ไม่พบผลการค้นหา
สำนักงานสถิติแห่งชาติเผยผลสำรวจความสุขคนทำงาน 2561 พบ ผู้หญิงมีความสุขในการทำงานมากกว่าเพศชาย คนวัย 25-59 ปี มีความสุขในการทำงานมากกว่าคนสูงวัย ลูกจ้างรัฐบาลสุขกว่าพนักงานออฟฟิศ และคนในภาคอีสานมีความสุขมากกว่าทุกภาค ด้วยคะแนน 60.97

นายภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยผลการสำรวจความสุขคนทำงาน (ในองค์กร) พ.ศ. 2561 พบว่า คะแนนความสุขคนทำงานในองค์กรระดับประเทศ มีค่าคะแนนเฉลี่ย 58.62 คะแนน ซึ่งตามเกณฑ์ของเครื่องมือ HAPPINOMETER จัดอยู่ในระดับ 'HAPPY' หรือ 'ระดับความสุขตามเป้าหมาย' มีช่วงคะแนน 50.00-74.99 คะแนน 

ขณะที่การพิจารณาค่าเฉลี่ยคะแนนความสุขคนทำงานในองค์กรระดับประเทศ ในแต่ละมิติความสุขทั้ง 9 มิติ พบว่ามิติความสุขที่มีค่าคะแนนสูงที่สุดคือ 'มิติครอบครัวดี' มีค่าคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 64.50 คะแนน และมิติที่มีค่าคะแนนต่ำที่สุด คือ 'มิติใฝ่รู้ดี' มีค่าคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 49.46 คะแนน จัดอยู่ในระดับ 'Unhappy' หรือ 'ระดับความสุขต่ำกว่าเป้าหมาย' เป็นสัญญาณให้ต้องพัฒนาสนับสนุนอย่างจริงจัง มีช่วงคะแนนที่ 25.00 - 49.99 คะแนน

จากการพิจารณาจำแนกตามลักษณะทั่วไปของคนทำงานในองค์กร พบว่า คนทำงานเพศหญิงมีคะแนนความสุขสูงกว่าคนทำงานเพศชายเล็กน้อย คือ 59.42 คะแนน และ 57.91 คะแนน ตามลำดับ เมื่อพิจารณาตามกลุ่มอายุ พบว่า วัยทำงาน (อายุ 25-59 ปี) มีคะแนนความสุขสูงสุด 58.99 คะแนน รองลงมาวัยสูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) มีคะแนนความสุข 58.08 คะแนน และเยาวชน (อายุ 15-24 ปี) มีคะแนนความสุข 56.06 คะแนน 

เมื่อจำแนกตามสถานภาพการทำงาน พบว่า ลูกจ้างรัฐบาลมีคะแนนความสุขสูงกว่าลูกจ้างเอกชน คือ 65.54 คะแนน และ 56.07 คะแนน

สำหรับตามภาค พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีคะแนนความสุขสูงสุด 60.97 คะแนน รองลงมา เป็นภาคเหนือ 60.85 คะแนน ภาคใต้ 59.85 คะแนน ภาคกลาง 57.44 คะแนน และกรุงเทพมหานคร 56.18 คะแนนตามลำดับ