ไม่พบผลการค้นหา
'โรม' ยอมรับเส้นช่องรัฐสภาแก้รัฐธรรมนูญตีบตัน ย้ำหาก ส.ว.ไม่เอาด้วยหมดสิทธิ์ยกร่างใหม่ พร้อมชี้เป้า ต้องจัดการ ส.ว.แก้ปัญหาการเมืองทั้งระบบ

คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน หรือ กมธ.กฎหมาย สภาผู้แทนราษฏร จัดสัมมนา 'รัฐสภากับการพัฒนาระบบกฎหมาย อำนวยความยุติธรรม และพิทักษ์สิทธิมนุษยชน' ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ 

รังสิมันต์ โรม โฆษก กมธ.กฎหมาย บรรยายพิเศษ หัวข้อ 'พรรคการเมืองกับการแก้รัฐธรรมนูญ' ว่า ไม่สามารถฝากความหวังไว้กับพรรคการเมืองหรือรัฐสภาอย่างเดียวได้ ต้องอาศัยพลังภาคประชาชนและทุกฝ่ายในสังคมร่วมผลักดัน พร้อมระบุถึง ปัญหาของ ส.ว.ในระบบการเมือง ที่มีมากกว่าบทบาทที่ขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 23-​24 ก.ย. ที่ผ่านมา ขณะที่รัฐธรรมนูญมีข้อกังขาตั้งแต่การยกร่าง, การลงประชามติด้านเดียว และเมื่อมีการจับขั้วทางการเมือง ก็มีนักการเมืองบางพรรคประกาศว่า 'ออกแบบมาเพื่อพวกเรา' แปลว่ามีการแบ่งหรือเอื้อประโยชน์บางฝ่าย, รวมถึงมีการบอกว่า "มีคนอยากอยู่ยาว" และการรันตีว่า "ออกแบบมาให้แก้ไขยาก" ล้วนเป็นลักษณะเฉพาะของรัฐธรรมนูญปี 2560

รังสิมันต์ ระบุด้วยว่า ส.ว.ทั้ง 250 คนมีเจ้าของ ซึ่งที่ผ่านมากระแสของประชาชนที่ชุมนุมผลักดัน ได้ส่งสารโดยตรงไปยังเจ้าของ ส.ว.นั่นเอง แต่ก็ยังไม่เพียงพอให้ ส.ว.และเจ้าของ ส.ว.ยอมรับฟัง และถ้า ส.ว.อย่างน้อย 84 คนไม่เอาด้วยกับ 4 ญัตติทั้งของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านที่ตั้งกรรมาธิการศึกษาร่วมนี้ ก็จะตกไป และตามกระบวนการรัฐสภาจะไม่สามารถเสนอร่างที่มีเนื้อหาและหลักการเดียวกันที่รัฐสภาปัดตกได้เลยในสมัยประชุมหน้า จะทำได้ก็ต่อเมื่อหลังจากวันที่ 22 พ.ค. 2564 ที่จะมีการเปิดสมัยประชุมรอบถัดไปจึงจะเสนอได้ รวมทั้งร่างของ iLaw ด้วย

ดังนั้น ปัญหาคือ จะจัดการอย่างไรกับ ส.ว.รวมถึงคำถามที่ว่า ยังจำเป็นต้องมีวุฒิสภาในระบบการเมืองหรือไม่ หรือจะจัดวาง ส.ว.ในระบบการเมืองอย่างไร ซึ่งจะช่วยแก้วิกฤตการเมืองไทยได้ด้วย

รังสิมันต์ ยืนยันว่า พรรคก้าวไกล สนับสนุนการตั้ง ส.ส.ร. โดยไม่ต้องกำหนดว่าห้ามแก้หมวดใดหมวดหนึ่ง และเสนอการแก้ไขรายมาตราด้วย ที่ต้องปิดสวิตซ์ ส.ว., ยกเลิกการนิรโทษกรรมและการรับรองคำสั่ง คสช. โดยแบ่งเป็น 2 แบบ เพื่อหวังเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.แต่ก็ยังไม่เห็นผลเช่นกัน