ไม่พบผลการค้นหา
ผลสำรวจความเห็นซีอีโอบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่วนใหญ่คาดเศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกโตร้อยละ 3-4 ส่วนทั้งปีโตร้อยละ 3 ย้ำเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศ เศรษฐกิจโลก และหนี้สินภาคครัวเรือนเป็น 3 ปัจจัยเสี่ยงหลัก เกือบครึ่งหันลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน

สถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน (บจ.) หรือ CEO Survey ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 โดยพบว่า ซีอีโอที่ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยช่วง 6 เดือนแรกปี 2562 (ม.ค.-มิ.ย.) จะเติบโตในระดับใกล้เคียงเดิมหรือ เติบโตเล็กน้อย 

โดยร้อยละ 74 ของซีอีโอ คาดว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตอัตราร้อยละ 3-4 ขณะที่ซีอีโออีกร้อยละ 11 คาดว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวเกินร้อยละ 4 ส่วนซีอีโออีกร้อยละ 10 คาดเศรษฐกิจเติบโตร้อยละ 2-3 และซีอีโอร้อยละ 2 คาดเติบโตต่ำกว่าร้อยละ 2 

อย่างไรก็ดี ซีอีโอที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 37 ซึ่งปรับตัวลดลลงจากครั้งก่อนที่มีสัดส่วนที่ร้อยละ 51 ขณะที่ซีอีโออีกร้อยละ 41 คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกปีนี้ จะเติบโตใกล้เคียงครึ่งหลังปีก่อนหรือเติบโตขึ้นเพียงเล็กน้อย 

แล้วเมื่อมองภาพรวมทั้งปี 2562 ซีอีโอร้อยละ 82 คาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปีจะขยายตัวร้อยละ 3 โดยซีอีโอที่คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตมากกว่าร้อยละ 4 มีจำนวนลดลง และเป็นไปในทิศทางเดียวกับการคาดการณ์ของธนาคารโลก รวมถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่่่คาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะอยู่ที่ร้อยละ 3.8 และ 3.9 ตามลำดับ ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าเติบโตร้อยละ 3.8 และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์เติบโตร้อยละ 3.5-4.5  

การท่องเที่ยวเป็นปัจจัยหนุน -การเมืองในประเทศ เป็นปัจจัยเสี่ยง อันดับหนึ่ง

อีกด้านหนึ่ง ซีอีโอที่ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ ยังคาดว่า การท่องเที่ยว การใช้จ่ายภาครัฐ จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 ขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกจะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย และมองว่า สถานการณ์การเมืองภายในประเทศ กำลังซื้อภายในประเทศ เป็นทั้งปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยเสี่ยง

โดยต่างระบุว่า ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ อันดับหนึ่ง ได้แก่ การท่องเที่ยว ตามมาด้วย นโยบายการคลัง การใช้จ่ายภาครัฐ เป็นอันดับ 2 ส่วนอันดับ 3 คือเสถียรภาพการเมืองภายในประเทศ ที่ขยับขึ้นมาแทนที่กำลังซื้อภายในประเทศที่ลดลงไปอยู่ที่อันดับ 4 จากการสำรวจครั้งก่อน 

ด้านปัจจัยเสี่ยง ในการสำรวจครั้งนี้ ซีอีโอคาดว่า ความเสี่ยงอันดับ 1 คือ เสถียรภาพการเมืองภายในประเทศ ตามมาด้วย การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เป็นอันดับ 2 ขณะที่ หนี้สินภาคครัวเรือนเป็นอันดับ 3 ส่วนกำลังซื้อภายในประเทศ ค่าเงินบาท การส่งออก เสถียรภาพการเมืองโลก และราคาน้ำมัน เป็นอันดับที่ 4-7 ตามลำดับ 

ซีอีโอร้อยละ 42 ชี้ภาวะอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นกว่า 6 เดือนก่อนหน้า

ซีอีโอร้อยละ 42 คาดการณ์ว่า ภาวะอุตสาหกรรมของตนในครึ่งแรกของปีนี้ จะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา ส่วนอีกร้อยละ 33 คาดว่า จะอยู่ในระดับเดิม และร้อยละ 25 คาดการณ์ว่าจะแย่ลง ซึ่งยังเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนหน้า ส่วนเมื่อพิจารณารายหมวดอุตสาหกรรม พบว่า ซีอีโอ ทุกบริษัทที่ตอบแบบสอบถามที่อยู่ในหมวดธุรกิจการเกษตร หมวดของใช้ในครัวเรือน และสำนักงานหมวดวัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร หมวดกระดาษและวัสดุการพิมพ์ หมวดบริการรับเหมาก่อสร้าง หมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ และหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่า ภาวะอุตสาหกรรมจะปรับดีขึ้น

ขณะที่หมวดยานยนต์ หมวดธนาคาร หมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ คาดว่าภาวะอุตสาหกรรมจะไม่เปลี่ยนแปลง แต่ซีอีโอที่ตอบแบบสอบถามที่อยู่ในหมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ หมวดวัสดุก่อสร้าง หมวดปิโตรเคมีฯ ส่วนใหญ่คาดว่าภาวะอุตสาหกรรมจะแย่ลง

ซีอีโอในกลุ่มธุรกิจเกษตร-ก่อสร้าง-ท่องเที่ยว คาดว่าปีนี้จะมีผลประกอบการดีขึ้น

ด้านแนวโน้มธุรกิจ ซีอีโอร้อยละ 59 ที่ตอบแบบสอบถาม คาดการณ์ว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 จะอยู่ในระดับเดียวกันกับในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 และเมื่อพิจารณารายหมวดธุรกิจ พบว่า มากกว่าร้อยละ 75 ของ CEO ในหมวดธุรกิจต่อไปนี้ที่คาดว่าผลประกอบการจะดีขึ้น ได้แก่ ธุรกิจการเกษตร วัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร กระดาษและวัสดุสิ่งพิมพ์ บริการรับเหมาก่อสร้าง ท่องเที่ยวและสันทนาการ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก และบรรจุภัณฑ์ 

ขณะที่หมวดยานยนต์และหมวดธนาคาร คาดว่าผลประกอบการจะอยู่ในระดับเดิม และซีอีโอในหมวดเงินทุนและหลักทรัพย์ หมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ หมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ที่คาดว่าผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังจะแย่ลง

ส่วนซีอีโอร้อยละ 55 ที่ตอบแบบสอบถาม คาดว่า รายได้จากการประกอบการในปี 2562 จะมีอัตราการเติบโตมากกว่าร้อยละ 6 ส่วนอีกร้อยละ 35 ของซีอีโอที่ตอบแบบสอบถามคาดว่ารายได้ปี 2562 จะเติบโตมากกว่าร้อยละ 9 ซึ่งมีสัดส่วนลดลงจากครั้งก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 31โดยส่วนใหญ่เป็นบริษัทจดทะเบียนในหมวดพลังงานและสาธารณูปโภค หมวดบริการรับเหมาก่อสร้าง หมวดการแพทย์ หมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และหมวดเงินทุนและหลักทรัพย์

นอกจากนี้ ร้อยละ 59 ของซีอีโอคาดว่าใน 6 เดือนแรกของปี 2562 บริษัทจดทะเบียนจะมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับต้นทุนแรงงานยังมีแนวโน้มจะปรับตัวสูงแต่สัดส่วนลดลงจากการสำรวจครั้งก่อน ขณะที่ต้นทุนพลังงาน ระดับการจ้างงาน ระดับการจ้างงาน ราคาสินค้าและบริการ ราคาวัตถุดิบ ที่ CEO ส่วนใหญ่คาดว่าจะไม่เปลี่ยนแปลง 

ร้อยละ 57 ของซีอีโอคาดว่า ต้นทุนแรงงานจะปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนในหมวดการแพทย์ หมวดธนาคาร หมวดบริการรับเหมาก่อสร้าง หมวดพาณิชย์ เป็นต้น

เมื่อสอบถามถึงระดับความกังวลในด้านต่างๆ เกี่ยวกับการทำธุรกิจ ซีอีโอมีความคิดเห็นใกล้เคียงกับการสำรวจครั้งก่อน โดย 5 อันดับแรกยังคงเดิม แต่มีการสลับอันดับ โดย CEO ส่วนใหญ่มีความกังวลใจมากที่สุดเกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานทั้งกำลังซื้อภายในประเทศ การขาดแคลนแรงงานมีฝีมือ ค่าเงินบาท และต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ในการสำรวจครั้งนี้ ความกังวลใจเกี่ยวกับกำลังซื้อภายในประเทศขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 1 แทนการขาดแคลนแรงงานมีฝีมือที่ลดลงไปอยู่ที่อันดับ 2 ขณะที่ความกังวลใจเรื่องค่าเงินบาทขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 3 จากอันดับ 5 ในการสำรวจครั้งก่อน ส่วนอันดับ 4 และ 5 ได้แก่ ต้นทุนการผลิตด้านวัตถุดิบ และด้านพลังงาน 

ซีอีโอร้อยละ 48 หันลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้าน

ด้านแนวโน้มการลงทุน พบว่า ร้อยละ 64 ของซีอีโอที่ตอบแบบสอบถาม คาดว่า ในอีก 12 เดือนข้างหน้าจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้น และร้อยละ 48 มีการวางแผนขยายการลงทุนไปต่างประเทศ โดยส่วนใหญ่มีมูลค่าการลงทุนในต่างประเทศน้อยกว่าร้อยละ 25 ของเงินลงทุนรวม ซึ่งส่วนใหญ่ลงทุนในกลุ่ม CLMV และกลุ่ม ASEAN 5 และร้อยละ 48 คาดว่าในช่วง 12 เดือนข้างหน้า จะลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเป้าหมายหลักในการลงทุน คือ ประเทศในกลุ่ม ASEAN ทั้งกลุ่ม CLMV และกลุ่ม ASEAN 5

สำหรับแหล่งเงินทุนที่สำคัญของธุรกิจ 3 อันดับแรก ในปี 2562 ยังเหมือนกับการสำรวจครั้งก่อน ได้แก่ กำไรสะสม สินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ และการออกหุ้นกู้ภายในประเทศ

ทั้งนี้ การสำรวจดังกล่าวจัดทำโดยสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน (CMRI) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมมือกับสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย (TLCA) และ บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (TSD) ได้สำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เพื่อทราบมุมมองจากผู้บริหารระดับสูงเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและธุรกิจ แนวโน้มการส่งออก การลงทุนและการระดมทุน และตลอดจนความคิดเห็นของผู้บริหารต่อประเด็นสำคัญต่างๆ ในแต่ละช่วงเวลา 

สำหรับการสำรวจความคิดเห็นในครั้งนี้ รวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 17 มกราคม - 20 มีนาคม 2562 ซึ่งมีบริษัทจดทะเบียนร่วมตอบแบบสอบถาม 117 บริษัทจาก 26 หมวดธุรกิจ มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมร้อยละ 45 ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :