ไม่พบผลการค้นหา
กะเทาะความคิด 'พริษฐ์ ชิวารักษ์' หรือ 'เพนกวิน' คนรุ่นใหม่ที่ประกาศสงครามกับความล้าหลัง ที่ถ่วงอนาคตของคนรุ่นถัดไป

กระแสของคนรุ่นใหม่ในสังคมไทย ในยุคศตวรรษที่ 21 เริ่มถูกจับจ้องอีกครั้งภายหลังพวกเขาได้ระดมความคิดกันจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อเรียกร้องการจัดการเลือกตั้ง ตามคำมั่นสัญญาของผู้นำประเทศ

ขณะเดียวกัน ในสนามการเมือง ก็เริ่มคึกคักเช่นเดียวกัน กลุ่มคนรุ่นใหม่นำโดย 'ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' รองประธานกรรมการบริหารไทยซัมมิทกรุ๊ป และ 'ผศ.ดร. ปิยบุตร แสงกนกกุล' อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เตรียมตั้งพรรคการเมือง ชูโมเดลประชาธิปไตยและการเปลี่ยนแปลงเพื่อหลุดจากระบอบรัฐบาลรัฐประหาร

'วอยซ์ ออนไลน์' สัมภาษณ์พิเศษ 'พริษฐ์ ชิวารักษ์' หรือ 'เพนกวิน' นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวภายหลังการยึดอำนาจของคสช. และล่าสุดได้ประกาศสงครามกับความล้าหลัง ท่ามกลางหมู่คนรุ่นเก่าที่มีอำนาจ


_P3A8114.JPG

วอยซ์ ออนไลน์ : คนรุ่นเก่าจะมีความสำคัญเดินหน้าไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร

เพนกวิน : ผมมองว่าความเปลี่ยนแปลงไม่ได้มาจากคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนมันจากความคิดทุกคน เมื่อเราคิดจะเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเราคิดจะเปลี่ยนแปลงทางความคิด สุดท้ายแล้วมันต้องพึ่งพาพลังความคิดของทุกๆ คนในสังคม เพียงแต่ว่าเราต้องการให้ความเปลี่ยนแปลงนั้น มันเดินไปทางไหน เราปฏิเสธไม่ได้ว่าอายุมีผลต่อการคิด เมื่อคนรุ่นเก่าเขาชินอยู่ในโลกเก่า แต่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง ผมเชื่อว่ามีคนรุ่นเก่าจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้ปฏิเสธการเปลี่ยนแปลง หรือมีความคิดเดียวกับคนรุ่นใหม่ด้วยซ้ำ 

ดังนั้น ผมจึงมองว่าถ้าใครก็ตามที่พร้อมจะปรับตัวเข้ากลับยุคสมัยและมีความเข้าใจในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง แต่เป็นทิศทางที่คนรุ่นใหม่เป็นคนกำหนด ซึ่งสังคมเราต้องเดินหน้าไปพร้อมๆ กัน ที่ผมเคยพูดว่าถ้ามันเป็นสงครามระหว่างยุคสมัย มันจะเป็นสงครามที่ทุกคนร่วมกันสู้ เพื่อโค่นความล้าหลัง โค่นล้มการถ่วงอนาคต แต่ผู้ที่จะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง ผู้ที่จะชี้ทางว่าโลกใหม่คืออะไร ผู้ที่จะชี้ทางว่าอนาคตเราคืออะไร คือคนที่จะอยู่ในอนาคตต่อไป คือคนรุ่นใหม่

วอยซ์ ออนไลน์ : มีความกังวลจากแรงต้านของคนรุ่นเก่าหรือไม่

เพนกวิน : เราต้องมองความขัดแย้งเหนือไปกว่าตัวคน มันไม่ใช่เรื่องว่าคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่เหม็นขี้หน้ากัน แต่มันคือความคิดต่างหาก ที่เกิดการปะทะกัน มันคือการปะทะระหว่างความคิดเก่าและความคิดใหม่ ซึ่งคนที่มีความคิดใหม่ส่วนมาก ก็คือคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าที่พร้อมจะปรับตัวกับเรา เพราะคือความเข้าใจในโลกที่เปลี่ยนแปลง ที่พร้อมสนับสนุนคนรุ่นใหม่ ที่เป็นผู้นำทางความคิด คนเหล่านี้ผมมองว่าเป็นค่ายของคนรุ่นใหม่

ขณะเดียวกัน คนความคิดเก่าโดยส่วนมากแล้วมันก็ถูกถือครองโดยคนรุ่นเก่า มีคนรุ่นใหม่จำนวนนึงที่ไปสมาทานความคิดของคนรุ่นเก่า ยอมเอาตัวเองรับใช้คนรุ่นเก่า ก็ถือว่าตรงนี้เป็นค่ายของคนรุ่นเก่า และการปะทะกันระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่มันต้องเกิดขึ้น 


"คนรุ่นผมมีทรัพยากรอย่างนึง ที่คนรุ่นเก่าไม่มีคือ 'เวลา' ในที่สุดไม่ช้าก็เร็ว ผมยังมีชีวิตในโลกนี้อีก 40 ปี หรือ 60 ปี ผมยังเชื่อว่าสุดท้ายแล้วคนรุ่นผมจะชนะไม่ว่าจะด้วยแรงหรือกาลเวลา เพราะสุดท้ายกาลเวลาไม่เคยอยู่ข้างคนรุ่นเก่า เวลาไม่เคยเดินไปหาอดีต มันเดินไปหาอนาคตเท่านั้น"


วอยซ์ ออนไลน์ : จะทำอย่างไรให้คนรุ่นเก่าเข้ามาเป็นแนวร่วมสนับสนุน

เพนกวิน : โจทย์คือว่าทำอย่างไรให้การต่อสู้นั้น มันเป็นการต่อสู้ที่นำโดยคนรุ่นใหม่ แต่สนับสนุนโดยคนรุ่นเก่า ผมเคยคุยกับเพื่อนผมคนหนึ่ง ที่เขาคิดว่าสุดท้ายแล้วทุกสิ่งทุกอย่างในการเปลี่ยนแปลงมันควรจะเป็น 'เด็กคิด เด็กทำ ผู้ใหญ่สนับสนุน' โดยปฎิเสธไม่ได้ว่าคนรุ่นเก่าถือครองทรัพยากรหลายๆ เช่น เงิน-ฐานะ-อำนาจ แต่สิ่งที่คนรุ่นเก่าจะสนับสนุนคนรุ่นใหม่ เพื่อนำพาโลกนำพาประเทศไปสู่การเปลี่ยนแปลงนั้น คือการแบ่งปันทรัพยากรที่ถือครองอยู่มาสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้มีแรงที่จะก้าวต่อไป

มันมีหลายช่องทาง เพราะทุกครั้งที่มีการเปิดระดมทุนในการจัดกิจกรรม คนรุ่นเก่าจำนวนมากที่เห็นด้วยกับแนวทางของเรา ก็ร่วมบริจาคคนละเล็กละน้อย แต่นี่คือพลังอย่างนึงที่คนรุ่นเก่าสามารถช่วยคนรุ่นใหม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปได้

อย่างน้อยที่สุด สิ่งที่จะช่วยให้คนรุ่นใหม่เดินไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้นั้น คือการที่คนรุ่นเก่าเข้าใจ ไม่ขัดขวาง และมีกำลังใจให้กันอยู่เสมอ

 

'ถ้าวันนึงความคิดเราเป็นรูปธรรม ถึงวันที่เราได้นำความคิด ความเชื่อของเราไปปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรม วันนั้นผลงานของเราจะสร้างให้พวกเขาเห็น และมันจะเป็นเครื่องพิสูจน์เป็นเครื่องจูงใจ เมื่อพวกเขาได้เห็นสิ่งที่เราสร้าง เมื่อพวกเขาได้เห็นอนาคตใหม่ ซึ่งมันดีกว่าชีวิตที่พวกเขาใช้อยู่ วันนั้นเองที่พวกเขาพร้อมจะเปลี่ยน แล้วมาสมาทานตามอนาคตใหม่ ที่เราได้วางไว้อย่างแน่นอน'


วอยซ์ ออนไลน์ : การเมือง-คนรุ่นใหม่ ในมุมมองเพนกวินคืออะไร

เพนกวิน : การเมืองใหม่ของคนรุ่นใหม่ มันคือการเมืองของการสร้างสรรค์ คือในเวลาที่ผ่านมา เวลาเราพูดถึงการเมือง เราจะพูดความขัดแย้ง เราจะพูดถึงการแก่งแย่งชิงดี ซึ่งจริงๆการเมืองไม่จำเป็นต้องมีความหมายอย่างนั้น การเมืองมันจะแปลว่าความสร้างสรรค์ก็ได้ การเมืองแปลว่าอนาคตก็ได้

ผมคิดว่าสิ่งหนึ่ง อายุมันมีผลระดับนึงคือความกล้าที่จะคิดถึงสิ่งใหม่ๆ สิ่งที่คนรุ่นผมมีคือความฝัน ซึ่งมันมีสิทธิที่จะเป็นไปได้ ผมคิดว่าถ้าเรามีการเมืองใหม่ของคนรุ่นใหม่ เราจะมีชีวิตที่ดีขึ้น เราจะมีระบบสวัสดิการ��ี่ดีขึ้น เราจะมีช่องทางให้คนทั่วไปมามีส่วนร่วม มาร่วมกำหนดอนาคตของตัวเองมากขึ้น และเราจะมีความหลากหลายมากขึ้น สุดท้ายเมื่อทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น ความสงบของสังคมมันจะกลับคืนมา

6-3-2561 13-16-39.jpg

ส่วนการเมืองในมุมมองของผมคือการแบ่งปันว่าใครจะได้อะไร มากน้อยขนาดไหน ผมคิดว่าหน้าที่ของใครก็ตามที่คิดเข้าไปยุ่งกับการเมือง ที่จะเคลมตัวเองว่าเพื่อประชาชน เพื่อประชาธิปไตย เราต้องพยายามสรรหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับประชาชน

ทุกวันนี้ประเทศเราถูกถือครองด้วยคนไม่กี่คน การตัดสินใจทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับคนไม่กี่คน แม้กระทั่งที่ดินก็เห็นชัดว่าถือครองโดยคนไม่กี่คน ขณะที่คนจำนวนมากคือเกือบทั้งหมดประเทศไม่มีอะไรเลย ผมคิดว่าถ้าการเมืองใหม่ของเรามันสามารถเกิดขึ้นได้จริง ชีวิตของเพื่อนร่วมชาติหลายล้านคน จะมีโอกาสในการพัฒนาดีกว่าที่มีอยู่ในทุกวันนี้ 

วอยซ์ ออนไลน์ : โมเดลคนรุ่นใหม่ในการเมืองใหม่ของเพนกวินคืออะไร

เพนกวิน : คือเวลาเราพูดถึงเรื่องการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ในทางการเมือง ส่วนมากคนจะนึกถึงในเรื่องก่อม็อบ การออกไปชูป้าย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาคือเราก่อม็อบแล้วก็หายสูญ เราปราศรัยแล้วก็หายสูญ เราจะทำอย่างไรให้การเคลื่อนไหวของเรามันมีความยั่งยืนมันมีความต่อเนื่อง และจะเป็นไปได้ต่อไปเรื่อยๆ

ผมคิดว่าเราต้องสู้กันในเชิงสถาบัน คือสู้กันในแง่ที่ว่าเราตั้งกลุ่มตั้งองค์กรสถาบันอะไร เพื่อแบ่งผลประโยชน์ของคนรุ่นใหม่ อาจจะมีสถาบันหรือโรงเรียนของคนรุ่นใหม่ แต่ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญคือการมีพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ ตราบใดที่ประเทศเรายังคงปกครองในระบอบประชาธิปไตยรัฐสภา 

ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่เราควรจะมีโอกาสในการเข้าถึงอำนาจ ทุกวันนี้เวลาคนรุ่นใหม่ต้องการอะไร เราก็ต้องไปคุยกับพรรคการเมือง ซึ่งพรรคการเมืองเกือบจะทุกพรรคก็นำโดยคนแก่ ถ้าคุณคิดว่าการคุยกับครูบาอาจารย์หรือคนที่อายุต่างกันมันยากลำบากแล้ว การคุยกับคนแก่ที่มีอำนาจแล้วยังยากลำบากกว่า

 

"สุดท้ายแล้วการที่เราต้องไปขอให้คนแก่ฟังเรา เพื่อจะเอาความต้องการของเราไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม มันเป็นเรื่องที่ยากลำบากและสุดท้ายเราจะไม่ได้สิ่งที่เราต้องการจริงๆ ผมคิดว่าสิ่งที่เราควรทำคือการเข้าไปมีอำนาจเสียเอง คนรุ่นใหม่ย่อมเข้าใจคนรุ่นใหม่ได้ดีกว่าคนรุ่นเก่า พวกเราควรมีสิทธิที่จะเลือกคนรุ่นใหม่เข้าไปมีอำนาจในการเมือง"