ไม่พบผลการค้นหา
ทางการเมียนมาปล่อยตัวผู้สื่อข่าวของรอยเตอร์สออกจากเรือนจำแล้ว หลังถูกจำคุกอยู่นานกว่า 500 วัน จากการทำข่าวเกี่ยวกับการสังหารหมู่ชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่

วิน มยินท์ ประธานาธิบดีเมียนมามีคำสั่งอภัยโทษให้กับวา โลน อายุ 33 ปี กับจ่อ โซ อู อายุ 29 ปี ผู้สื่อข่าวชาวเมียนมาจากสำนักข่าวรอยเตอร์ส พร้อมกับนักโทษอีก 6,520 คน เนื่องในโอกาสปีใหม่เมียนมา ซึ่งเป็นช่วงที่จะมีการอภัยโทษนักโทษจำนวนมากทุกปี

วาโลน และจ่อโซอูถูกจำคุกนาน 511 วันนับตั้งแต่ธันวาคม 2017 จากนั้น ศาลเมียนมาตัดสินจำคุกทั้งคู่เป็นเวลา 7 ปีในข้อหาละเมิดข้อมูลลับของรัฐ ระหว่างการทำข่าวการสังหารหมู่ชาวโรฮิงญา 10 รายที่หมู่บ้านอินดินในรัฐยะไข่ โดยศาลอุทธรณ์และศาลฏีกาก็ปฏิเสธคำร้องอุทธรณ์คดีของทั้งคู่ โดยระหว่างที่ถูกจำคุก ผู้สื่อข่าวทั้งสองคนได้รับรางวัลพูลิตเซอร์จากการทำข่าวการสังหารหมู่ครั้งนี้ด้วย

การจำคุกผู้สื่อข่าวทั้งสองคนถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วโลกว่าเป็นการกดขี่เสรีภาพสื่อในเมียนมา อีกทั้งยังทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามกับประชาธิปไตยของเมียนมาอีกด้วย เนื่องจากตำรวจเมียนมายอมรับว่าจัดฉาก เพื่อเอาผิดนักข่าวรอยเตอร์ส ด้วยการนัดให้ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์สไปรับเอกสารเกี่ยวกับการสังหารหมู่ในหมู่บ้านอินดิน แล้วจับกุมทั้งคู่ทันทีที่เดินออกมาจากร้านอาหารที่เป็นสถานที่นัดพบ โดยใช้เอกสารที่ตำรวจมอบให้ทั้งคู่เป็นหลักฐานว่า พวกเขาละเมิดเอกสารลับของรัฐ

วา โลน - จ่อ โซ อู สัญลักษณ์ของเสรีภาพ

วา โลนได้ให้สัมภาษณ์หลังได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำว่า เขามีความสุขมากและตื่นเต้นที่จะไม่พบหน้าครอบครัวและเพื่อนร่วมงานของเขา เขาตั้งตารอที่จะเดินทางไปที่กองบรรณาธิการอย่างมาก และจะไม่เลิกเป็นผู้สื่อข่าว

ส่วนสตีเฟน เจ แอดเลอร์ บรรณาธิการบริหารของรอยเตอร์สกล่าวว่า วาโลนและจ่อโซอูเป็นสัญลักษณ์ของความสำคัญของเสรีภาพสื่อทั่วโลก และพวกเขารู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่เมียนมาปล่อยตัวผู้สื่อข่าวผู้กล้าหาญของพวกเขาออกมา

อมาล คลูนีย์ ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนชื่อดังที่ร่วมทีมกฎหมายในการสู้คดีของผู้สื่อข่าวทั้ง 2 คนกล่าวชื่นชมสำนักข่าวรอยเตอร์สที่มีความมุ่งมั่น "ในการแสวงหาความยุติธรรมให้กับผู้สื่อข่าวที่กล้าหาญอย่างวา โลนและจ่อ โซ อู" ถือเป็นแรงบันดาลใจที่ได้เห็นสำนักข่าวตั้งใจจริงในการปกป้องผู้บริสุทธิ์และความเป็นมืออาชีพในการทำข่าว เธอหวังว่าการปล่อยตัวทั้งคู่จะ "ส่งสัญญาณถึงความตั้งใจจริงในเมียนมาที่จะให้มีเสรีภาพสื่ออีกครั้ง"


วา โลน จ่อ โซ อู รอยเตอร์ส reuters

วา โลนและจ่อ โซ อูได้พบครอบครัวหลังได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ

เสรีภาพสื่อสะท้อนถึงประชาธิปไตย

นิก บีค ผู้สื่อข่าวประจำเมียนมาของบีบีซีกล่าวว่า การปล่อยตัวผู้สื่อข่าวรอยเตอร์สเป็นการชนะศึก แต่ไม่ได้ชนะสงคราม การทำข่าวการปล่อยตัววาโลนและจ่อโซอูเองก็ถือเป็นเรื่องส่วนตัวของผู้สื่อข่าวเมียนมาหลายคนเช่นกัน เพราะพวกเขาก็ยังกลัวว่าพวกเขาอาจถูกจับกุมเสียเอง หากเจ้าหน้าที่ไม่พอใจในสิ่งที่พวกเขาเขียน

แม้นักข่าวรอยเตอร์สจะได้รับการปล่อยตัวแล้ว แต่รัฐบาลของอองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมาก็ยังเป็นผู้ที่มองพวกเขาทุกข์ทรมานอยู่ในเรือนจำนานกว่า 18 เดือน นอกจากนี้ ซูจียังตอบโต้ว่าการจำคุกนักข่าวรอยเตอร์สไม่ใช่การจำกัดเสรีภาพสื่อ พร้อมปกป้องการสังหารหมู่ของกองทัพเมียนมาอีกด้วย จนทำให้หลายฝ่ายกังวลใจอย่างมากเกี่ยวกับทิศทางประชาธิปไตยของเมียนมา

ด้านฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำภูมิภาคเอเชียออกแถลงการณ์แสดงความยินดีกับการปล่อยตัววา โลน และจ่อ โซอูจาก "การจำคุกที่ไม่ยุติธรรม" กลีบไปอยู่กับครอบครัว พร้อมระบุว่า ผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนที่กล้าหาญไม่ควรถูกจับกุมเลยตั้งแต่ต้น และการปล่อยตัวพวกเขาล่าช้าเกินไป

โรเบิร์ตสันกล่าวว่า วิกฤตเสรีภาพสื่อในเมียนมายังไม่สิ้นสุด ยังมีผู้สื่อข่าวและบล็อกเกอร์หลายคนที่ถูกตั้งข้อหาจากการรายงานข่าวเกี่ยวกับกองทัพและเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลพรรเอ็นแอลดีของซูจี "การเคารพเสรีภาพสื่อที่กระท่อนกระแท่นของเมียนมาบ่งชี้ถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยที่เลวร้าย ในขณะที่ประเทศกำลังจะเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งในปี 2020"

รายงานพิเศษของวาโลนและจ่อโซอู

รอยเตอร์เปิดรายงานสังหารหมู่ 'โรฮิงญา' ซึ่งเป็นการเปิดเผยกระบวนการของทหารที่จัดตั้งพลเรือนให้เข้าร่วมในการขับไล่และสังหารชาวโรฮิงญาในหมู่บ้านอินดิน ช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. 2017 ซึ่งนี่เป็นรายงานฉบับแรกที่มีคำให้การของชาวพุทธในรัฐยะไข่ ซึ่งยอมรับว่าพวกเขาคือหนึ่งในผู้จุดไฟเผาบ้านเรือนชาวโรฮิงญา ทั้งยังเป็นผู้เห็นเหตุการณ์ที่ทหารสังหารหมู่ชาวโรฮิงญา และบางคนยอมรับว่าเป็นผู้ขุดหลุมเพื่อเตรียมฝังศพชาวโรฮิงญาในหมู่บ้านอินดินด้วยตัวเอง

นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังพบว่า กองทักเมียนมาได้ปฏิบัติลบล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาอย่างเป็นระบบ มีการสั่งให้ชาวพุทธในหมู่บ้านเป็นผู้จัดหาเสบียงอาหารและเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครคุ้มกันหมู่บ้าน โดยอาสาเหล่านี้จะมีอาวุธประจำกาย จากนั้นทหารได้นำกลุ่มชาวบ้านอาสาสมัครบุกเผาทำลายบ้านเรือนของชาวโรฮิงญา

ที่มา : BBC, The Guardian, Human Right Watch

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :