ไม่พบผลการค้นหา
สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 มีแต่ความไม่แน่นอน หากควบคุมการแพร่ระบาดไม่ได้ ประเทศไทยจำต้องประกาศ 'ล็อกดาวน์' รัฐบาลต้องหาเงินมาเยียวยาผลกระทบ แล้วเงินจะมาจากไหน 'ศิริกัญญา' ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลช่วยคิด

เรื่องวิธีงบประมาณที่น่าเวียนหัว แต่คือเรื่อง 'สำคัญ' ที่ประชาชนคนไทย ผู้ตระหนักถึงสิทธิและหน้าที่พลเมือง ใคร่รู้ใคร่เห็น ต้องการมีส่วนร่วม กลับเป็นเรื่องที่ถูกผูกอยู่กับผู้เชี่ยวชาญ

แต่ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารหลั่งไหล ประชาชนตื่นรู้และติดตามการใช้ 'งบประมาณรายจ่าย' ของภาครัฐ มากขึ้น กรณี 'แหล่งเงิน' ที่รัฐจะนำมาใช้จ่ายในการเยียวยาเศรษฐกิจ เยียวยาบรรเทาผลกระทบแก่ประชาชนใน 'วิกฤตเศรษฐกิจและโควิด-19' เวลานี้ จึงเป็นเรื่องที่ยังน่าติดตามและตรวจสอบ

'วอยซ์ออนไลน์' ชวน 'ศิริกัญญา ตันสกุล' ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่มีตำแหน่งพ่วงคือ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ คุยเรื่อง 'งบกลาง-งบประมาณรายจ่าย-พ.ร.ก.กู้เงิน-ข้อเสนอต่อรัฐบาล' ในยามที่รัฐบาลคงต้อง 'เปิดทุกลิ้นชักหาเงินมาดูแลเศรษฐกิจและประชาชน' ในสถานการณ์ปัจจุบัน


ต้องใช้เงินเยียวยา-กระตุ้น-ฟื้นฟูราวร้อยละ 5-10 ของจีดีพี

แม้บทสนทนาจะเริ่มจาก "งบกลางทำอะไร หายไปไหน" แต่นั่นอาจเป็นหัวข้อที่ช้าไปแล้ว สำหรับสถานการณ์วันนี้ ดังนั้น จึงต้องเริ่มต้นที่ การประเมินงบประมาณเยียวยาดูแลวิกฤตรอบนี้ ต้องมีประมาณเท่าไร

'ศิริกัญญา' บอกว่า จากที่ประเมินไว้ ทั้งแพ็กเกจก็ไม่น่าจะน้อยกว่าที่ประเทศอื่นๆ ประกาศออกมา ซึ่งเธอได้รีวิว ตัวเลขงบประมาณที่ประเทศต่างๆ ประกาศออกมาในช่วงนี้ ว่า อย่างสิงคโปร์บอกว่า จะใช้เงินประมาณร้อยละ 11 ของจีดีพี (หรือประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท ซึ่งคำนวณจากผลผลิตมวลรวมภายในประเทศของสิงคโปร์ ณ ปี 2562 อยู่ที่ 362,820 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 11.9 ล้านล้านบาท) สหรัฐอเมริกาใช้ร้อยละ 10 ของจีดีพี ฮ่องกงใช้ประมาณร้อยละ 4-5 ของจีดีพี แต่ของประเทศไทยตอนนี้ ที่รวมมาตรการระยะ 1-2 ซึ่งรวมเรื่องให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน 1.5 แสนล้านบาท) ด้วยตามที่รัฐบาลประกาศออกมา ก็ยังใช้ไม่ถึงร้อยละ 3 ของจีดีพี 

ดังนั้นจึงนับว่า แพ็กเกจการดูแลช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจของไทยยังเป็นแพ็กเกจที่เล็กมาก และยังไม่เต็มรูปแบบเมื่อเทียบกับการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น

"เราเห็นแล้วว่าประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพีไทยปีนี้ (2563) น่าจะตกลงไปติดลบร้อยละ 5.3 ดังนั้นจึงคิดว่า หากดูตามกรอบวินัยการเงินการคลัง ประเทศไทยยังสามารถกู้ได้เพิ่มเติม ดังนั้นการเตรียมงบประมาณไว้สักร้อยละ 5-10 ของจีดีพีในระยะเวลาประมาณ 2-3 ปี ซึ่งรวมถึงระยะเยียวยา ฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาด้วย ก็น่าจะเพียงพอ"

พร้อมกับชี้ว่าหนี้สาธารณะต่อจีดีพีปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 41-42 ยังมีช่องให้กู้ได้ และยังทำให้มีความสามารถชำระหนี้ที่จะเพิ่มขึ้นได้ เพราะกฎการก่อหนี้สาธารณะที่บอกว่า ห้ามเกินเพดานร้อยละ 60 ของจีดีพี ไม่ได้เป็นเกณฑ์ที่เข้มงวด ยิ่งในภาวะวิกฤต ยิ่งมีเหตุผลจำเป็นทุกอย่างที่สมเหตุสมผลให้รัฐกู้เกินร้อยละ 60 ได้ เนื่องจากนี่คือการยืมเงินในอนาคตมาใช้ เพื่อพยุงเศรษฐกิจในวันนี้ เพื่อให้วันข้างหน้าฟื้นตัวได้ดีขึ้น 

สภาผู้แทนราษฎร ประชุมสภา_200108_0004.jpg

แนะ เกลี่ย ก่อน กู้ พร้อมยกมือโหวตผ่านสภา

จากการประเมินสถานการณ์ดังกล่าว เธอจึงเขียนข้อความสั้นๆ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา สื่อสารผ่านเพจเฟซบุ๊ก ในหัวข้อ 'เกลี่ย ก่อน กู้ !!! รัฐบาลสามารถโยกงบได้ทันที 100,000 ล้านบาทเพื่อแก้ COVID19' 

"เราเน้นเรื่อง เกลี่ย ก่อน กู้ ซึ่งเป็นทางเลือกเดียว ข้อเสนอเดียว ที่เห็นช่องทางว่า รัฐบาลจะทำได้ทันที และสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งรวมถึงฝ่ายค้านจะสนับสนุน ผ่านการออก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ ซึ่งน่าจะทำให้ผ่าน 3 วาระรวดได้เลย" ศิริกัญญา เผย 

โดยเธอให้เหตุผลว่า เนื่องจากงบกลางในพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 ที่มีทั้งหมด 520,000 ล้านบาท และในนั้นมีส่วนที่เรียกว่า 'เงินสำรองฉุกเฉินจำเป็น' วงเงิน 96,000 ล้านบาท ที่จะนำมาใช้เยียวยาทั้งโควิด-19 และภัยแล้ง ล่าสุดสำนักงบประมาณกางตัวเลขออกมาแล้ว ณ วันนี้ (1 เม.ย.) ใช้เงินส่วนนี้หมดแล้ว 

ประกอบกับรัฐบาลออกมาตรการชดเชยรายได้แก่แรงงานอิสระ ลูกจ้างชั่วคราว และผู้ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม (ภาคบังคับ) 5,000 บาท/เดือน เป็นเวลา 3 เดือน โดยครั้งแรกบอกจะได้ 3 ล้านคน ใช้เงินประมาณ 45,000 ล้านบาท และครม. เมื่อ 31 มี.ค. ขยายเป็น 9 ล้านคน ซึ่งเมื่อคูณ 3 เข้าไปก็คือใช้เงินประมาณ 150,000 ล้านบาท 

ประยุทธ์ สมคิด

คำถามคือ แล้วจะหาเงินจากไหน 

'ศิริกัญญา' บอกว่า รัฐบาลมี 2 ทางเลือก คือ

  • 1) ออกพระราชกำหนดกู้เงินฉุกเฉิน
  • 2) ออกพระราชบัญญัติโอนเงินงบประมาณ 

สำหรับทางเลือกแรก กรณีออก พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน ก็มีประเด็นว่า ตามมาตรา 170 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ระบุว่า ไม่สามารถให้กู้เงินในภาวะฉุกเฉินได้ ขณะเดียวกันในรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันตามมาตรา 172 พูดถึง พ.ร.ก.สามารถนำออกมาใช้ในภาวะฉุกเฉินได้ ซึ่งจะทำให้กรณีนี้ต้องนำส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความอีก

ส่วนทางเลือกที่สอง การโอนงบประมาณ โยกย้ายงบประมาณจากกระทรวงต่างๆ ที่ได้รับงบประมาณปี 2563 ไป ข้อเสนอของเธอ คือ เนื่องจากการตั้งงบปี 2563 เป็นการตั้งงบในสถานการณ์บ้านเมืองไม่ใช่อย่างตอนนี้ ดังนั้นในสถานการณ์นี้ จึงสามารถโยกย้ายเงินจากกระทรวงหรือหน่วยงานที่ไม่ได้มีภารกิจโดยตรงเกี่ยวกับการแก้ปัญหาโควิด-19 มาไว้ใน 'งบกลาง' หรือ โยกไปให้ 'กระทรวงสาธารณสุข' ซึ่งตอนนี้ ต้องได้รับลำดับความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ 

"การโอนงบประมาณมาไว้ที่งบกลาง มีความยืดหยุ่นมากกว่า และจะทำได้ก็ต้องออกเป็น พ.ร.บ.โอนงบประมาณ แม้ก่อนหน้านี้ รองนายกฯ สมคิดจะบอกว่า ทำได้ยาก มีความยุ่งยากซับซ้อนก็ตาม แต่เมื่อปีงบประมาณ 2561 ทีมเศรษฐกิจภายใต้ รองนายกฯ สมคิด ก็เคยออก พ.ร.บ.โอนงบประมาณจากหลายกระทรวงมาไว้ที่งบกลาง วงเงิน 10,000 ล้านบาท และโอนมาอีกประมาณ 2,000 ล้านบาทไว้ที่กองทุนประชารัฐ ทำเรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อดูแลสถานการณ์เศรษฐกิจในเวลานั้นมาแล้ว เช่นกัน" ศิริกัญญา กล่าว


โอนงบประมาณจากแต่ละกระทรวง ร้อยละ 10 ไม่พอ ไม่เหมาะ

ส่วนมติ ครม.เมื่อ 10 มี.ค. 2563 ที่บอกให้หน่วยงานรัฐต่างๆ จัดสรรงบประจำ ที่ไม่ใช่งบบุคลากร เช่น งบอบรมสัมมนา งบดำเนินการ ค่าน้ำค่าไฟ ที่ยังไม่จำเป็นต้องใช้ ให้กันออกมาร้อยละ 10 ต่อกระทรวง เพื่อนำมาดำเนินการแก้ปัญหาโควิด-19 โดยให้อำนาจการตัดสินใจอยู่ที่แต่ละกระทรวงจะเอาไปทำอะไร 'ศิริกัญญา' บอกว่า ข้อเสนอนี้ จะทำให้การใช้งบประมาณไม่ได้ตามเป้าหมาย อย่างที่เห็นมาแล้ว กรณีกองทัพบกเอามาล้างถนน เป็นต้น  

"ไอเดียเรื่องให้แต่ละกระทรวง หน่วยงานกันงบมาร้อยละ 10 อาจไม่ค่อยดีนัก เพราะการไปรีดงบประมาณกระทรวงมานั้น อาจมีโอกาสไปตัดภารกิจจำเป็นต้องทำ แต่ไม่เกี่ยวกับโควิด-19 ได้ เช่น ภัยแล้ง ที่กระทรวงเกษตรฯ ต้องเตรียมไว้รับสถานการณ์นี้ ซึ่งเป็นความลำบากและทุกข์ร้อนของเกษตรกรในต่างจังหวัดที่เกิดขึ้นแล้วสำหรับปีนี้ หรือ งบสำหรับแก้ปัญหา PM2.5 แก้ไฟป่าภาคเหนือ เหล่านี้ต้องคงไว้ ดังนั้นโดยส่วนตัวดิฉันจึงไม่เห็นด้วยกับการกันงบร้อยละ 10 ของแต่ละกระทรวงออกมา"

พร้อมเสนอสิ่งที่ควรทำคือ การไล่ดูรายโครงการของแต่ละหน่วยงาน ว่าโครงการใดไม่มีความจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น งบของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ที่มีหลายร้อยล้านบาท จัดไว้สำหรับให้ผู้ประกอบการไปโรดโชว์ หรือออกงานเอ็กซ์โปต่างประเทศ ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่สามารถจัดงานพวกนี้ได้อยู่แล้ว ดังนั้นงบส่วนนี้จึงสามารถตัดแล้วโอนย้ายได้ทันที 

ส่วนรายจ่ายลงทุน ซึ่งมีความซับซ้อนและติดที่มี พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ที่กำหนดให้งบลงทุนของแต่ละกระทรวงต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 และโดยธรรมชาติเป็นเงินก้อนใหญ่ มีผลผูกพันหลายๆ ปี ซึ่งหากตัดปีนี้ อาจส่งผลกระทบให้โครงการล่าช้าในปีถัดๆ ไปได้ 

"แต่ก็ยังมีอีกหลายรายการให้สามารถโยกจากงบลงทุนได้ เช่น งบจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่งตอนนี้ไม่มีความจำเป็น เพราะสงครามที่เราต้องต่อสู้ไม่ใช่สงครามปกติ แต่เป็นสงครามกับโรคระบาด สงครามด้านสาธารณสุข ดังนั้นงบลงทุนตรงนี้จึงโอนได้ทันที เพื่อนำไปเป็นงบสำหรับจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ เครื่องช่วยหายใจ สร้างห้องความดับติดลบ ให้สถานพยาบาลต่างๆ เพื่อพร้อมรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อสาหัสได้" ศิริกัญญา กล่าว 


เศรษฐกิจ-วัยทำงาน-โควิด19

โอนงบกระทรวงมาไว้ที่งบกลางเป็นทางเลือกเดียว

พร้อมกับย้ำว่า 'การโอนงบประมาณมาไว้ที่งบกลาง' เป็นทางเลือกเดียวที่ต้องทำและทำได้ แม้สุดท้ายรัฐบาลต้องออก พ.ร.ก.กู้เงิน แต่ข้อเสนอของเธอคือ "เกลี่ยงบก่อน แล้วค่อยกู้"

โดยเกลี่ยผ่านการออก พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี แล้วเอามาไว้ในงบกลาง ซึ่งตามกระบวนการแล้วต้องผ่านที่ประชุมสภาฯ แต่ถ้าวันนี้ ความจำเป็นมีมากขนาดนี้ รัฐสภาก็สามารถออกมาตรการเพื่อคัดกรองความปลอดภัยจากโรคระบาดของผู้เข้าประชุม และอาจไม่ต้องเข้าทั้งหมด 500 คน เอาให้ครบองค์ประชุมก็พอ เพื่อให้ผ่านร่างกฎหมาย 3 วาระรวด เพื่อให้รัฐบาลมีเม็ดเงินเอาไปใช้รับมือกับโรคระบาดรวมถึงชดเชยเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ 

"ณ วันนี้ ยังไม่มีการล็อกดาวน์เกิดขึ้น ตอนนี้รัฐบาลต้องหาเงินชดเชยจากการปิดสถานประกอบการบางส่วนเท่านั้น แต่ถ้าวันที่ล็อกดาวน์จริงๆ วันที่ประชาชนต้องอยู่บ้านจริงๆ เกิดขึ้น ความต้องการชดเชยอีกก้อน ต้องมี และนั่นจะเป็นก้อนที่ใหญ่กว่านี้มากๆ เพราะผลกระทบจะกว้างมาก ต้องใช้เม็ดเงินมหาศาล ดังนั้นจึงวิงวอนรัฐบาลต้องตัดสินใจให้เร็ว ให้เด็ดขาดและดำเนินการได้ทันที วันนี้ฝ่ายค้านพร้อมร่วมมือกับรัฐบาล"

นั่นเพราะทุกคนเห็นความสำคัญกับการต่อสู้กับโรคระบาด ว่าต้องมาเป็นอันดับแรก มาก่อนความมั่นคงทางการทหาร รวมถึงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2564 ก็ต้องจัดลำดับความสำคัญของสถานการณ์กันใหม่ 

เพราะเราอาจต้องอยู่กับโควิด-19 ไปอย่างน้อยอีก 9 เดือน ซึ่งก็จะกินเวลาปีงบประมาณ 2564 ไปบางส่วน หรือในกรณีสถานการณ์เลวร้าย ต้องอยู่กับโควิด-19 ไป 18 เดือน ก็ต้องคาบเกี่ยวงบประมาณปี 2564 ทั้งปี ดังนั้นวันนี้ หน่วยราชการต้องสละวิธีคิดการจัดทำงบประมาณแบบเดิมๆ ต้องคิดใหม่ว่า ความจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบันอยู่ตรงไหน แล้วใส่งบลงไปตรงนั้น และบางหน่วยงานต้องยอมเฉือนเนื้อตัวเองหนักหน่อยในปีนี้ เช่น งบอบรมสัมมนา งบจัดอีเวนท์ใหญ่ๆ ที่น่าจะทำไม่ได้แล้ว หน่วยงานรัฐต้องเปลี่ยนวิธีคิด เพราะความไม่แน่นอนมีสูง ไม่รู้ข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น จะคุมการระบาดได้ดีแค่ไหน ดังนั้น ความยืดหยุ่นในการใช้งบประมาณจึงเป็นเรื่องจำเป็น 


ประชาชน - หน้ากากอนามัย

ยอมให้งบกลางกินสัดส่วนมากขึ้น รับมือสถานการณ์ไม่ปกติ

ปัญหาที่เห็นตอนนี้คือ แม้แต่เงินสำรองใช้จ่ายฉุกเฉินในงบประมาณรายจ่ายปี 2564 ยังเพิ่มจากปี 2563 เพียง 3,000 ล้านบาท จาก 96,000 ล้านบาท เป็น 99,000 ล้านบาท ทั้งที่สถานการณ์ปัจจุบันจำเป็นต้องยืดหยุ่น 

แน่นอนที่ผ่านมา พูดกันมากว่า งบกลางอย่าไปใส่เยอะ เพราะมันคือการข้ามหัวสภาฯ ตรวจสอบไม่ได้ เป็นอำนาจของนายกฯ คนเดียวสั่งการใช้จ่าย แต่วันนี้ ส่วนตัวดิฉันว่า เราต้องยอมให้งบกลางกินสัดส่วนมากขึ้นในกรอบงบประมาณรายจ่ายปี 2564 เพราะสถานการณ์ข้างหน้ามีความไม่แน่นอนมากมายจริงๆ อันนี้ต้องยอม แต่ต้องมีคณะกรรมการขึ้นมาอีกชุดเพื่อติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายเงินสำรองฉุกเฉินรายการนี้ด้วย เพื่อให้โปร่งใสและเป็นไปตามที่ได้ตกลงกันไว้ระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ

อีกทั้ง วิกฤตครั้งนี้ จะเป็นโอกาสช่วยให้หน่วยงานรัฐรีดไขมันของตัวเองให้มากขึ้น ซึ่งสำหรับงบประมาณรายจ่ายปี 2563 อันไหนโยกได้ ควรโยกเลย ตัดได้ตัด แล้วเอามาไว้ที่งบกลาง ประเมินเบื้องต้นตัวเลขว่าน่าจะได้ 80,000-100,000 ล้านบาท ซึ่งยังพอทำให้งบประมาณที่ต้องกู้เพิ่มวงเงินลดลง

"รัฐบาลต้องตระหนักว่า มาตรการเยียวยาต้องทำเร็ว เพราะผลกระทบเกิดขึ้นแล้ว กับคนหาเช้ากินค่ำ เพียงวันเดียวก็สร้างความแตกต่างได้ คนเหล่านี้พวกเขามีหนี้ต่างๆ ยิ่งช่วงสิ้นเดือนประชาชนยิ่งต้องการการชดเชยรายได้ต่างๆ เพื่อทำให้ในแต่ละเดือนเขาผ่านไปได้ในแต่ละวัน พอให้พอกินในแต่ละวัน การเกลี่ยงบแม้จะได้เงินไม่มาก แต่ก็ต้องทำ เพราะมันทำได้เร็ว และจะทำให้การเยียวยาถึงมือประชาชนได้เร็วด้วย" ศิริกัญญาย้ำทิ้งท้าย 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :