ไม่พบผลการค้นหา
เรื่องวุ่นๆ ของศิลปินหนุ่มและนักวิจารณ์สาว เมื่อนิทรรศการเล็กๆ ในห้องแคบๆ พาพวกเขาตกเป็นจำเลย

เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา อู๋ - ธิติบดี รุ่งธีรวัฒนานนท์ ศิลปินหนุ่ม หยิบเอาการเอาเปรียบ และการโฆษณาที่ไม่ตรงข้อเท็จจริงมาปรับโฉมให้กลายเป็นผลงานศิลปะในชื่อ ‘THE AIR’ จัดแสดงภายในห้องพักขนาด 20 ตารางเมตร ใน ‘ดอนเจดีย์แมนชั่น’

ต่อมา ธนาวิ โชติประดิษฐ อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร วิจารณ์งานดังกล่าวเป็นข้อเขียน ตีพิมพ์ผ่าน The 101.World ชื่อ "The Air: ศิลปะจากการขึ้นโรงขึ้นศาล"

หลายเดือนผ่านไป บริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ จำกัด (มหาชน) ได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลย 3 คน ประกอบด้วย ธิติบดี , มาดี พัฒนศรี (เจ้าของภาพในบทความ) และธนาวิ ฐานกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหลายมาตรา รวมถึง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 27 มกราคม 2563

“เป็นที่น่ากังขาว่าเพราะเหตุใด อินเด็กซ์ฯ จึงต้องการฟ้องร้องคนทำงานศิลปะและนักวิชาการ และเหตุการณ์นี้อาจจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่สำหรับการทำงานศิลปะ การทำงานวิชาการ งานวิจารณ์ และงานสื่อสารมวลชนต่อไป” ธนาวิ ตั้งคำถามหลังเห็นหมายศาลส่งมาถึงบ้าน

ต่อไปนี้คือลำดับเรื่องราววุ่นๆ ที่เริ่มจากความต้องการเล็กๆ อย่างการหาเครื่องปรับอากาศมาติดห้อง...

ศิลปะฟ้องร้อง แอร์

ศิลปะจากการขึ้นศาล

เรื่องของเรื่องเริ่มจาก อู๋ ธิติบดี ศิลปินชาวไทย ที่เพิ่งกลับมาจากสหรัฐอเมริกาได้ไม่นาน สนใจเนรมิตห้องพักเก่าๆ ที่มีอายุมากกว่า 30 ปี มรดกจากคุณแม่ ใน ‘ดอนเจดีย์แมนชั่น’ ย่านรามคำแหง เป็นสตูดิโอแสดงผลงาน โดยหวังให้ “งานศิลปะอยู่รอบตัวเรา”

ด้วยความร้อนของห้องพักชั้น 6 เจ้าตัวเลยมองหาเครื่องปรับอากาศมาติดตั้ง ก่อนเตะตากับโฆษณาในหน้าเฟซบุ๊ก Index Living Mall ระบุเครื่องปรับอากาศซัมซุงขนาด 11,500 BTU ลดราคาจาก 20,900 บาทเหลือเพียง 9,990 บาท แถมยังฟรีค่าติดตั้งและผ่อน 0 เปอร์เซ็นต์นาน 10 เดือน

“กดสั่งซื้อไปเลยครับ ราคามันยั่วยวนใจและเป็นดีลเฉพาะวันนี้เท่านั้น” เขาหัวเราะให้การตัดสินใจของตัวเอง

2 วันต่อมา เครื่องปรับอากาศเดินทางมาถึงพร้อมใบเสร็จรับเงินระบุข้อความว่า “สินค้าไม่รวมประกอบติดตั้ง” ทางบริษัทอธิบายว่า หากต้องการให้ติดตั้ง ต้องจ่ายเงินเพิ่ม

“พนักงานบอกว่า ผมมาส่งเฉยๆ นะครับ ไม่รวมค่าติดตั้ง”

คำตอบจากพนักงานทำเอาศิลปินหนุ่มผิดหวัง แต่เขาได้เก็บภาพโฆษณาก่อนหน้านั้นเป็นหลักฐาน เพื่อยืนยันว่าบริษัททำผิด พร้อมกับตัดสินใจระบายประสบการณ์ผ่านเว็บไซต์พันทิป ซึ่งต่อมาถูกลบ รวมถึงฟ้องร้องและดำเนินคดีกับบริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ฯ ผ่าน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และศาลผู้บริโภค

หลังเสียเวลาและสุขภาพจิตไปราว 5 เดือน เขาเป็นฝ่ายชนะ โดยอีกฝ่ายขอไกล่เกลี่ยยอมชำระค่าติดตั้งให้ 3,000 บาท และเยียวยาอีก 1,000 บาท

ศิลปะฟ้องร้อง แอร์

หลังผ่านช่วงไม่น่าอภิรมย์ ด้วยความเป็นศิลปิน เขาตัดสินใจนำเรื่องราวดังกล่าวมาสร้างเป็นนิทรรศการชื่อ The Air โดยระบุรายละเอียด หลักฐานของกระบวนการทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้น จนถึงการไกล่เกลี่ยที่ศาลแขวงพระนครเหนือ

“มันเป็นเรื่องราวที่เราอยากเล่าในฐานะตัวแทนของคนตัวเล็กๆ ที่อาจจะโดนแบบเรา ผมเลยหยิบประสบการณ์และหลักฐานมาสร้างเป็นผลงานศิลปะ” เขาบอกต่อ “เชื่อว่ามันมีอีกหลายคนที่ปฏิเสธการต่อสู้ อยากให้เรื่องจบๆ ราคา 3,000 บาท ก็อาจจะหยวนๆ กันหมด แต่ลองคิดดูนะ สมมติว่า 1,000 คน มันก็เท่ากับ 3 ล้านบาทแล้ว นี่คือมูลค่าที่ผู้บริโภคเสียหาย”

ศิลปินวัย 34 ปี บอกว่า เป้าหมายของนิทรรศการคือการอยากให้ทุกคนเห็นว่า แค่เรื่องเล็กๆ ก็สามารถเป็นประเด็นและงานศิลปะได้ รวมถึงสะท้อนการต่อสู้ของคนตัวเล็กๆ ได้ด้วย

“มันเป็นประสบการณ์ที่บ่งบอกว่าเราถูกเอาเปรียบและต่อสู้กับความไม่ยุติธรรมอย่างไร”

ศิลปะฟ้องร้อง แอร์

ฟ้องปิดปาก อาญา-พ.ร.บ.คอมฯ ?

หลังเปิดแสดงนิทรรศการไม่ไม่นาน ธนาวิ โชติประดิษฐ อ.ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร เดินทางมาดูงานและเขียนบทวิจารณ์เป็นข้อเขียน ตีพิมพ์ผ่าน The 101.World ในชื่อ "The Air: ศิลปะจากการขึ้นโรงขึ้นศาล" จนกลายเป็นจำเลยคนใหม่ รวมถึงพาให้ช่างภาพและอู๋ ธิติบดี ติดร่างแหไปด้วย

“เราเขียนบทวิจารณ์เพื่ออธิบายว่านิทรรศการชิ้นนี้มันว่าด้วยเรื่องอะไร มีความเป็นมาอย่างไร และนำเสนอในรูปของนิทรรศการร่วมสมัยยังไง” เธอบอกถึงจุดประสงค์

ศิลปะฟ้องร้อง แอร์

ธนาวิ ในฐานะนักประวัติศาสตร์และนักวิจารณ์ บอกว่า นิทรรศการดังกล่าวน่าสนใจใน 2 ประเด็นหลัก คือ

1.ประสบการณ์ร่วมของสาธารณชน โดยคาดว่ามีคนจำนวนมากเคยเจอปัญหาคล้ายๆ กัน ในการถูกเอาเปรียบจากโฆษณา ผลิตภัณฑ์หรือผู้ประกอบการ เพียงแต่ไม่อยากให้เรื่องราวยืดเยื้อ และเห็นว่าไม่คุ้มที่จะเสียเวลาตามเอาผิด

“เสียเวลาเป็นเดือนๆ และอาจได้เงินเยียวยาแค่นิดหน่อย สู้เอาเวลาไปทำมาหากินดีกว่า”

2.รูปแบบนิทรรศการอันน่าสนใจ เมื่อใช้ห้องเล็กๆ และแอร์ต้นเรื่อง อธิบายกระบวนการต่อสู้ทั้งหมดให้คนเข้าใจ

“เราสามารถเข้าใจกระบวนการของการร้องเรียนได้เลยว่ามันต้องผ่านขั้นตอนไหนบ้าง นิทรรศการนี้เป็นเคสตัวอย่างให้สาธารณชนได้เรียนรู้”

หลังจากบทวิจารณ์หัวข้อ "The Air: ศิลปะจากการขึ้นโรงขึ้นศาล" เผยแพร่เมื่อปลายเดือนมิถุนายน อู๋ ธิติบดี ก็หยิบเอาไปตั้งกระทู้พันทิป ชื่อ ใครยังไม่ได้ค่าติดตั้งแอร์จาก index living mall ปรึกษาได้นะครับ? (ถูกลบไปแล้ว) เพื่อแชร์ข้อมูลในฐานะผู้บริโภค โดยได้แนบลิงก์บทความ "The Air: ศิลปะจากการขึ้นโรงขึ้นศาล" ไว้ด้วย

การกระทำเบื้องต้นกลายเป็นประเด็นให้ บริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ฯ ตัดสินใจฟ้องร้อง จำเลยทั้งสาม คือ ธิติบดี , ธนาวิ และ มาดี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90, 91, 326, 328, พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 โดยศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2563

“ผมโพสต์เพื่อที่จะบอกเล่าประสบการณ์ของตัวเอง หลังผ่านขั้นตอนกฎหมายมาทั้งหมด มันจบลงแบบนี้นะ เราสร้างงานศิลปะแล้วมีคนเขียนวิจารณ์แบบนี้นะ ไม่ได้หวังผลในแง่อื่น” ธิติบดีอธิบายเหตุผล

ศิลปะฟ้องร้อง แอร์

บรรทัดฐานใหม่ต่อข้อเท็จจริง ?

ธนาวิ แปลกใจถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อกระบวนการไกล่เกลี่ยระหว่างบริษัทและศิลปินได้ผ่านมาแล้ว รวมถึงไม่ใช่เรื่องปิดลับที่ไม่สามารถบอกคนอื่นได้

“มันเซอร์ไพรส์ที่ถูกฟ้อง จากการพูดถึงข้อเท็จจริงที่ไม่ได้เป็นความลับ และมันอาจกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของการทำงานศิลปะหรือวิจารณ์งานศิลปะ เสรีภาพของสื่อหรือแม้กระทั่งการทำงานของนักวิชาการเองว่า เราจะพูดถึงเรื่องที่เกิดขึ้น ประเด็นในสังคมได้มากน้อยแค่ไหน แม้เรื่องนั้นจะเป็นข้อเท็จจริงที่สุดแล้ว” ธนาวิ ตั้งคำถาม


บริษัทจำเป็นต้องปกป้องชื่อเสียง

พิเศษ โรจนวิภาต ทนายความประจำ บริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลฯ ซึ่งดูแลคดีดังกล่าว บอกกับ ‘วอยซ์ออนไลน์’ ว่า สิ่งที่ฝ่ายจำเลยเผยแพร่ ทั้งข้อเขียนและการนำไปโพสต์ในกระทู้เว็บไซต์พันทิป เป็นการสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงบริษัท จึงต้องดำเนินการปกป้องสิทธิตามขั้นตอนกฎหมาย 

“ในฐานะบริษัทมหาชนจำกัด เรามีสิ่งที่ต้องรักษาและปกป้อง ด้วยเนื้อหาของงานเขียนมันค่อนข้างจะสร้างความเสียหายในระดับหนึ่ง เราจึงจำเป็นต้องรักษาสิทธิของทางบริษัท และใช้สิทธิตามกฎหมายครับ” เขาบอกต่อ

“การสร้างสรรค์ผลงานนิทรรศการและศิลปะนั้นเป็นสิทธิของแต่ละบุคคลพึงกระทำได้ เท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมายหรือไม่สร้างความเสียหายต่อผู้อื่น ซึ่งในกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องของการโพสต์ข้อความที่มีผลต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงของบริษัทอย่างชัดเจน เราจึงจำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาลครับ เพื่อให้เขาเข้าใจถึงแนวทางในการนำเสนองานที่ถูกต้อง และกระทบสิทธิของบุคคลอื่น ตามแนวทางกฎหมายต่อไปครับ” ทนายความกล่าวและว่า เรื่องคู่ค้านั้นเป็นคนละเรื่องกับการกระทำที่ทำให้บริษัทเกิดความเสียหาย 

ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ระบุว่า ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

มาตรา 90 เมื่อการกระทำใดอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่ผู้กระทำความผิด

มาตรา 91 เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป 

มาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ระบุ ผู้ใดกระทำความผิด นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ศิลปะฟ้องร้อง แอร์

นิทรรศการดังกล่าวประกอบด้วยภาพเหมือนจริงที่ลอกแบบหน้าเว็บไซต์และเอกสารต่างๆ ตามรายการ ดังนี้

  • ภาพหน้าโฆษณาในเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 เขียนว่า “แอร์ซัมซุง 9,990.- (ราคานี้รวมค่าติดตั้ง)”
  • ภาพใบเสร็จรับเงินลงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ระบุข้อความว่า “สินค้าไม่รวมประกอบติดตั้ง”
  • ภาพเอกสารร้องเรียนที่ศิลปินส่งถึงสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ในหัวข้อ “บิดเบือนโฆษณาไม่ทำตามเงื่อนไข ทำให้เกิดผู้เสียหายมาก” ลงวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2561 (ถ้าได้ผล เรื่องก็คงจบตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2561 และอาจไม่มีงานศิลปะชิ้นนี้)
ศิลปะฟ้องร้อง แอร์
  • ภาพหน้าจอเว็บบอร์ดพันทิปพร้อมข้อความอธิบายว่า “กระทู้นี้ถูกลบเนื่องจากเป็นกระทู้ร้องเรียน หรือร้องเรียนสินค้า หรือบริการซึ่งสงวนสิทธิเฉพาะสมาชิกประเภทบัตรประชาชนเท่านั้น”
  • ภาพแผนผังกระบวนการระงับข้อพิพาทในคดีแพ่ง (ก่อนกระทู้ในพันทิปถูกลบ ธิติบดีได้รับคำแนะนำหลังไมค์ว่าให้ไปฟ้องศาล)
  • ภาพบัญชีนัดความแพ่งประจำวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2562 (รอบบ่าย) ลำดับที่ 18 เลขคดีดำ ผบ440/62 เพื่อไกล่เกลี่ยระหว่างโจทย์คือ นายธิติบดี รุ่งธีรวัฒนานนท์ กับจำเลยคือ บริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ จำกัด (มหาชน)
  • ภาพโคลส-อัพ รายละเอียดบัญชีนัดความแพ่งประจำวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2562 (รอบบ่าย)
  • ภาพรายงานกระบวนพิจารณา คดีดำหมายเลขที่ ผบ ๔๔๐/๒๕๖๒ ระบุผลการไกล่เกลี่ย ความว่า เนื่องจากโจทย์และจำเลยสามารถตกลงกันได้ โดยวันนี้จำเลยชำระเงินแก่โจทย์จำนวน ๓,๐๐๐ บาทและเงินค่าช่วยเหลือเยียวยานอกเหนือจากคำฟ้องแก่โจทย์อีก ๑,๐๐๐ บาท โจทย์จึงไม่ประสงค์ที่จะดำเนินคดีกับจำเลยอีกต่อไป ขออนุญาตบอกกล่าวถอนฟ้อง  
ศิลปะฟ้องร้อง แอร์

นิทรรศการ ‘THE AIR’ เปิดให้เข้าชมที่ห้อง 276 ชั้น 6 ดอนเจดีย์แมนชั่น ซอยรามคำแหง 42 

ศิลปะฟ้องร้อง แอร์ศิลปะฟ้องร้อง แอร์