย่างเป็นทางการแตะร้อยละ 4.9 ของจีดีพีในปี 2562 ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ชี้ว่าตัวเลขการขาดดุลที่แท้จริงของรัฐบาลอยู่ที่กว่าร้อยละ 12 ของจีดีพี และนี่เกิดขึ้นก่อนวิกฤตโควิด-19 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ถูกคาดคะเนว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจยังแข็งแกร่ง 

เป็นเรื่องยากที่จะเข้าถึงตัวเลขที่แน่นอนเกี่ยวกับจีน แต่บทความนี้ก็ชี้ว่าดูเหมือนรัฐบาลจีนกำลังปรับลดภาระการใช้จ่ายแม้แต่ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 โดยระบุว่าความมุ่งมั่นในการจัดหาเงินทุนโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีนลดลงนับตั้งแต่ปี 2560 ธนาคารต่างๆ ของจีนแทบจะหายไปจากการสนับสนุนเงินทุนโครงการดังกล่าว และปล่อยภาระไว้ให้รัฐบาลที่ขาดแคลนเงินสดแบกรับแต่เพียงผู้เดียว ขณะที่โครงการต่างๆ ทั่วเอเชียได้ถูกพัก ลดขนาด หรือเลื่อนออกไปก่อน

โดยบทความระบุว่าเมื่อนักวิจารณ์ตะวันตกที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางมีแนวโน้มตีความปัญหาเหล่านี้ในแง่ของความกังวลเรื่องหนี้สินที่โครงการเหล่านี้ก่อขึ้นในประเทศผู้รับ แต่แทบจะไม่กล่าวถึงหนี้สินที่ก่อขึ้นเองในจีน ดังนั้น เมื่อสื่อตะวันตกรายงานเมื่อเดือน ธ.ค. ว่าจีนกำลังกดดันปากีสถานที่กำลังลังเลให้ฟื้นงานในโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถานที่หยุดชะงัก สื่อเหล่านี้ก็ไม่ได้รายงานว่าจีนเองก็ไม่ได้ต้องการที่จะสนับสนุนเงินในการก่อสร้าง ในทำนองเดียวกับที่จีนต้องการสร้างท่าเรือใหม่ในเมียนมาแต่ก็ลังเลที่จะจ่าย

ขณะเดียวกัน จีนได้ลงนามข้อตกลงขนส่งผ่านแดนกับเนปาลเมื่อปี 2558 แต่ก็ยังไม่ได้มีการสร้างถนนหรือทางรถไฟในเนปาลแม้แต่ไมล์เดียว ซึ่งถือเป็นเรื่องราวในแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในแอฟริกาและยุโรปตะวันออกที่จีนเดินหน้าประกาศอภิมหาโครงการ แต่ไม่ต้องการเสนอเงินมากพอที่โครงการเหล่านั้นจะเริ่มต้นด้วยความสำเร็จอย่างแท้จริง 

บทวิเคราะห์จากศูนย์เพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ระหว่างประเทศชี้ว่า การใช้จ่ายด้านกลาโหมของจีนอาจลดลงไปในปี 2563 เมื่อพิจารณาจากการดำเนินการทางทหารของจีนในหลายแนวชายแดนที่ถูกยกระดับ ข้อจำกัดด้านการใช้จ่ายจะเพิ่มแรงกดดันอย่างหนักต่อการได้มาซึ่งงบประมาณ เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้สำหรับคนนอกหน่วยงานกลาโหมของจีนที่จะรู้ความเป็นไปที่แท้จริง แต่หลักฐานแวดล้อมก็ชี้ว่าโครงการอาวุธราคาแพงของจีนหลายโครงการได้ถูกชะลอออกไป

ตัวอย่างเช่น เชื่อว่าจีนต้องผลิตเครื่องบินขับไล่แบบพรางตัว J-20 รุ่นที่ 5 เพียง 50 ลำหรือประมาณนั้น และดูเหมือนว่าตอนนี้โครงการ J-20 กำลังเผชิญปัญหาสำคัญในเรื่องการพัฒนา ซึ่งจำกัดการผลิตในอนาคตที่คาดการณ์ได้ ในทำนองเดียวกันที่ครั้งหนึ่งจีนมีแผนจะส่งกลุ่มเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตีแบบสหรัฐฯ 6 กองเข้าประจำการภายในปี 2578 โดยนอกเหนือจากเรือบรรทุกเครื่องบินเหลียวหนิง ตอนนี้จีนมีเรือบรรทุกเครื่องบินมีสกีจัมพ์ซึ่งใช้พลังงานขับเคลื่อนตามรูปแบบเพียง 1 ลำ ส่วนลำที่ 2 อยู่ระหว่างการสร้าง ขณะที่แผนผลิตเรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์ 4 ลำ ได้ถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่กำหนด โดยให้เหตุผลว่ามาจากความท้าทายเรื่องเทคนิคและงบประมาณที่สูง และในขณะที่จีนระบุว่าจะพัฒนาเครื่องบินขับไล่รุ่นที่ 5 เพื่อส่งประจำการบนเรือบรรทุกเครื่องบิน เครื่องบินรบ F-35C ของสหรัฐฯ ที่ถูกปรับให้เหมาะกับเรือบรรทุกเครื่องบินก็ได้เข้ารับการทดสอบเรียบร้อยแล้วเพื่อเข้าประจำการปีนี้    

บทความยังระบุว่า การปะทะกับอินเดียเกิดขึ้นในลาดักห์อาจไม่ได้ทำให้จีนต้องจ่ายในราคาแพงมากนัก แต่การเตรียมพร้อมเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ ในแปซิฟิกฝั่งตะวันตกมีต้นทุนที่สูงอย่างยิ่ง เพราะดูเหมือนมันจะเป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงความฟุ่มเฟือยของจีนหลังยุคโควิด-19 และมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวไม่สามารถทำได้ แม้จีนจะจัดโชว์ยิ่งใหญ่ให้เห็นถึงความมั่งคั่งและความเต็มอกเต็มใจที่จะใช้จ่าย แต่ในความเป็นจริง สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เหมาะสมกับเงินคงเหลือของจีน 

การได้เห็นตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนเป็น 2 หลัก ในหลายทศวรรษ รวมถึงการใช้จ่ายของรัฐบาลจีน อาจทำคนภายนอกมีเงื่อนไขที่จะเชื่อว่าทรัพยากรทางการเงินของจีนนั้นมีไม่จำกัด เช่นเดียวกับคนในซึ่งใช้ชีวิตอยู่กับการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนที่อาจเชื่อเช่นเดียวกัน แต่บทความนี้ก็ชี้ว่าไม่มีเงินทุนก้อนไหนที่จะมีมากอย่างไร้ขอบเขต และดูเหมือนว่าจีนมาถึงจุดที่เผชิญความยากลำบากจากผลกระทบจากไวรัสระบาด โดยมองว่าอย่างน้อยที่สุดผู้นำจีนจะสามารถรักษาหน้าได้ คือการทิ้งเป้าหมายจีดีพีและชี้ว่าไวรัสเป็นสาเหตุที่ต้องดำเนินตามมาตรการรัดเข็มขัดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่บทความก็ยังชี้ว่าเมื่อวิกฤตโควิด-19 สิ้นสุดลง สหรัฐฯ จะยังเป็นมหาอำนาจของโลก ขณะที่จีนต้องยอมลดแผนอนาคตที่ทะเยอทะยานลง  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :