ไม่พบผลการค้นหา
ปีที่แล้วปลากัดส่งออกได้ 23 ล้านตัว เป็นเงินกว่า 130 ล้านบาท แต่จริงๆ แล้วคนไทยผูกพันกับปลากัดมาอย่างยาวนาน กระทั่งมีปลากัดเป็นที่มาของสำนวนไทยมากมาย

เรื่องร้อนๆ ของแวดวงสัตว์เลี้ยงสวยงามตอนนี้ ไม่พ้นเรื่องการล่ารายชื่อสนับสนุน 'ปลากัด' เป็นสัตว์น้ำประจำชาติ หลังจากเมื่อปลายปีที่แล้วเคยมีการเสนอเรื่องนี้ให้ที่ประชุม ครม.แล้วโดนปัดตกเฉย คนเสนอเรื่องเซ็งไปตามๆ กัน

จริงๆ เรื่องนี้ชงโดย 'กรมประมง' โดยได้แรงหนุนจากสมาคมปลากัดต่างๆ รวมถึงผู้เพาะพันธุ์ และผู้นิยมปลากัด เป้าประสงค์หลักๆ ก็คือการอนุรักษ์ และสร้างมูลค่าเพิ่มจากปลานักสู้ชนิดนี้ที่ยังสามารถต่อยอดได้อีกยาว


เรื่องเล่าสนุกๆ ของปลากัด

ว่ากันตามจริง ปลากัดถูกบันทึกในเอกสารประวัติศาสตร์หลายชิ้น ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับเรื่องการพนัน และการละเล่นสนุกสนาน เช่น เอกสาร 'เล่าเรื่องกรุงสยาม' ของ 'ปาลเลกัวซ์' ก็พูดถึงการกัดปลาสนุกสนานของเด็กๆ

ขณะที่ 'ตำนานเรื่องเลิกหวยแลบ่อนเบี้ยในกรุงสยาม' พระนิพนธ์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ระบุว่า ในสมัยรัชกาลที่ 4 ใครจะชนไก่ ชนนก กัดปลา ต้องเสียภาษีอากรบ่อนเบี้ยในแขวงที่จะเล่นก่อนจึงจะสามารถเล่นพนันได้

ด้วยความที่ปลากัดใกล้ชิดกับวิถีชีวิตประจำวัน ทำให้อากัปกิริยาของมันกลายเป็นคำสำนวนปาก เช่น ถอดสี, ก่อหวอด, ลูกไล่, ลูกหม้อ ใช้มานมนานเข้าใจกันดีโดยไม่ต้องอธิบาย

นอกจากนี้ยังมีสำนวนแปลกๆ จากปลากัด เช่น ในหนังสือ 'ราชาธิราช' เล่ม 14 ของวัดเกาะ รัตนโกสินทร์ศก 108 เล่าถึงตอนสมเด็จพระเจ้าราชาธิราช ปูนบำเหน็จให้ 'สมิงพระตะเบิด' ที่ฆ่าพระยาพุกามตายในที่รบ และชื่นชมว่า

"สมิงพระตะเบิดนี้อายุก็แก่อยู่แล้ว แต่กำลังยังกล้าแข็งมีฝีมือเอาชัยชนะหนุ่มได้ ราวกับไก่แก่แม่ปลากัดที่ตัวเก่ง"

ปลากัด

ถ้าเป็นสมัยนี้เราเคยได้ยินแต่คำว่า 'ไก่แก่แม่ปลาช่อน' ที่หมายถึงหญิงกร้านโลก อุปมาแม่ปลาช่อนที่มีลูกครอก ต้องผ่านประสบการณ์ชีวิตมาเยอะ แต่ในหนังสือสำนวนเก่าเล่มนี้กลับใช้คำว่า 'ไก่แก่แม่ปลากัด' เข้าทำนองขิงยิ่งแก่ยิ่งเผ็ด นี่ก็คงได้คำมาจากกิริยาของปลากัดที่สู้ไม่ถอย แม้เป็นสำนวนที่ไม่มีใครใช้แล้วในปัจจุบัน แต่ก็แสดงถึงความช่างสังเกตสังกาของคนสมัยก่อนที่มีต่อสัตว์เลี้ยงได้เป็นอย่างดี


ปลากัดสัตว์เศรษฐกิจ

นอกจากทรงอิทธิพลต่อภาษา ปลากัดตัวเล็กๆ ยังสร้างเม็ดเงินอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อปีที่แล้วด่านตรวจสัตว์น้ำท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้จัดทำสถิติการส่งออกสัตว์น้ำสวยงาม 10 อันดับแรก และพบว่า 'ปลากัด' มีปริมาณการส่งออกสูงสุดถึง 23,214,012 ตัว คิดเป็นมูลค่า 130,325,586.73 บาท ทิ้งห่างอันดับ 2 คือ 'ปลาหางนกยูง' ที่มีการส่งออกอยู่ราว 14 ล้านตัว นี่แสดงให้เห็นว่าต่างชาติชื่นชอบปลากัดบ้านเราขนาดไหน โดยเฉพาะเพื่อนบ้านมาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ นั้นถึงขนาดต้องมาดุ่มเดินที่จตุจักรเพื่อหาซื้อปลาตัวงามๆ ไปบรีดต่อกันเลยทีเดียว

ปลากัด

ถ้าย้อนไปตอนเด็กๆ เชื่อว่าปลากัดในความทรงจำของหลายๆ คนคงจะไม่ได้สีสันอลังการงามหยดแบบทุกวันนี้ แม้แต่ในเอกสารวชิรญาณวิเศษ รัตนโกสินทร์ศก 110 ก็ยังบันทึกเลยว่า

"...ปลากัดรูปร่างก็ไม่น่ารักเลี้ยงก็ไม่สู้ยาก แต่เปนสัตว์ไม่งาม..."

ที่เป็นแบบนั้นก็เพราะปลากัดพื้นถิ่นอยู่กันตามแหล่งน้ำธรรมชาติ แพร่พันธุ์ไปตามเรื่อง แต่ก็ได้เหล่านักเลงปลากัดนี่แหละ นำมาเลี้ยงอย่างเป็นระบบ พัฒนาสายพันธุ์เรื่อยมาตลอดระยะเวลายาวนาน

ปลากัด

ยกตัวอย่างง่ายๆ เมื่อสิบยี่สิบปีก่อนตามท้องตลาดอาจซื้อหาปลากัดได้ไม่กี่แบบ เช่น ปลากัดจีน ปลากัดลูกหม้อ แต่มาถึงตอนนี้ คุณจะได้พบกับปลากัดป่า ทั้งสายพันธุ์ดั้งเดิม และไฮบริดสีแปลกตา, ปลากัดแฟนซีหางสั้น หางยาว หางคู่ หางมงกุฎ หางกุหลาบ ปลากัดยักษ์ ปลากัดหูช้าง ปลากัดดราก้อน ไปจนถึง 'ปลากัดโค่ย' ที่ดูเหมือนปลาคาร์ปย่อส่วน

ความสามารถในการพัฒนานี้เองที่เรียกว่า 'ภูมิปัญญา' แม้ไม่สามารถประเมินค่าได้ แต่เชื่อเถอะว่ามันจะสามารถ 'สร้างมูลค่า' ได้จากนี้อีกมหาศาล การยกปลากัดขึ้นเป็นสัตว์น้ำประจำชาติจึงเหมือนความพยายามขั้นแรกในการยกระดับภูมิปัญญา ไม่ต่างจากการที่เราพยายามผลักดันการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาอื่นๆ

จากนี้คงต้องเอาใจช่วย 'ปลากัด' กันยาวๆ

ปลากัด


วิฬาร์ ลิขิต
เสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ตามแต่ปากอยากจะแกว่ง เรื่องที่คนทั่วไปสนใจ หรือใครไม่สนใจแต่ฉันสนใจฉันก็จะเขียน การตีความที่เกิดขึ้นไม่ใช่ที่สุด ถ้าจุดประเด็นให้ถกเถียงได้ก็โอเค แต่ถึงจุดไม่ติดก็ไม่ซี เพราะคิดว่าสิ่งที่ค้นๆ มาเสนอ น่าจะเป็นประโยชน์กับใครบ้างไม่มากก็น้อยในวาระต่างๆ จะพยายามไม่ออกชื่อด่าใครตรงๆ เพราะยังต้องผ่อนคอนโด แต่จะพยายามเสนอ Hint พร้อมไปกับสาระประวัติศาสตร์ที่คิดว่าน่าสนใจและเทียบเคียงกันได้
2Article
0Video
66Blog