ไม่พบผลการค้นหา
สธ. แถลงพบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่ม 122 ราย ทำให้ยอดสะสมเพิ่มเป็น 721 ราย ทั้งยังขอให้ประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนากักตัวเอง 14 วัน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค

วันที่ 23 มี.ค. 2563 นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 10 และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า วันนี้มีผู้ป่วยกลับบ้านได้ 7 ราย และมีผู้ป่วยเพิ่ม 122 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่มดังนี้  

  • กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ จำนวน 20 ราย ได้แก่ กลุ่มสนามมวย 4 ราย และกลุ่มผู้สัมผัสกับผู้ป่วยที่มีรายงานมาแล้ว 16 ราย
  • กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 10 ราย ได้แก่ กลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศ/ชาวต่างชาติ 4 ราย,กลุ่มผู้ทำงานหรืออาศัยในสถานที่แออัดต้องใกล้ชิดคนจำนวนมาก หรือเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ 6 ราย
  • กลุ่มที่ 3 ผู้ที่ได้รับผลยืนยันทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อแต่อยู่ระหว่างรอประวัติและสอบสวนโรค 92 ราย

สำหรับผู้ป่วยอาการหนักมี 7 ราย จาก สถาบันบำราศนราดูร โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ โรงพยาบาลในสังกัดโรงเรียนแพทย์ และโรงพยาลบาลเอกชน ทุกรายใส่เครื่องช่วยหายใจ และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยสรุปมีผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว 52 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 668 ราย เสียชีวิต 1 ราย รวมสะสม 721 ราย

ขณะนี้มีแนวโน้มผู้ติดเชื้อรายใหม่ในต่างจังหวัดเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีประชาชนบางส่วนเดินทางกลับภูมิลำเนาทั้งก่อนและหลังที่จะมีประกาศปิดสถานที่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ขอให้รายงานตัวต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ได้แก่ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด, ผู้ว่าราชการจังหวัด, ผอ.โรงพยาบาล, นายอำเภอ, สาธารณสุขอำเภอ, กำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน, อสม., ผู้นำชุมชน ทันทีทุกคน พร้อมทั้งให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ให้กักกันตัวเองที่บ้านอย่างเคร่งครัด อย่างน้อย 14 วัน ไม่อยู่ใกล้ชิดผู้อื่น เว้นระยะห่างระหว่างกัน 1 -2 เมตร งด/ลด การเดินทางโดยไม่จำเป็น ไม่ไปในพื้นที่แออัด และแยกสำรับอาหาร สังเกตอาการหากมีไข้ มีอาการระบบทางเดินหายใจ รีบพบแพทย์ทันที

โดยเฉพาะผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูง อาทิ ผู้ชม ผู้ทำงาน ในสนามมวย สถานบันเทิง ที่กลับไปภูมิลำเนา พ่อ แม่ ภรรยา สามี ลูก หลาน หรือผู้สัมผัสใกล้ชิดกับกลุ่มดังกล่าวมีโอกาสติดเชื้อได้ การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การกักกันตัวเอง รักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)

ขอย้ำผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหากยังไม่มีอาการ ไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ให้กักกันตนเองอย่างเคร่งครัด เว้นระยะห่างทางสังคม ที่สำคัญยังไม่ต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อ เพราะหากยังไม่มีอาการโอกาสตรวจพบเชื้อมีน้อยมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าตัวเองไม่ป่วย ยังคงมีกิจกรรมทางสังคม ขาดการระมัดระวังตัวเอง แต่หากเมื่อป่วยภายหลังจะทำให้ผู้ใกล้ชิดมีโอกาสรับเชื้อ กลายเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และเจ็บป่วยตามมาอีกจำนวนมาก จากข้อมูลการตรวจทางห้องปฏิบัติการล่าสุดมีผู้มาขอรับการตรวจทั้งหมด 30,000 ตัวอย่าง ในจำนวนนี้เป็นผู้อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง (PUI) ประมาณ 10,000 ราย ผลยืนยันพบเชื้อเพียง 400 ราย