ไม่พบผลการค้นหา
อนาคตใหม่ ปักหมุดเชียงใหม่ เปิดเวทีเสวนาสังคายนารัฐธรรมนูญ 2560 “สมชัย” ฉะ ชนชั้นนำ ออกแบบรธน.บิดเบี้ยว แม้หลักการดีให้ตาย ถ้ายังเอื้อกลุ่มคนบางกลุ่ม ก็ไร้ประโยชน์ “กษิต” ชี้ ร่างรธน.ฉบับใหม่ ต้องให้อำนาจประชาชน อย่าให้รัฐเป็นเจ้าชีวิต ด้าน “โคทม” เสนอ รธน.ต้องตีกรอบคนมีอำนาจ เปิดกว้างความอิสระสร้างพลังทางสังคม

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการเลือกตั้ง กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน เพราะเราเสียเวลาในความขัดแย้งมานานแล้ว อยากฝากถึงทุกคนอย่าท้ออย่าหยุดฝัน จงร่วมมือกันฝ่าฟันอุปสรรค ตนเชื่อว่ามันเกิดขึ้นได้ ส่วนนักการเมืองเองต้องเปลี่ยนทัศนคติ ที่มีเป้าหมายในการมุ่งชนะโดยผ่านการทำให้ประชาชนคล้อยตามแนวคิด ส่วนกลุ่มชนชั้นนำเองคือกลุ่มที่ควบคุมสังคมและเป็นตัวสร้างความขัดแย้ง ขณะที่ภาคประชาชนนั้น เราเอาจริงเอาจังกับการเลือกข้างมากเกินไป แม้ว่าเป็นสิ่งที่ดีอย่างไรก็ตามต้องรู้ทันการเมืองไม่เป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมือง อีกตัวละครที่เป็นตัวร้ายคือเทคโนโลยี ที่ปล่อยข้อมูลให้พวกเรารับรู้อย่างรวดเร็ว และกลั่นกรองข้อมูลให้พวกเราเสพข้อมูลซ้ำซาก มันจึงทำให้เราเปลี่ยนแปลงทัศนคติให้เกิดความคิดเลือกข้างฝ่ายผิดฝ่ายถูก 


line_54163160919331.jpg

“นักการเมืองเลิกได้ไหมให้อีกฝ่ายผิดและอีกฝ่ายถูกเสมอ ในส่วนชนชั้นนำนั้นที่เป็นกลุ่มที่อยากรักษาอำนาจนั้น เห็นว่าเป็นเรื่องยากที่จะเปลี่ยนแปลง ส่วนภาคประชาชนนั้น ต้องเปิดมุมมองที่กว้างขึ้นไม่รับฟังข่าวสารเพียงซีกเดียว ดังนั้นจากกว่าสิบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยหยุดอยู่กับที่จมอยู่ในปลัก ผมยังไม่เห็นเลยว่าตอนนี้มันจะเปลี่ยนแปลงได้เลย” สมชัยกล่าว

อดีตกกต.สมชัย ระอบุเพิ่มเติมว่านักการเมืองหลายคนได้หาเสียงชูธงแก้ไขรธน. ซึ่งมีเพื่อนในเฟซบุ๊กถามว่า จะแก้แต่รธน. ไม่แก้ปากท้องหรือ ซึ่งตนเห็นว่าหัวใจสำคัญคือการปลดล็อกรธน .ก่อน ถ้าไม่เกิดขึ้นก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ประชาชนเรียกร้องได้ รธน. คือการออกแบบให้ได้มาฝ่ายการเมืองที่มีความรู้เพื่อให้นักการเมืองเข้ามาแก้ไขปัญหาได้ ไม่งั้นประชาชนก็ต้องทนทุกข์ต่อไป หากรัฐธรรมนูญยังถูกข้าราชการกุมอำนาจ ที่ตนมองว่ามักจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงปัญหาของประชาชน ดังนั้นต้องไม่มีอำนาจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และเปิดให้ตรว���สอบถ่วงดุลจากภาคประชาชนและองค์กรอิสระที่เป็นอิสระ 

“รธน. ฉบับนี้ ร่างมาด้วย ความกลัว -ความอยาก -ความเขลา คือกลัวพรรคการเมืองหนึ่งชนะเลือกตั้ง โดยลืมกลัวพรรคอนาคตใหม่ทำให้ได้คะแนนอย่างถล่มทลาย ขณะที่ความอย่ากคืออยากอยู่ในอำนาจ จึงสร้างกฎเกณฑ์ออกมาเพื่อกุมอำนาจ ส่วนความเขลาคือ การไม่รู้ว่าถ้าออกแบบมาแบบนี้จะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต จนทำให้เกิดรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ” สมชัย กล่าวถึงการร่างรธน.ฉบับมีชัย

ดังนั้นรัฐธรรมนูญต้องร่างมาด้วยความเป็นธรรม ทำให้ทุกฝ่ายอยู่ภายใต้กติกาที่เป็นธรรม ทุกวันนี้ความขัดแย้งมันเกิดขึ้นเพราะไม่เป็นธรรม และสร้างกลไกการบริหารแผ่นดินให้ดี ถ้าออกแบบแล้วรัฐสภาไม่มีศักยภาพ ไม่สามารถกลั่นกรองนักการเมืองสร้าความมั่นคงของการเมือง เพื่อกำกับการบริหารแผ่นดินอย่างมีคุณภาพ ผ่านการตรวจสอบถ่วงดุล อย่าไปเชื่อว่าสมาชิกวุฒิสภา จะทำหน้าที่ตรวจสอบเพราะประชาชนก็รับรู้ได้ว่าปัจจุบันไม่เกิดขึ้น ปัจจุบันหลักการมันบิดเบี้ยวเช่นการถวายสัตย์ฯ ที่มีคนออกมาทบอกว่า ไม่ควรรู้ นั้นมันทำให้หลักการที่ดีแต่เอื้อประโยชน์คนบางกลุ่มมันก็ไม่สามารถถูกนำมาใช้ได้และเกิดประโยชน์ได้จริง ดังนั้นเสนอให้ฝ่ายค้านยื่นญัตติไปว่าต้องการแก้อะไร ดูสิว่าหน้าไหนโหวตไม่เอา ให้ประชาชนจำหน้ามันไว้ ความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับประชาชน มันจะทำให้พลเกประยุทธ์อกแตกตายเอง นั้นคือความทุกข์ผ่านกลไกที่พวกเขาออกมาเอง ยิ่งเป็นคนควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ตนกลัวว่าสมองจะแตกตาย 

“หลักการดีให้ตาย ถ้ายังเอื้อกลุ่มคนบางกลุ่ม ก็ไม่สามารถเกิดหลักการที่แท้จริงได้” อดีตกกต. สมชัยกล่าว

กษิต ชี้ ร่างรธน.ต้องยึดหลัก ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ นิติธรรมนิติรัฐ 

นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ กล่าวว่าค่านิยมของการเมืองไทยตามระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะรัฐบาลใดต่างก็มีโจรเข้ามาแฝง ซึ่งเห็นว่าที่ผ่านมามีเพียงรัฐ 3 รัฐบาล อาทิ นายสัญญา นายอานันท์ พลเอกเปรม ถึงจะไม่เป็นประชาธิปไตย แต่นายกฯเองเขามีความรักชาติรักสถาบัน อย่างไรก็ดีรัฐบาลปัจจุบันของพลเอกประยุทธ์ มีปัญหาที่กลุ่มการเมืองไม่ได้ทำหน้าที่ตามครรลองประชาธิปไตย ส่วนประเด็นการยกร่างรธน. ฉบับใหม่ ต้องยึดหลัก ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ นิติธรรมนิติรัฐ ซึ่งต้องเข้าใจว่าประเทศไทยเป็นรัฐเดียว ไม่สามารถแตกแยกกันได้ ทุกวันนี้นักการเมืองก็โกหก ผู้นำประเทศก็พูดข้างๆคูๆ ขณะที่นิติธรรมนั้นเวลาเราร่างรธน. เราต้องส่งเสริมในศีลธรรม ซึ่งตนได้เป็นหนึ่งในคนที่คัดค้านรธน.ฉบับนี้ เพราะเป็นรธน.ที่พาประเทศถอยหลังจากประชาธิปไตย และรับไม่ได้ที่ให้นายทหารที่มีตำแหน่งเข้ามามีอำนาจในรัฐสภา 

ดังนั้นปัญหาของรธน.ฉบับบนี้นั้น ตามที่ศึกษารธน. ของเยอมนีและญี่ปุ่น ได้มีการปกป้องการฉีกและให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ส่วน ‘รัฐ’ ไม่ใช่เจ้าชีวิตในการกำหนดกรอบความคิดประชาชน โดยผ่านกระบวนการปรึกษาหารือของประชาชน ขณะที่สวิตเซอร์แลนด์ ทุกปีจะมีการลงประชามติ โดยเปิดให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ไม่ให้รัฐบาลกลางกุมอำนาจโดยให้ท้องถิ่นสื่อสารกับประชาชน รธน.ฉบับใหม่ ต้องนำสิ่งที่ทั้งสามประเทศมาใส่ในเนื้อหา ไม่ใช่การบอกว่าชนชั้นนำกำหนด ต้องทำให้ประชาชนเป็นใหญ่ ไม่ใช่อำนาจไปอยู่ที่ครม. ซึ่งประเทศที่ประชาธิปไตยไม่ได้เกิดขึ้น ส่วนฝ่ายค้านและรัฐบาลต้องร่วมมือกัน ถ้าไม่เกิดขึ้นไม่ว่าจะรถถังหรือเสียงในสภา มันก็คือเผด็จการไม่ต่างกัน

ทั้งนี้หากมีการร่างใหม่นั้น ต้องมีการติวเข้มนักการเมืองก่อน เพื่อสร้างความเข้าใจไม่ใช่การให้อำนาจเจ้าของพรรค จึงอยากฝากให้พรรคอนาคตใหม่ต้องทำให้พรรคยึดหลักการเปิดกว้างให้เกิดประชาธิปไตยมากที่สุด เราต้องถือคติว่าประชาชนเป็นเจ้าของแผ่นดิน และต้องมองว่านักการเมืองก็ดี หรือนายกรัฐมนตรี คือผู้รับใช้ที่เป็นตัวแทนเสียงของพวกกเรา

โคทม เสนอทางออกความขัดแย้ง รธน. ต้องมีความเป็นธรรม 

นายโคทม อารียา นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน ระบุว่าดีใจที่พรรคอนาคตใหม่ได้ผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมที่เรียกว่าเป็นข้อตกลงที่ประชาชนมีมติร่วมกัน ส่วนความขัดแย้งทางการเมืองนั้น เห็นว่ามันก็ได้มาเพียงความบอบช้ำ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือกับดัก ที่รัฐบาลประยุทธ์ บอกว่าจะพาประเทศให้หลุดพ้นจากรายได้ปานกลาง แต่ปัจจุบันยังรั้งท้ายอยู่ในอาเซียน แต่กลุ่มชนชั้นนำก็กุมทรัพยากรในประเทศไว้ ซึ่งคนทุกชนชั้นต้องร่วมมือกัน ไม่ใช่การออกนโยบายที่ทำให้เกิดความรวยแบบกระจุก อีกทั้งยังยกตัวอย่างอีกว่าสมาชิกวุฒิสภาที่แต่งตั้งจากชนชั้นไหน ซึ่งโดยอำนาจคือที่พวกเขาต้องดำเนินการตอบสนองประชาชน ในส่วนของพรรคอนาคตใหม่นั้น มีการขับเคลื่อนแบบดุเดือด ส่วนคนมีอำนาจนั้นก็มีกรอบความคิดแบบสุดโต่ง ที่ให้อำนาจไว้กับชนชั้นนำแต่ไม่ให้การมีส่วนร่วมของชนชั้นล่าง การแบ่งขั้วท้ายที่สุดแล้วประชาชนคือคนที่เสียประโยชน์ แต่ผู้มีอำนาจที่กุมอำนาจจากประชาชน กลับนำทุนของคนเล็กคนน้อยเข้ากระเป๋า


line_54162080148498.jpg

นอกจากนี้กลุ่มอำมาตย์ที่มีอำนาจ ไม่เอาด้วยกับปรtชาชน ซึ่งพวกเขาได้ค้นพบนวัตกรรมการเมือง โดยการดำเนินการผ่านนิตบริกรที่สร้างปาฏิหารย์ครั้งแล้วครั้งเหล่า ซึ่งสิ่งที่อยากเห็นคือถ้าอยากให้รัฐธรรมเกิดขึ้นโดยเป็นธรรม มีความงดงามตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้นจนจบ อำนาจรัฐต้องมาจากมนุษย์ ไม่ใช่มาจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พร้อมเชื่อว่ามนุษยช์สามารถตัดสินได้โดยตัวเอง มนุษยชน์ต้องมีทางสายกลาง และรธน. ต้องทำให้มีปัญญาไม่ใช่กิเลส ดังนั้นถ้าอยากเห็นประชาธิปไตย ต้องทำให้เกิดความอิสระและพลังองค์ความรู้ และพลังทางสังคม โดยเสนอให้มีการจัดตั้งอนุกรรมการทางวิชาการ เพื่อสร้างองค์ความรู้และอธิบายข้อดีข้อเสียให้ประชาชนรับรู้ อีกสิ่งที่สำคัญคือนายมีชัย ได้ใส่กุญแจไว้สามสี่ดอก ซึ่งเราต้องแก้ไขให้ผ่านรัฐสภา ไม่จำเป็นต้องใช้การประชามติ ซึ่งมันก็สามารถทำให้เกิดการแก้รัฐธรรมนูญได้ 

ภาคประชาชน วอนผู้มีอำนาจหยุดวาทกรรมสงเคราะห์ผ่านรธน.

สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ตัวแทนภาคประชาชน เสนอทางออกความขัดแย้งทางการเมือง คือการผลักดันให้เกิดการแก้ไขรธน. โดยมีส่วนร่วมกันทุกฝ่าย ซึ่งปัจจุบันความขัดแย้งเกิดขึ้นมาตลอดสิบปีที่ผ่านมา โดยพวกคนชั้นนำได้ช่วงชิงอำนาจและผลประโยชน์ระหว่างกัน แต่ชนชั้นรากหญ้ากลับไม่ได้ประโยชน์เป็นเพียงกลุ่มคนที่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง แต่รัฐธรรมที่เกิดขึ้นมันคือระบอบอำมาตย์ แต่ไม่เคยระบุว่าผู้ยากไร้ต้องได้รับสิทธิ มีเพียงระบุว่าผู้ยากไร้ต้องได้รับการสงเคราะห์ ซึ่งผิดหลักสิทธิมนุษยชน


line_54162863694331.jpg

ตัวแทนภาคประชาชนกล่าวด้วยว่าความขัดแย้งนั้นยิ่งบ่อนทำลายในส่วนของชนชั้นล่าง สำหรับการแก้ไขความเหลื่อมล้ำผ่านรธน. ที่ใช้จิตนาการร่วมกันจากทุกฝ่าย ไม่ใช่การผูกอำนาจไว้ที่รัฐสภาเพียงเท่านั้น ไม่ต้องรักกันก็ได้แต่ต้องอยู่ร่วมกันโดยไม่ใช่การเกลียด ต้องมีการพูดถกเถียงว่าเกิดขึ้นจากอะไร เราต้องทลายความแตกต่าง และเคารพความเป็นมนุษย์ของทุกคน ไม่ต้องฝากความหวังไว้กับฝ่ายใด ต้องมีสภาพลเมืองให้เกิดทุกหย่อมหญ้าให้มีการอภิปรายร่วมกัน และกระจายรายได้ในท้องถิ่นไม่ใช่การใช้งบแบบสุรุ่ยสุร่าย ลดรายจ่ายให้ประชาชนนี่คือสิ่งที่ภาคประชาชนผลักดันให้เกิดขึ้น บทเรียนที่ผ่านมาเราต้องให้โอกาสประชาชนทุกคนได้พูดและออกแบบร่วมกัน ที่ครอบคลุมสร้างการมีส่วนร่วมให้มากที่สุด และต้องใช้กระบวนที่เกิดฉันทามติให้ได้มากที่สุด เพื่อให้มีความสง่างามของการได้มาของรธน.

“ทำให้มันเกิดสังคมที่ไม่เกลียดชัง ยอมรับความหลากหลาย ถกเถียงกันบนพื้นฐานประชาธิปไตย” สุรีรัตน์กล่าว