ไม่พบผลการค้นหา
ฟิลิปปินส์เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในมินดาเนาด้วยกระบวนการจัดตั้งเขตปกครองตนเองของกบฎกลุ่มใหญ่ MILF ซึ่งจะปรากฎโฉมต้นปีหน้านี้ ขณะที่กระบวนการสันติภาพมินดาเนากลายเป็นพื้นที่ศึกษาสำหรับนักรณรงค์แก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยกระบวนการทางการเมืองว่าสันติภาพที่ได้มาจะยั่งยืนเพียงใด

มินดาเนาจะเปิดตัวงานรณรงค์การลงประชามติในวันที่ 21 ม.ค. 2562 ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญสำหรับการจัดตั้งพื้นที่ปกครองตนเองบังซาโมโร โดยในการลงประชามติหนนี้ หากประชาชนในพื้นที่เป้าหมายออกเสียงยอมรับกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโร ก็จะมีผลให้มีการจัดตั้งเขตปกครองตนเองทันที ซึ่งจนถึงขณะนี้หลายฝ่ายเชื่อว่าประชามติหนนี้จะผ่าน อันจะทำให้กลุ่มเอ็มไอแอลเอฟ (MILF) หรือแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร มีเวลาแค่เดือนกว่าในการปรับเปลี่ยนตัวเองจากกลุ่มที่จับอาวุธต่อสู้รัฐบาล กลายเป็นผู้ทำหน้าที่เป็นรัฐบาลชั่วคราวของพื้นที่ปกครองตนเอง 

พื้นที่ปกครองตนเองนี้เป็นผลของการเจรจาที่ต่อเนื่องเกือบยี่สิบปี แม้ว่าความขัดแย้งนี้มีระยะเวลาที่ยาวนานกล่าวนั้น ก่อนหน้าที่จะตกลงกับกลุ่มเอ็มไอแอลเอฟ รัฐบาลฟิลิปปินส์เคยทำข้อตกลงกับกลุ่มเอ็มเอ็นแอลเอฟ (MNLF) หรือแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติโมโรและได้มีการจัดตั้งเขตปกครองตนเองมาแล้ว แต่สมาชิกกลุ่มเดิมบางส่วนที่เห็นว่าข้อตกลงไม่ดีพอ ได้แยกตัวไปตั้งกลุ่มใหม่ ซึ่งก็คือกลุ่มเอ็มไอแอลเอฟที่กลายเป็นกลุ่มกบฎที่ใหญ่ที่สุดและต่อสู้กับรัฐบาลจนกระทั่งเจรจาและทำข้อตกลงใหม่นี้ได้

รวมความแล้วรัฐบาลฟิลิปปินส์ใช้เวลาในการจัดการความขัดแย้งกับกลุ่มกบฎใหญ่สองกลุ่มนี้ในมินดาเนาไม่น้อยกว่า 40 ปี 

สันติภาพมินดาเนาทำให้วันนี้หลายฝ่ายในภูมิภาคต่างยึดกรณีนี้เป็นกรณีศึกษาและจับตาขั้นตอนการยุติความขัดแย้งนี้ว่าจะสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนได้หรือไม่ ก่อนหน้านี้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินโดนีเซียได้คลี่คลายความขัดแย้งที่คล้ายกันกับกลุ่มที่อยู่ในอาเจะห์มาแล้วเมื่อปี 2547 ส่วนรัฐบาลเมียนมายังคงอยู่ในขั้นตอนการพูดคุยกับกลุ่มต่อต้านรัฐบาล เช่นเดียวกันกับกรณีของไทยและกลุ่มต่างๆ ในสามจังหวัดภาคใต้ 

วันที่ 10 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีผู้คนจำนวนมากหลั่งไหลเข้าสู่เมืองโคตาบาโตซิตี้ของมินดาเนาเพื่อร่วมงานรณรงค์ให้ประชาชนออกเสียงรับรองกฎหมายพื้นฐานจนทำให้เมืองทั้งหมดเผชิญสภาพปัญหารถติดและผู้คนจำนวนมากหาที่พักไม่ได้ ผู้จัดงานต้องเจรจากับทางการเพื่อให้ยอมผ่อนผันให้ประชาชนค้างแรมนอกบ้านทั้งนี้เพราะมินดาเนาอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกและมีเคอร์ฟิวในเวลา 10.00 น. 

ที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีข้อตกลงหยุดยิงและมีการเจรจาสันติภาพ แต่เหตุรุนแรงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา สภาพเช่นนั้นทำให้มีการเฝ้าระวังกันเป็นพิเศษ ทางการได้ประกาศปิดโรงเรียนในวันรุ่งขึ้น เป็นที่รู้กันทั่วไปว่า ในบรรดากลุ่มกบฎกลุ่มย่อยๆ อีกหลายกลุ่มยังมีที่ไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงนี้ นอกจากนั้นแล้ว ยังมีนักการเมืองบางส่วนในโคตาบาโตซิตี้ที่ไม่สนับสนุนเช่นกัน 

AFP-โรดริโก ดูแตร์เต-บังซาโมโร-ฟิลิปปินส์
  • โรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ถ่ายภาพหมู่กับแนวร่วมฯ อิสลามโมโร

อย่างไรก็ตาม งานรณรงค์ผ่านพ้นไปได้โดยสงบ ผู้สังเกตการณ์พบว่าบรรดา 'นักรบ' ของกลุ่มเอ็มไอแอลเอฟต่างระดมกำลังกันเข้าช่วยจัดระบบฝูงชนรวมทั้งทำหน้าที่เฝ้าระวังอย่างหนาแน่นตลอดงาน ขณะที่กำลังตำรวจและทหารมีให้เห็นน้อยมาก งานรณรงค์นี้จึงเป็นก้าวแรกของการพิสูจน์ตัวเองบนเส้นทางของการทำงานการเมืองของกลุ่มเอ็มไอแอลเอฟ และความปลอดภัยในเมืองกลายเป็นภาระของพวกเขาไปโดยปริยาย

ตามกฎหมายใหม่ เขตปกครองตนเองบังซาโมโรของกลุ่มเอ็มไอแอลเอฟจะประกอบด้วยพื้นที่ปกครองตนเองเดิมบวกเข้ากับพื้นที่ใหม่อีกส่วนหนึ่ง พื้นที่ใหม่ที่จะเข้าร่วมจะกว้างขนาดไหนยังเป็นคำถามที่ฝากไว้กับการลงประชามติของประชาชนในพื้นที่นั้นๆ ส่วนในด้านการบริหาร กลุ่มเอ็มไอแอลเอฟจะเสนอชื่อกลุ่มบุคคลในกลุ่มตนให้ประธานาธิบดีแต่งตั้ง เพื่อให้รับหน้าที่สมาชิกรัฐสภาและจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว อีกสามปีให้หลังจึงจะมีการเลือกตั้ง โดยจะเปิดให้มีการแข่งขันของพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งนั่นหมายถึงว่า เอ็มไอแอลเอฟมีเวลาพิสูจน์ฝีมือสามปี


หากปลดอาวุธ 'นักรบ' ต้อง 'ฝึกอาชีพ' ต่อ

กลิ่นอายของสันติภาพทำให้โคตาบาโตซิตี้เริ่มเปลี่ยน เมืองที่ทรุดโทรมเพราะผลจากการอยู่ในใจกลางความขัดแย้งมาเนิ่นนานได้เห็นการลงทุนใหม่ๆ เกิดขึ้น มีการบุกเบิกเปิดพื้นที่ชุมชน มีถนนใหม่ มีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ และโรงแรมใหญ่ใจกลางเมืองที่รู้กันว่าเป็นของสมาชิกกลุ่มเอ็มไอแอลเอฟได้ขยายพื้นที่ คนที่อาศัยในเมืองต่างบอกว่าพวกเขารู้สึกว่าบรรยากาศผ่อนคลายมากขึ้นและคนกล้าที่จะใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น ทั้งหมดนี้เชื่อกันว่าเป็นผลโดยตรงของสันติภาพ

การเป็นนักรบที่เก่งกาจไม่ได้เป็นเครื่องค้ำประกันว่าพวกเขาจะเป็นนักบริหารที่ดี สมาชิกระดับนำของเอ็มไอแอลเอฟต่างยอมรับว่า ประชาชนมีความคาดหวังกับพวกเขาสูงอย่างยิ่ง ในขณะที่ปัญหาในพื้นที่ก็สะสมค้างคามานาน ทั้งความยากจน เศรษฐกิจที่แน่นิ่ง ปัญหาความขัดแย้งที่มีหลายสาเหตุและซับซ้อน สิ่งที่รัฐบาลฟิลปปินส์และกลุ่มเอ็มไอแอลเอฟดำเนินการในเวลานี้คือจัดวางโครงสร้างทางการเมืองใหม่หมด มีองค์กรระหว่างประเทศพยายามจัดอบรมเสริมศักยภาพในการทำงานบริหารให้กับสมาชิกระดับนำของกลุ่ม พร้อมกันนั้นก็มีการเตรียมกระบวนการปลดอาวุธนักรบของเอ็มไอแอลเอฟ ซึ่งมีตัวเลขคร่าวๆ อยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 40,000 คน จำนวนไม่น้อยในกลุ่มนี้ 'ไม่เคยทำอย่างอื่นนอกจากสู้รบ' พวกเขาจะต้องได้รับการอบรมด้านอาชีพ พร้อมทั้งต้องช่วยเหลือเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอย่างพลเรือนได้ 

ผู้นำระดับสูงของกลุ่มเอ็มไอแอลเอฟบอกว่าพวกเขาทำงานกับฝ่ายรัฐบาลในคณะกรรมการหลายชุดมาหลายเดือนแล้วเพื่อเตรียมการ มันทำให้คนของเอ็มไอแอลเอฟกับสำนักงานที่ปรึกษาประธานาธิบดีว่าด้วยการเจรจาสันติภาพหรือโอปาปป์กลายสภาพจากศัตรูมาสู่การเป็นพันธมิตร เมื่อเอดูอาร์ด แกเอร่า สมาชิกกรรมการกลางของเอ็มไอแอลเอฟพบหน้าดิกสัน เฮอร์โมโซ ผู้ช่วยเลขาธิการซึ่งเคยเป็นผู้ร่วมโต๊ะเจรจาจากโอปาปป์โดยบังเอิญที่สนามบิน ทั้งสองคนจึงนั่งลงคุยกันอย่างสนิทสนม “เดี๋ยวนี้เราเป็นเพื่อนกัน” แกเอร่าว่า “แต่ก่อนหน้านี้เราแทบจะไม่มองหน้ากันด้วยซ้ำ” 

Duterte ดูแตร์เต
  • ดูแตร์เตได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เดินหน้ากระบวนการสันติภาพในมินดาเนาต่อ

ท่าทีของการเป็นพันธมิตรมีให้เห็นในเรื่องของงาน เจ้าหน้าที่ของโอปาปป์ในโคตาบาโตซิตี้ อิสมาแอล บาห์จิน ยอมรับว่า ขั้นตอนการปลดอาวุธนักสู้ของกลุ่มเอ็มไอแอลเอฟขณะนี้ล่าช้ากว่าแผน กลุ่มยังไม่ได้ส่งรายชื่อคนที่จะปลดอาวุธให้ แต่เขายืนยันว่านี่ไม่ใช่ประเด็นที่ต้องวิตกกังวลจนต้องกดดันกลุ่มเอ็มไอแอลเอฟ เขาเชื่อว่ากระบวนการนี้มีแต่จะเดินหน้า 

อันที่จริงแล้วในเรื่องนี้หลายคนเชื่อว่า กลุ่มเอ็มไอแอลเอฟอาจจะต้องการยื้อสิ่งที่เป็น 'พลังต่อรอง' ของตนเอาไว้จนนาทีสุดท้าย เห็นได้ชัดว่าไม่มีใครบอกได้ว่าจำนวนตัวเลขที่แน่นอนของนักสู้ของกลุ่มที่จะเข้าสู่การปลดอาวุธมีเท่าไหร่แน่ บ้างก็บอกว่าตัวเลขสี่หมื่นนั้นมากเกินไป ขณะที่อีกบางคนกลับบอกว่ากลุ่มเอ็มไอแอลเอฟบอกไม่หมด


กระบวนการสันติภาพไม่ใช่แค่การต่อรองกับรัฐบาล

งานหนักอีกด้านหนึ่งคือการเตรียมกระบวนการเพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับชุมชนและคนที่เกี่ยวข้องกับการสู้รบรวมทั้งประชาชนทั่วไป เนื่องจากเป็นที่ยอมรับกันว่าการให้ความเป็นธรรมถือเป็นจุดเริ่มต้นของความปรองดอง พวกเขาจัดตั้งคณะกรรมการว่าด้วยเรื่องความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านและการปรองดองขึ้นมากำหนดกรอบและวางระบบงาน งานแรกคือการโยกย้ายกลุ่มคนพลัดที่อยู่เพราะสงครามที่มีเป็นจำนวนมากให้กลับสู่ถิ่นฐาน เจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนระบุว่าประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงนั้นเป็นเพราะพวกเขาติดอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง มิใช่เพราะเป็นเป้าหมายโดยเจตนา แต่กระนั้นเรื่องราวของการจับผิดตัว การทรมาน การหายตัว การสังหารในรูปแบบต่างๆ ก็มีมากมายจนมีผู้สงสัยว่า จะสะสางให้ความเป็นธรรมได้จริงหรือไม่หรือนานเพียงใด  

การเยียวยาที่สำคัญในความเห็นของผู้เกี่ยวข้อง ก็คือการยอมรับความผิดพลาดในอดีต ปัจจุบันทางการฟิลิปปินส์ยอมรับประวัติศาสตร์ฉบับมุสลิมโมโรที่ยืนยันว่า พวกเขาเคยเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ในมินดาเนา แต่ภายใต้การปกครองของสเปนและสหรัฐฯ พวกเขากลายเป็นคนกลุ่มน้อย เพราะการใช้นโยบายสนับสนุนให้คนต่างกลุ่มเข้าไปตั้งถิ่นฐานในมินดาเนาด้วยการแจกที่ดินให้ หลังจากที่ได้เอกราชแล้ว รัฐบาลฟิลิปปินส์ก็ยังสานต่อนโยบายนี้ ดังนั้นสำหรับมุสลิมโมโรในมินดาเนา นอกจากคนจำนวนมากจะเสียที่ดินแล้ว ในแง่ความเป็นชุมชน พวกเขาก็ถูกลดความสำคัญลงเพราะสัดส่วนประชากรที่เล็กลงเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นและทำให้ถูกมองข้ามในด้านต่างๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเขารู้สึกถูกเอาเปรียบและไม่ได้รับความเป็นธรรม พวกเขามักเรียกรัฐบาลที่มะนิลาว่ารัฐบาลจักรวรรดินิยมมะนิลา

การสะสางเพื่อคืนที่ดินให้เจ้าของตัวจริงนับเป็นเรื่องหนึ่งที่ผู้รับผิดชอบด้านความยุติธรรมเพื่อการปรองดองยืนยันว่าจะต้องดำเนินการแม้จะต้องใช้เวลานานหลายปีก็ตาม แต่ก่อนอื่นพวกเขาเริ่มต้นด้วยการยอมรับข้อเท็จจริงในอดีตซึ่งสมาชิกเอ็มไอแอลเอฟชี้ว่าเรื่องนี้มีบันทึกไว้ตั้งแต่หน้าแรกของกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโร

ชาวคริสต์ในพื้นที่จำนวนไม่น้อยสนับสนุนการจัดตั้งเขตปกครองตนเองบังซาโมโรของกลุ่มเอ็มไอแอลเอฟ ผู้นำศาสนาคริสต์คนสำคัญๆ ในมินดาเนาได้ช่วยวิ่งเต้นทำความเข้าใจให้กับนักการเมืองในมะนิลามาแล้ว แต่นักรณรงค์ต่างบอกว่า ล่าสุด มีการเผยแพร่ข้อมูลที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเขตปกครองตนเองใหม่หลายอย่าง เช่น จะมีการห้ามไม่ให้มีการบริโภคหมู หรือภายใต้ระบบใหม่จะลงโทษผู้กระทำผิดด้วยการตัดอวัยวะ เป็นต้น 

การกระตุ้นทัศนะติดลบต่อมุสลิมนั้นเคยส่งผลกระทบอย่างหนักต่อกระบวนการสันติภาพนี้มาแล้ว เช่นเมื่อต้นปี 2558 ในขณะที่ร่างกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโร อันเป็นผลงานที่กลุ่มเอ็มไอแอลเอฟและรัฐบาลขณะนั้นใช้เวลายาวนานร่วมกันร่างกำลังเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา แต่แล้วก็เกิดการปะทะกันระหว่างตำรวจหน่วยพิเศษกับกองกำลังของเอ็มไอแอลเอฟที่เมืองมามาซาปาโน่ในมินดาเนา เจ้าหน้าที่ตายไป 44 คนขณะที่เอ็มไอแอลเอฟสูญเสียไป 17 คน ผลของความรุนแรงรอบนั้นได้กระตุ้นทัศนะติดลบต่อมุสลิมให้แสดงตัวถึงกับมีการเรียกร้องให้คว่ำกระบวนการสันติภาพ และนักการเมืองในมะนิลาฉวยจังหวะนั้นเล่นงานทางการเมืองอดีตประธานาธิบดีเบนิกโน อากีโน ที่3 ทำให้กระบวนการสันติภาพมินดาเนาแน่นิ่ง และมันทำให้พลเรือนหลายฝ่ายที่ร่วมผลักดันรู้สึกสิ้นหวังกับนักการเมืองไปไ่ม่น้อย พวกเขาเริ่มตระหนักว่า กระบวนการสันติภาพใดๆ ไม่ใช่เป็นเพียงการต่อรองกับรัฐบาลเท่านั้น 

จนเมื่อประธานาธิบดีโรดริโก ดูแตร์เต เข้ารับตำแหน่ง ในฐานะที่เป็นชาวเมืองดาเวาในมินดาเนา เขาเดินหน้าสนับสนุนสันติภาพเต็มตัวและผลักดันจนได้กฎหมายพื้นฐานฉบับใหม่ออกมาจนได้แม้ว่าเนื้อหาจะถูกกร่อนไปจากข้อตกลงเดิมไม่น้อย แต่หลายคนบอกว่าพวกเขายินดีที่จะเริ่มต้นกับสิ่งที่ได้มา บทบาทของดูแตร์เตเป็นคำอธิบายว่าทำไมรูปของเขาจึงปรากฎทั่วไปในงานรณรงค์ในมินดาเนา


แนวร่วมฯ อิสลามโมโรย้ำอุดมการณ์ 'แตกต่าง' กลุ่มไอเอส

แต่ผู้ที่ศึกษาปัญหาความขัดแย้งมินดาเนาหลายรายเชื่อว่ารัฐบาลฟิลิปปินส์ไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะเผชิญศึกหลายด้าน ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของมินดาเนานั้น รัฐบาลก็กำลังสู้่รบอย่างเต็มรูปแบบกับกลุ่มคอมมิวนิสต์ ไหนจะมีกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงสุดขั้วเช่นอาบูซายาฟ เมื่อปีที่แล้ว กลุ่มติดอาวุธไอเอส หรือไอซิส ขยายอิทธิพลมาจากตะวันออกกลางโดยจับมือกับกลุ่มผู้สนับสนุนในพื้นที่ คือสองพี่น้องตระกูลมาอูเตในเมืองมาราวี มีการปะทะกันนานถึงห้าเดือนเพื่อยึดมาราวีคืนจากกลุ่ม บัดนี้มาราวียังไม่ได้รับการบูรณะและคนถึงครึ่งล้านต้องพลัดที่อยู่

http://images.voicetv.co.th/media/640/0/storage0/1355425.jpg

แต่สิ่งที่ทุกคนล้วนวิตกก็คือ รากเหง้าของไอซิสในมินดาเนายังไม่ได้รับการจัดการ อย่างน้อยนักรบไอซิสจากต่างประเทศจำนวนกว่าสิบคนยังคงหลบซ่อนอยู่ในพื้นที่ ในขณะที่ทางการฟิลิปปินส์รู้ดีว่า เขตแดนทางทะเลทางตอนใต้นั้นยากแก่การจะตรวจตรา และคนนอกสามารถเข้ามินดาเนาโดยทางเรือได้ไม่ยาก โดยเฉพาะจากดินแดนซาบาห์ของมาเลเซีย 

กลุ่มเอ็มไอแอลเอฟเองยังคงยืนยันว่า พวกเขามิได้มีความสนใจในการก่อตั้งรัฐอิสลามในแบบของไอซิส มูฮาจีรีน อาลี เลขาธิการคณะกรรมการจัดการตามแผนสันติภาพยอมรับว่ากลุ่มเอ็มไอแอลเอฟเองก็หนักใจกับการกระจายตัวของความคิดสุดขั้วและเห็นว่าต้องหารับมือ ในขณะที่อีกด้านในมินดาเนาก็ยังมีกลุ่มนักสู้กลุ่มย่อยๆ อีกที่ไม่เห็นด้วยกับการทำข้อตกลงของเอ็มไอแอลเอฟ และแหล่งข่าวระบุว่ากลุ่มเอ็มไอแอลเอฟยังคงเจรจากับกลุ่มเหล่านี้อยู่จนถึงขณะนี้

แต่ก็มีนักสู้หลายส่วนพอใจ “สิ่งที่ผมอยากได้เสมอมาคืออยากให้เราเป็นอิสระจากการขึ้นกับรัฐบาลที่มะนิลา” ชายผิวเกรียมนั่งคุยอยู่ที่หน้าตลาดกับเพื่อนๆ ของเขา อันเป็นมวลหมู่สมาชิกเอ็มไอแอลเอฟ เขาติดอาวุธตั้งแต่อายุสิบเจ็ด และวันนี้เขาบอกว่าพร้อมแล้วที่จะออกไปเป็นพลเรือน ส่วนบางคนก็เริ่มแสดงความคาดหวังกับแกนนำภายใต้ภาระกิจใหม่ ฝ่ายนำของกลุ่มเอ็มไอแอลเอฟเองนั้นรู้ดีว่าพวกเขาต้องทำงานหนัก นอกจากต้องรับมืองานใหม่แล้ว ยังจะต้องบริหารจัดการความคาดหวังเพราะพวกเขาต้องการการสนับสนุนจากประชาชนไม่น้อยไปกว่าในช่วงที่จับอาวุธขึ้นสู้ 

“คนจำนวนมากเคยยอมสละชีวิตต่อสู้มาแล้ว งานต่อไปมันคงไม่เกินความพยายามหรอก” แกเอร่า สมาชิกคณะกรรมการกลางของเอ็มไอแอลเอฟว่า