ไม่พบผลการค้นหา
ธนาคารกลางอังกฤษมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.1 พร้อมเพิ่มเงินกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการซื้อพันธบัตรเพิ่มอีก 3.8 ล้านล้านบาท ทำให้มีมูลค่าการซื้อพันธบัตรถึงล่าสุดทั้งสิ้น 28.7 ล้านล้านบาท ขณะที่หลายฝ่ายเริ่มมองความเป็นไปที่ธนาคารกลางฯ จะใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ

ธนาคารกลางอังกฤษประกาศเพิ่มงบสนับสนุนโครงการช่วยเหลือในมาตรการนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายรวม 100,000 ล้านปอนด์ หรือคิดเป็นมูลค่าราว 3.8 ล้านล้านบาท เมื่อวันพฤหัสบดี 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา หวังช่วยเหลือเศรษฐกิจประเทศที่ตกลง ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด ส่งให้วงเงินรวมการซื้อสินทรัพย์ในตลาดโดยธนาคารกลางอังกฤษมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 745,000 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 28.7 ล้านล้านบาท 

ขณะเดียวกันคณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.1 ซึ่งเป็นระดับที่ลดลงมาแล้วสองครั้งจากร้อยละ 0.75 ตั้งแต่เริ่มมีวิกฤตโรคระบาด

ทั้งนี้ แม้แถลงการณ์จะมองเห็นการฟื้นตัวบ้างในฝั่งการใช้ของผู้บริโภค และชี้ว่าตัวเลขอัตราการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ (จีดีพี) ในไตรมาสที่สองจะมีความรุนแรงน้อยลงกว่าที่ประเมินกันไว้ก่อนหน้าจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และนโยบายช่วยเหลือต่างๆ จากรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม สหราชอาณาจักรต้องเผชิญกับสถานการณ์จีดีพีหดตัวถึงร้อยละ 20 ในเดือน เม.ย.และติดลบร้อยละ 6 ในเดือน มี.ค.ทั้งยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อมากที่สุดในโลก

แม้แต่องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ยังออกมาเตือนว่าสหราชอาณาจักรต้องเผชิญหน้ากับการหดตัวทางเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศเศรษฐกิจใหญ่อื่นๆ ในปีนี้ หรือคิดเป็นจีดีพีหดตัวรวมทั้งปีที่ร้อยละ 11.5 

ด้วยเหตุนี้ นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งจึงมองว่าธนาคารกลางจะออกมาตรการเพิ่มเติมมากระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในฝั่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปัจจุบันปรับลงมามากแล้ว และมีแนวโน้มว่าอาจเปลี่ยนมาดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบแบบที่ธนาคารกลางของยุโรป (อีซีบี) หรือธนาคารกลางของญี่ปุ่นบังคับใช้ในปัจจุบัน 

เจมส์ สมิธ นักเศรษฐศาสตร์ตลาดเศรษฐกิจพัฒนาแล้วจากไอเอ็นจีชี้ว่า "ความจำเป็นที่ต้องช่วยเหลือเศรษฐกิจต่อไปจะทำให้ต้องมีการพูดถึงว่าท้ายที่สุดแล้วจะปรับใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบไหม"

อย่างไรก็ตาม ลูค บาร์โธโลมิว นักกลยุทธ์ด้านการลงทุนจากอเบอร์ดีน สแตนดาร์ด เห็นต่างว่า "แม้ธนาคารกลางจะมาหยอกล้ออยู่กับอัตราดอกเบี้ยติดลบ แต่เราคิดว่าพวกเขาไม่น่าจะเดินไปทางนั้น เรามองว่าพวกเขาจะเพิ่ม QE (นโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายที่ธนาคารกลางจะเข้าไปซื้อสินทรัพย์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ) มากกว่า"

นักกลยุทธ์รายนี้ยังชี้ว่า แบงก์ชาติน่าจะเลือกใช้การออกนโยบายอาทิการตั้งสำรองสินเชื่อที่จะเอื้อให้สถาบันการเงินปล่อยเงินกู้ให้กับภาคเศรษฐกิจจริงหรือภาคการผลิตมากกว่า

อ้างอิง; CNBC, CNN, NYT, WSJ