ไม่พบผลการค้นหา
สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ ร้องรัฐดูแลต้นทุนผู้ประกอบการ เจรจาเจ้าหนี้สถาบันลดภาระ ชะลอเลิกจ้าง ชี้โควิด-19 ยืดเยื้อเห็นการปิดกิจการอีกบาน ฟาก 'กอบศักดิ์' ย้ำรัฐบาลมี 3 โจทย์ ต้องประคองภาคท่องเที่ยว-เศรษฐกิจไทย เชื่อหลังหยุดระบาด เศรษฐกิจไทยฟื้นได้ภายใน 3 เดือน

นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในภาวะที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งระบบต้องเผชิญกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 ครั้งนี้ ผ่านมากว่า 2 เดือนก็ได้เห็นการปิดกิจการของธุรกิจในภาคท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น แม้ยังไม่ถึงร้อยละ 10 ของผู้ประกอบการทั้งหมด

แต่สถานการณ์นี้ผู้ประกอบการหลายแห่งก็กัดฟันสู้ และพยายามพยุงตัวเองให้อยู่ให้ได้นานที่สุด โดยตอนนี้คาดว่า สถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้อย่างต่ำคือ ในระยะ 6 เดือน และสถานประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่มีอยู่ประมาณ 60,000 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายกลางถึงรายเล็กที่มีอยู่ร้อยละ 95 เป็นรายใหญ่ร้อยละ 5 และทั้งหมดนี้จ้างแรงงาน 4.3 ล้านคน ดูแลคนในครอบครัวรวมกันไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน

หากสถานการณ์ยังยืดเยื้อก็มีโอกาสจะมีคนปิดกิจการมากขึ้น คนตกงานเพิ่มขึ้น ดังนั้นสิ่งที่อยากให้ภาครัฐเข้ามาดูแล คือ มาตรการทางการเงิน ให้ช่วยเจรจาเจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินให้หยุดเงินต้น หยุดดอกเบี้ย และหาแหล่งเงินทุนที่เข้าถึงได้ง่าย มาสนับสนุนเพื่อให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ แล้วขั้นต่อไปจึงจะเป็นการลดภาษี ลดการส่งเงินสมทบประกันสังคม ลดค่าครองชีพ เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นกลไกช่วยให้ผู้ประกอบการ ไม่ต้องใช้วิธีเลิกจ้างคนงานเพื่อควบคุมภาระค่าใช้จ่าย

"เราเป็นผู้ประกอบการ เราไม่อยากเลิกจ้างโดยไม่จำเป็น เพราะเราก็รู้กันดีว่า หากทุกอย่างคลี่คลาย เข้ากลับสู่สถานการณ์ปกติ นักท่องเที่ยวกลับมา เราก็ต้องมีคนทำงาน มีพนักงาน แล้วถ้าเลิกจ้างเขาตอนนี้ พอตอนสถานการณ์ปกติเขาก็อาจไม่กลับมาอยู่กับเราก็ได้ ดังนั้นในเวลานี้เราต้องพยายามหาทางลดภาระด้านอื่นๆ เพื่อให้รักษาคนงานให้อยู่กับเราไว้ให้ได้นานที่สุด" นายชัยรัตน์ กล่าว

ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวยอมรับว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2563 หนักหนามากจริงๆ สืบเนื่องจากปีที่ผ่าน เศรษฐกิจไทยประสบมรสุมทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก สงครามการค้า และล่าสุดคือการระบาดของไวรัสโควิด-19 ดังนั้นจากการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจแล้วก็ทำให้รัฐบาลมี 3 โจทย์ที่ต้องต่อสู้เพื่อพาเศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนไปได้ ข้อแรกคือ จะทำอย่างไรให้ไวรัสโควิด-19 ไม่ระบาดในประเทศไทย เพราะตอนนี้ก็มีการระบาดในประเทศอื่นๆ แต่ของเรายังอยู่ในระดับที่จำกัดวงได้ แต่ถ้าเกิดระบาดขึ้นมาสถานการณ์จะกลายเป็นหนังคนละม้วน เพราะตอนนี้เพียงการระบาดในประเทศอื่นๆ จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาไทยก็ลดลงไปร้อยละ 45 แล้ว แต่ตามสมมติฐานว่า หากเกิดการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ก็คาดว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติจะหายไปมากถึงร้อยละ 80-90

ข้อสองคือ จะทำอย่างไรให้ผู้ได้รับผลกระทบรอด ไม่ให้เขาจมน้ำตาย เพราะตอนนี้หลายคนประสบปัญหาสินค้าขายไม่ออก นักท่องเที่ยวก็ไม่มา เจ้าหนี้ก็ตามทวงหนี้ ในที่ประชุมครม.วันที่ 10 มี.ค. รัฐบาลจึงเตรียมทั้งมาตรการทางการเงิน มาตรการภาษี และมาตรการการช่วยเหลือต่างๆ เพื่อให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนต่อไปได้ โดยหัวใจการดูแลคือ การผ่อนสายป่านให้กับคนเหล่านี้ แล้วจากประสบการณ์ของประเทศไทยที่ผ่านช่วงเหตุการณ์ที่กระทบการท่องเที่ยวทั้งไข้หวัดนก โรคซาร์ส เมอร์ส ไข้หวัดหมู การชุมนุมทางการเมืองภายใน ระเบิดพระพรหม ต่างๆ เหล่านี้ ก็พบว่า หลังจบเหตุการณ์ การท่องเที่ยวก็จะฟื้นตัวกลับมาภายใน 3 เดือน หลังจบเหตุการณ์ ดังนั้นกรณีของโควิด-19 ภาครัฐก็มั่นใจว่า เดี๋ยวก็จบ เพียงแต่จะใช้เวลานานแค่ไหน และจะใช้เวลาอีกนานเท่าใดกว่าจะมียามารักษา เพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ถ้าการระบาดจบ ความมั่นใจกลับมาเศรษฐกิจก็จะกลับมา

ดังนั้น ตรงนี้รัฐบาลจึงออกมาตรการโดยให้ธนาคารออมสินปล่อยซอฟต์โลนออกมาให้สถาบันการเงิน โดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท แล้วให้สถาบันการเงินไปปล่อยกับผู้ประกอบการคิดดอกเบี้ยร้อยละ 2 โดยมี บสย.ค้ำประกันเพื่อให้ทุกคนสบายใจ วิธีนี้ ก็จะเป็นการเพิ่มสายป่านให้กับผู้ประกอบการ อีกข้างคือการลดค่าใช้จ่าย เช่น ชะลอการจ่ายภาษี ลดการเรียกเงินประกันสังคมจากลูกจ้าง เป็นต้น

ข้อสามคือ จะทำอย่างไร ระหว่างที่หารายได้ทำมาหากินไม่ได้ จะทำอะไรกัน เพราะเวลาทำอะไรไม่ได้มันจะเครียด รัฐบาลก็ได้เตรียมการทำเรื่อง ease of traveling คือปลดล็อกข้อบังคับ ระเบียบ กฎเกณฑ์บางอย่างที่เคยเป็นอุปสรรคในด้านการเดินทางท่องเที่ยว เช่น แก้ไขปัญหา ตม. ทำอย่างไรให้คนไม่แออัดตอนรอเข้าเมือง แก้ปัญหาเรื่องแท็กซี่สนามบิน เรื่อง VAT REFUND ต่างๆ รวมถึงการดูแลนักท่องเที่ยวด้านต่างๆ ที่จะทำให้นักท่องเที่ยวมีความสุขกับประเทศไทยเพื่อรองรับกับการกลับมาในอนาคต เป็นการเตรียมการเพื่ออนาคต

กอบศักดิ์ ภูตระกูล
  • กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง

ส่วนเรื่องความเชื่อมั่นที่ลดลง นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า เป็นปกติ เพราะคนกลัวขนาดนี้ หลายคนไม่ยอมไปห้าง ไม่จับจ่ายใช้สอย แล้วจะไม่ให้ความเชื่อมั่นลดลงได้อย่างไร ประกอบกับเศรษฐกิจไทยช่วงที่ผ่านมาก็ถูกชกหมัดซ้ายที ขวาที ตอนนี้คนก็จะเห็นแต่ความกังวล แต่ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวแบบนี้ เหมือนรถที่กำลังวิ่งลงเขาแบบนี้ เราไม่จำเป็นต้องได้ชัยชนะว่าขับได้เร็วแค่ไหน แต่หัวใจคือเวลาเจอทางลงเขาและคดเคี้ยวก็ต้องประคองตนให้ผ่านไปให้ได้

"สำหรับเรื่องจีดีพีต่ำปีนี้ เราต้องทำใจ เพราะได้รับผลกระทบจากหลายอย่าง และรัฐบาลจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ โดยหัวใจสำคัญคือจะทำอย่างไรให้ประคองทุกคนให้ผ่านไปได้" นายกอบศักดิ์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :