ไม่พบผลการค้นหา
'วอยซ์ ออนไลน์' พาไปเรียนรู้วัฒนธรรมการดื่มชาของญี่ปุ่น ผ่านการเพนต์ถ้วยชาในสไตล์เกียวโต ภาพงานศิลปะที่สะท้อนบนถ้วยชงชาบ่งบอกถึงวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของท้องถิ่นในฤดูกาลที่หมุนเวียนในแต่ละปี

คุนิคิ กาโต ศิลปินผู้ประกอบงานศิลป์เพนต์ถ้วยชงชาจากเกียวโตกล่าวกับวอยซ์ออนไลน์ว่า ถ้วยชงชาเปรียบเสมือนตัวแทนของ 'ผู้หญิง' และการเพนต์ลวดลายต่างๆ ลงบนถ้วยชานั้นก็เหมือนกับการสวมใส่กิโมโนให้แก่หญิงสาว สีสันที่แต่งแต้มลงบนถ้วยชงชาก็เหมือนกับสีเสื้อผ้าและลวดลายที่ฉูดฉาดของกิโมโน อันเป็นเอกลักษณ์ของเมืองเกียวโต เมืองหลวงเก่าของญี่ปุ่นแห่งนี้ 

_MG_0181.JPG

สำหรับวัฒนธรรมการดื่มชานั้น 'กาโตซัง' กล่าวว่า คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญในเรื่องฤดูกาลต่างๆ เป็นอย่างมาก การดื่มชานั้นจะต้องเปลี่ยนถ้วยชงชาตามฤดูกาล ดังนั้นลวดลายบนถ้วยชงชาของญี่ปุ่นจึงจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามเดือนตามฤดูเช่นกัน อย่างเช่น ช่วงเดือนมีนาคมที่กำลังเริ่มเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ลวดลายบนถ้วยชงชานั้นก็จะเปลี่ยนเป็นรูปหรือเรื่องราวของดอกซากุระที่กำลังจะเบ่งบานในเดือนเมษายน 

นอกจากนี้ ถ้วยชงชาของกาโตซังจะใช้ดินท้องถิ่นของเกียวโตที่เรียกว่า ดินเซ แล้วนำมานวด โดยจะนวดดินเป็นรูปดอกเบญจมาศ สำหรับไล่อากาศที่อยู่ในดินให้ออกไป กาโตซังกล่าวว่าขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก เพราะหากไล่อากาศในเนื้อดินออกไม่หมด จะส่งผลให้ถ้วยแตกขณะเผา

_MG_0178.JPG

หลังจากนวดดินแล้วจะนำไปขึ้นรูปเป็นถ้วยชงชา ซึ่งจะคำนึงถึงไซส์ น้ำหนัก เส้นผ่าศูนย์กลางของถ้วยและรูปร่างของถ้วยที่จะต้องเท่ากันทุกถ้วย จากนั้นจะนำไปเผารอบที่ 1 ที่เรียกว่า ‘ซึยากิ’ ในอุณหภูมิประมาณ 750 - 850 องศาเซลเซียส เพื่อให้น้ำระเหยออกจากดินก่อนจะนำไปลงตัวเคลือบที่มีลักษณะเป็นแก้ว และนำไปเผาอีกครั้งที่อุณหภูมิ 1,000 -1,300 องศาเซลเซียส โดยใช้เวลาประมาณ 12 ชั่วโมง

สำหรับการลงสีนั้น กาโตซังบอกว่า ถ้วยชงชาในแต่ละจังหวัดของญี่ปุ่นจะมีความแตกต่างกันไป อย่างในจังหวัดอิชิกาวา มีการเพนต์ถ้วยชงชาในสไตล์ 'คุตานิยากิ' ซึ่งจะใช้สีในการเพนต์ถ้วยชาเพียงแค่ 5 สีเท่านั้น ขณะที่ผู้ผลิตถ้วยชงชาบางรายในเกียวโตใช้สีถึง 50 สีในการสร้างงานศิลปะบนถ้วยชงชา 

_MG_0176.JPG

นอกจากนี้ กาโตซังยังพาทีมงานวอยซ์ออนไลน์ชมถ้วยชงชาตามเดือนต่างๆ ที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ด้วย โดยเริ่มจากถ้วยชงชาเดือนมกราคมที่เป็นรูป 'สุนัข' เนื่องจากเป็นเดือนแรกของปี ส่งสัญญาณต้อนรับปีจอในปีนี้ 

ขณะที่ถ้วยชงชาของเดือนมีนาคมเป็นรูปเด็กผู้หญิง เนื่องจากในเดือนมีนาคมจะมีวันเด็กผู้หญิงของญี่ปุ่น และถ้วยชงชาของเดือนพฤษภาคมก็เป็นรูปปลาคาร์ป เพราะเป็นเดือนที่มีการฉลอง 'วันเด็กผู้ชาย' ของญี่ปุ่น ซึ่งมีปลาคาร์ปเป็นสัญลักษณ์

_MG_0186.JPG

เมื่อย่างเข้าฤดูฝน ถ้วยชงชาต้อนรับฤดูฝนนั้นเป็นรูปดอก 'อาจิไซ' ที่จะบานในฤดูฝนเท่านั้น และในฤดูร้อนอย่างเดือนสิงหาคม ลวดลาดบนถ้วยชงชาเป็นรูปของดอก 'อาซากาโอ' ซึ่งเป็นดอกไม้ที่จะบานเฉพาะช่วงเช้าเท่านั้น พอสายๆ เมื่อถูกความร้อนดอกไม้ก็จะหุบทันที

และเมื่อย่างเข้าสู่ฤดูหนาวในเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม ลวดลายของดอกซึตะและดอกซึบากิก็จะปรากฎอยู่บนถ้วยชา เพื่อเป็นตัวแทนบ่งบอกถึงหน้าหนาวที่กำลังจะมาถึง

_MG_0190.JPG_MG_0194.JPG

หากใครสนใจเรื่องราวศิลปะของการเพนต์ถ้วยชงชาในแบบฉบับเกียวโตสามารถแวะเข้าร่วม Workshop ได้ที่บูธS26 ในงานNIPPON HAKU BANGKOK 2018ที่จัดขึ้น ณ รอยัล พารากอนฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยจะมีการสอนเพนต์ถ้วยชงชาในแต่ละวัน 3 รอบ ได้แก่ช่วงเวลา 11.00 น. 14.00 น.และ 16.00 น.

_MG_0192.JPG