ไม่พบผลการค้นหา
คนกองรอฟังคำสั่ง 17 พ.ค. กองถ่ายทำภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ โฆษณา จะได้กลับมาทำงานหรือไม่ หลังหยุดงาน ขาดรายได้เกือบ 2 เดือน พร้อมปฏิบัติตามคำสั่งและปรับตัวตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในกองถ่าย

ในการทำงานของกองถ่ายทำภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ โฆษณา มีผู้คนทีมงานไม่ต่ำกว่า 50 ชีวิต จึงเป็นอีก 1 อาชีพ ที่ต้องหยุดการทำงานเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นเวลาเกือบ 2 เดือนแล้ว ที่พวกเขาขาดรายได้ เพราะโดยส่วนใหญ่ คนกองถ่าย ไม่ว่าจะเป็น ทีมช่างไฟ ทีมเสียง ทีมเสื้อผ้า ทีมสวัสดิการ รวมแม้กระทั่ง นักแสดง กลุ่มคนเหล่านี้ ไม่ได้เป็นพนักงานประจำ รายได้จึงมาจากการออกกองในแต่ละครั้ง

สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย รับรู้ความเดือดร้อนของผู้คนกองถ่ายเป็นอย่างดี และเป็น 1 ในตัวแทนหารือเสนอมาตรการความปลอดภัยให้กับกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงสาธารณสุข และได้เสนอเรื่องไปยังศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ออกมาตรการการดำเนินงาน เบื้องต้น

1.    จำกัดจำนวนคนอยู่ที่ไม่เกิน 50 คนต่อกองถ่าย 

2.    ไม่ให้ถ่ายทำฉากที่ต้องสัมผัสใกล้ชิด และ เข้าถึงตัวกัน เช่น ฉากต่อสู้ ฉากแสดงความรัก โอบกอด จูบ และสัมผัสใกล้ชิด โดยให้ใช้เทคนิคพิเศษแทน ในกรณีที่เลี่ยงไม่ได้ ให้มีการแจ้ง และส่งรายละเอียดฉากที่จะถ่ายทำมายัง วธ. หรือ เจ้าหน้าที่ที่ดูแลพื้นที่ต่างๆ ก่อน เพราะเมื่อเกิดการติดเชื้อโควิด-19 ในกองถ่าย ต้องสามารถติดตามหาต้นตอของการแพร่ระบาดได้ และผู้ประกอบกิจการ จะต้องรับผิดชอบในการดำเนินงานทั้งหมดด้วย 

3.    กรณีไปถ่ายในสตูดิโอ มีข้อกำหนดให้มีการเว้นระยะห่าง ทั้ง ผู้ดำเนินรายการ ผู้ร่วมรายการ ผู้อยู่เบื้องหลังการผลิตต่างๆ รูปแบบกิจกรรมที่ถ่ายทำต้องไม่ให้มีความใกล้ชิดกัน และ ต้องมีมาตรการป้องกันที่ปลอดภัย ไม่ให้เกิดความเสี่ยง และภายในกอง ต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัย โดยยึดตามหลักของ สธ. ให้มีการคัดกรอง มีเครื่องวัดอุณหภูมิ หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ

บัณฑิต ทองดี
  • บัณฑิต ทองดี / ผู้กำกับภาพยนตร์

แต่ล่าสุดยังมีบางจุด ที่กรมควบคุมโรค มองว่ากองถ่ายยังคงมีภาวะเสี่ยง บัณฑิต ทองดี ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง และเป็นตัวแทนจาก สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย เข้าร่วมหารือมาตรการการดำเนินงาน เปิดเผยว่า ได้มีการนำเสนอร่างเพิ่มเติม ในจุดที่เกิดปัญหา อย่างจำนวนคนในกองถ่าย 50 คน ถือว่าเป็นจำนวนเยอะ เมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น เช่น สนามกีฬาฟุตซอล โดยได้มีการชี้แจงว่า ทั้ง 50 คนนั้น ไม่ได้รวมตัวเป็นกระจุกภายในสถานที่เดียว แต่กระจายกลุ่มทำหน้าที่ และการถ่ายทำหน้าฉาก จะมีเพียงกลุ่มทีมงานไม่เกิน 15 คนเท่านั้น ระยะเวลาการถ่ายทำต่อ 1 ฉาก ไม่เกิน 1 ชั่วโมง ต้องมีการพัก หรือการเปลี่ยนฉาก รวมทั้ง ระยะเวลาออกกอง 12 ชั่วโมง ซึ่งใช้เวลายาวนานกว่าธุรกิจอื่น จะมีรายละเอียดปลีกย่อย ที่แสดงให้เห็นว่าไม่มีการรวมกลุ่มผู้คนมากเกินไป

ผู้กำกับคนดังยังระบุว่า ก่อนหน้านี้ ที่โฆษก ศบค. ออกมาแจ้งว่า สามารถออกกองได้ไม่เกิน 5 คนนั้น ยังไม่ได้มีการรับรอง ซึ่งมาตรการต่างๆจากกลุ่มกองถ่าย ยังอยู่ในขั้นตอนยื่นร่างพิจารณา ซึ่งจะมีการประกาศว่าผ่อนปรนได้หรือไม่ วันที่ 17 พ.ค. พร้อมอยากแจ้งชาวกองถ่ายว่าอย่าฝ่าฝืนกฏในตอนนี้ เนื่องจากมีการปรับและจับจริงในกองที่ฝ่าฝืน

ณิธิภัทร์ เอื้อวัฒนสกุล
  • ณิธิภัทร์ เอื้อวัฒนสกุล / ผู้จัดละคร ค่ายมาสเตอร์วัน

ทีมข่าว วอยซ์ออนไลน์ ได้พูดคุยประเด็นนี้เพิ่มเติม กับผู้จัดละครค่ายมาสเตอร์วัน เอิน ณิธิภัทร์ เอื้อวัฒนสกุล ถึงการปรับตัวของทีมงานกองถ่ายตอนนี้ เขาเปิดเผยว่า กองถ่ายละครของเขาหยุดพักตั้งแต่ช่วงสิ้นเดือนมีนาคม ตั้งแต่มีการประกาศ พนักงานจะมี 2 ส่วน คือ ลูกจ้างประจำ และ ฟรีแลนซ์ และตอนนี้หลายๆ คน ที่ต้องว่างงานขาดรายได้ ก็หาอาชีพเสริมขายของออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ และกลุ่มผู้จัดละคร ก็มีการรวมตัวมอบถุงยังชีพ ให้แก่ชาวกองถ่ายเพื่อช่วยเหลือกันในเบื้องต้นด้วย

ส่วนประเด็นการออกกองถ่ายเพียง 5 คน เอิน ณิธิภัทร์ ให้ความเห็นว่า ในการปฏิบัติงานจริงของกองละคร ทีมงานอย่างต่ำในการทำงานฉากทั่วไป อยู่ที่จำนวน 50 คนแล้ว เมื่อรวมในแผนกต่างๆ จึงเป็นไปไม่ได้หากต้องถ่ายละครแล้วใช้เพียง 5 คน ซึ่งกองถ่าย 5 คน เหมาะกับการถ่ายทำในรูปแบบการถ่ายของกลุ่มยูทูปเบอร์ บล็อกเกอร์ โปรดักชั่นใหญ่ๆ อย่าง ละคร ภาพยนตร์ ไม่สามารถทำได้

ในเรื่องของฉากเลิฟซีน  ฉากการต่อสู้ ฉากที่ต้องสัมผัสใกล้ชิด และ เข้าถึงตัวกัน เอิน มองว่าแง่การผลิตสามารถปรับได้ แต่จะไปกระทบในส่วนของการสร้างสรรค์ผลงาน ฉากรักกัน ไม่แตะต้องตัวกันเลย หรือ ฉากต่อสู้ไม่โดนตัวกันเลย อาจจะดูปลอมๆ ไปหน่อย มันก็เหมือนเป็นการไปสร้างขอบเขตให้งานศิลปะ 

ผลกระทบกองถ่าย ยังโยงไปสู่ธุรกิจการขายโฆษณา สปอนเซอร์ เรตติ้ง สถานีโทรทัศน์ ต้องนำละครเก่ามารีรัน เพราะการถ่ายทำทั้งหมดต้องหยุด หากลงละครใหม่ในสต็อก ก็ไม่แน่ใจในความคุ้มทุน เพราะไม่สามารถจัดอีเว้นต์ หรือเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้เพิ่ม เอิน เล่าเพิ่มเติมว่า กระบวนการทำละคร ของบริษัท เฉลี่ยปีละ 2 เรื่อง การถ่ายทำ 8 เดือนอย่างต่ำ การหยุดชะงักถ่ายทำ รายได้ที่น่าจะได้เร็วก็ต้องยืดเวลาไปอีก ได้รายได้เท่าเดิม ในระยะเวลาที่ยาวนานกว่า

กองถ่ายละคร

หากการผ่อนปรนชาวกองถ่ายเกิดขึ้น เอิน มองสถานการณ์ว่า ตอนนี้ผู้ติดเชื้อเพิ่มน้อยลง เริ่มดีขึ้น คาดว่าสิ้นเดือนพฤษภาคมชาวกองถ่ายน่าจะได้เริ่มทำงานได้ แต่ต้องมีมาตรการคุมเข้มในทุกกอง เช็คชื่อคนในกองเพื่อตรวจสอบ วัดไข้ ใส่หน้ากากอนามัย ใครไม่สบายให้หยุดพัก ทำความสะอาดในกอง อาหารก็แยกจานใครจานมัน มีความรับผิดชอบในทุกกอง เน้นความปลอดภัยเรื่องสุขภาพเป็นหลัก เขากลัวว่าหากผ่อนปรนแต่มีกลุ่มคนที่ไม่คำนึงถึงความปลอดภัย อาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด เพราะทีมงานกองถ่าย นักแสดง ช่างแต่งหน้า ช่างไฟ มีการทำงานในหลายกอง จะนำสู่การระบาดได้หากมีข้อผิดพลาด 

“หยุดกันมาขนาดนี้แล้ว หากตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ก็ต้องมาหยุดงานกันใหม่ แทนที่จะทำงานกันได้เต็มที่ มันก็ไม่คุ้มอยู่ดี”

ทั้งนี้ ชะตาชีวิตกลุ่มคนบันเทิง ชาวกองถ่าย จะได้กลับมาทำงานตามปกติในรูปแบบไหน ต้องรอฟังการประกาศ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ในวันอาทิตย์ที่ 17 พ.ค.นี้ ที่จะมีการประกาศและเริ่มมาตรการผ่อนปรนในระยะที่ 2