ไม่พบผลการค้นหา
ในโอกาสครบรอบวันเกิด 4 ปีของฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากการทำคลอดของคณะรัฐประหาร นามว่า ‘คณะรักษาความสงบแห่งชาติ’(คสช.) ‘วอยซ์ ออนไลน์’ ชวนย้อนทบทวนบทบาทของบรรดานักลากตั้ง ผู้ทำหน้าที่นิติบัญญัติคู่ขนานไปกับรัฐบาลจากคณะรัฐประหาร

คล้อยหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทุบโต๊ะยึดอำนาจจากนักการเมืองราว 2 เดือน ก็ทำคลอดสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออกมาเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2557 ก่อนจะเปิดประชุมนัดแรกเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2557

  • สภาลากตั้ง 4 ปีฟาดเงินเดือนรวมกว่า 1 พันล้านบาท

เริ่มจากค่าจ้างดีดลูกคิดตามประกาศ พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เงินประจําตําแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่น ของผู้ดํารงตําแหน่งตามรัฐธรรมนูญบางตําแหน่ง พ.ศ. 2557

ประธาน สนช. เงินประจำตำแหน่ง 75,590 บาท เงินเพิ่ม 50,000 บาท รวม 125,590 บาทต่อเดือน รวม 4 ปี มีเงินเดือน 6,028,320 บาท

รองประธาน สนช. เงินประจำตำแหน่ง 73,240 บาท เงินเพิ่ม 42,500 บาท รวม 115,740 บาทต่อเดือน มี 2 คน ตกคนละ 5,555,520 บาท รวม 4 ปี คิดเป็น 11,111,040 บาท

สมาชิก สนช. เงินประจำตำแหน่ง 71,230 บาท เงินเพิ่ม 42,330 รวม 113,560 บาท ตลอด 4 ปี มีการทยอยแต่งตั้งเพิ่ม ตลอดจนมีสมาชิกสนช.ลาออกหรือเสียชีวิต

เมื่อคิดโดยประมาณ จะมีสมาชิกสนช.ราว 210 คน ได้เงินเดือนตลอดระยะ 4 ปี หรือเฉลี่ยได้ค่าจ้างคนละ 5,450,880 บาท

ส่วนนี้เงินค่าตอบของ สนช. อีก 1,144,684,800 บาท จ่ายให้กับสมาชิก สนช. อีก 30 คน ที่ได้รับแต่งตั้งมาราวเดือน ต.ค. 2559 จะได้เงินเดือน 23 เดือน ตกคนละ 2,611,880 รวมส่วนนี้ 78,356,400 บาท

สรุป ค่าเหนื่อยสภาแต่งตั้งยุค คสช. ตลอด 4 ปี คิดเป็นอย่างน้อย 1,240,180,560 บาท ซึ่งยังไม่รวมสิทธิประโยชน์อื่นๆ เช่นค่ารักษาพยาบาล ค่าเดินทาง แถมฟรีอยู่ยาวแตะ 5 ปี โดยไม่ต้องถูกตรวจสอบและไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง


รัฐสภา พรเพชร สุรชัย พีระศักดิ์ สนช สภานิติบัญญัติแห่งชาติ 00_Hkg10087411.jpg
  • 4 ปี ปั๊มกฎหมายไวกว่ารัฐบาลเลือกตั้ง

แล้วเงินทุกบาททุกสตางค์จะคุ้มค่าแค่ไหน คงต้องประเมินจากผลการดำเนินการตามภารกิจและอำนาจหน้าที่ของสนช. ดังนี้

งานด้านการพิจารณากฎหมาย - สารบบร่างพระราชบัญญัติ ของสำนักการประชุม สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ข้อมูล ณ วันที่ 31 ก.ค. 2561 ระบุว่า มีร่าง พ.ร.บ.ที่ สนช.รับมาทั้งสิ้น 366 ฉบับ แบ่งเป็น คสช.เสนอ 21 ฉบับ ครม. เสนอ 300 ฉบับ และสมาชิก สนช. เสนอ 45 ฉบับ

ทั้งนี้ สนช. ลงมติเห็นสมควรประกาศใช้เป็นกฎหมายทั้งสิ้น 286 ฉบับ รอประกาศในราชกิจานุเบกษา 4 ฉบับ

หากรวมกับพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ จำนวน 10 ฉบับที่ สนช. ให้ความเห็นชอบแล้ว มีการประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้ว 8 ฉบับ เหลืออีก 2 ฉบับรอประกาศในราชกิจานุเบกษา คือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส .ส. และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.

เท่ากับว่าตลอด 4 ปี สนช.ผ่านกฎหมายไปแล้ว 300 ฉบับ เฉลี่ยปีละ 75 ฉบับ หากเทียบเคียงกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง นับจาก 29 ม.ค. 2551 – 7 พ.ค. 2557 จะพบว่า ตลอด 6 ปี มีการผ่านกฎหมายจำนวน 119 ฉบับ หรือ เฉลี่ยปีละ 19 ฉบับ

จริงอยู่ที่โครงสร้างของสภาแตกต่างกันที่การเป็นสภาเดี่ยวในช่วงรัฐประหาร กับสภาคู่ในช่วงประชาธิปไตย แต่ปริมาณของกฎหมายที่ออกมาต่างกันถึง 4 เท่า ในรอบ 6 ปี กับ 4 ปี นั้น แม้จะผลิตกฎหมายออกมาจำนวนมาก แต่กฎหมายบางฉบับกลับยิ่งนำไปสู่การลิดรอนและละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากขึ้น

เหมือนที่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.และที่ปรึกษาคสช. เคยเล่าถึงเบื้องหลังของการมีมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่กำหนดให้มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านก่อนออกกฎหมาย เนื่องจาก กฎหมายไทยที่ยิ่งวันยิ่งมากขึ้นถึง 2 พันฉบับ ไม่ใช่เรื่องดี สังคมไม่ได้สงบเรียบร้อย ฉะนั้น ผลงานดีเด่นของสภาคือกฎหมายเยอะๆใช่หรือไม่

ปริมาณกฎหมายจากโรงงาน สนช.จึงดูจะเป็นภาระให้ สภาเลือกตั้งชุดต่อไปต้องเข้ามาทำการสังคายนาขนานใหญ่

สภาในระบบไม่ปกติ ยังถูกตั้งแง่ถึงการทำหน้าที่เพื่อมุ่งเน้นตอบสนองต่อรัฐบาล คสช.อย่างไร้เสียงค้ดค้าน ตัวอย่างคือ การพิจารณา พ.ร.บ.ที่สำคัญ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ และงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมหรืองบกลางปี รวมวงเงิน ตลอด 5 ปี จะอยู่ที่ 14 ล้านล้านบาท

ขณะที่ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สนช. ใช้เวลาพิจารณาเพียง 1 ชั่วโมง ก็ชูมือให้ผ่านอย่างง่ายดายไร้เสียงท้วงติง

อีกทั้งยัง ไม่นับกฎหมายชุดความมั่นคงที่ติดเกราะและเสริมคมให้ คสช. เพื่อเอาไว้ใช้ป้องกันปิดปากและเล่นงานกับคนเห็นต่าง อาทิ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เป็นต้น



ยุทธศาสตร์ชาติ สภา รัฐสภา G_5005.jpg

ส่วนกฎหมายที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวาง ที่หลายฝ่ายเชื่อมั่นว่าจะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ อย่าง ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.... ที่ สนช.ลงมติรับหลักการวาระแรกไปเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2560 ล่าสุด คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ก็เสนอขอขยายเวลาต่อที่ประชุมใหญ่ออกไปแล้ว 8 ครั้ง ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 21 ก.ย. 2561 นี้ รวมระยะเวลาพิจารณาในชั้น กมธ. 1 ปี 6 เดือน โดยยังไม่มีความคืบหน้า

ส่วนร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. .... สนช.ลงมติรับหลักการวาระแรกไปเมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2560 กมธ.วิสามัญ ก็เสนอขอขยายเวลาต่อที่ประชุมใหญ่ออกไปแล้ว 5 ครั้ง ซึ่่งครบกำหนดในวันที่ 11 ส.ค. 2561 เป็นเวลา 1 ปี พอดี

สุดท้ายจะกลายเป็นแค่คำคุยโวของ คสช. ที่จะให้เป็นกฎหมาย 4 ชั่วโครตรนี้ปราบโกงได้หรือไม่ ต้องติดตาม

  • ชงกระทู้ถามตรวจสอบรัฐบาลเลือกตั้ง

ขณะที่งาน ด้านการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน - กระทู้ถาม สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้จัดทำรายงาน การติดตามและประเมินผล ระหว่าง เดือน ส.ค. 2557- เดือน ก.ย. 2560 พบว่า ตลอด 3 ปีกว่า มีการตั้งกระทู้ถาม จำนวนทั้งสิ้น 59 ครั้ง แบ่งเป็น ปี 2557 จำนวน 1 ครั้ง ปี 2558 จำนวน 26 ครั้ง ปี 2559 จำนวน 22 ครั้ง และ ปี 2560 จำนวน 10 ครั้ง

เจ้าของแชมป์ตั้งกระทู้ถามเป็นของครูหยุย วัลลภ ตังคณานุรักษ์ จำนวน 28 ครั้ง ซึ่งตั้งกระทู้ถามได้ตั้งแต่ กสทช. ยัน ผู้สูงอายุ

ส่วนหัวข้อซักถาม แม้สมาชิก สนช.ที่ไมได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็มีหลายประเด็นก็พุ่งไปยังปัญหาของพี่น้องเกษตรกร บางครั้งก็ยังมุ่งเน้นตรวจสอบรัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ ที่ คสช.ยึดอำนาจมา

เช่น กระทู้ถาม "ความคืบหน้าการดำเนินคดีทางแพ่งต่อผู้กระทำความผิดโครงการรับจำนำข้าว" และ "นโยบายโครงการรับจำนำข้าว" โดยนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิก สนช. อดีตกปปส.ชาวนา จาก จ.พิจิตร

หรือ "นโยบายเรียกค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ซึ่งถามโดย นายสมชาย แสวงการ เลขานุการวิป สนช. ผู้คร่ำหวอดในแวดวงรัฐสภา ครองตำแหน่งนักลากตั้งประเภท ส.ว.สายสรรหาและ สนช.จากรัฐประหารตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน

ขณะที่ กมธ.สามัญประจำสนช.ทั้ง 16 คณะ ส่วนใหญ่ไม่ให้เข้าฟังการพิจารณา แต่ก็มีการจัดทำรายงานออกมาอย่างต่อเนื่อง มีการเดินทางไปศึกษาดูงานทั้งต่างจังหวัดและต่างประเทศ บางครั้งก็หอบสมาชิกในครอบครัวไปช่วยกันเรียนรู้ประสบการณ์ต่างแดน หวังกลับมาพัฒนาชาติไทย

เช่น กมธ.การวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สารสนเทศ และการสื่อสารมวลชน ไปเยือน สาธารณรัฐบัลแกเรียและโรมาเนีย ระหว่างวันที่ 23 เม.ย. - 1 พ.ค. 2561 เพื่อประชุมทิวภาคีและศึกษาดูงาน กำหนดการแน่น ศึกษาประวัติศาสตร์ชาติยุโรป เยือนพิพิธภัณฑ์ หารืองานวิจัยและพัฒนา นวัตกรรม เทคโนโลยี การเพิ่มผลิตผลทางเกษตร

ทริปจำนวน 30 คน แบ่งเป็น กมธ. 15 คน ข้าราชการ 2 คน และผู้ติดตาม 13 คน พบว่า พล.อ.อ.ชาลี จันทร์เรือง ประธานกมธ. มีนางเดือนเพ็ญ จันทร์เรือง ภรรยา ติดตาม พล.อ.กิตติพงษ์ เกษโกวิท กมธ. มี พญ.เพ็ญศรี เกษโกวิท ภรรยาและน.ส.พิชญา เกษโกวิท บุตรสาว ติดตาม นายชาญวิทย์ วสยางกูร กมธ. มีนางกัณณิกา วสยางกูร ภรรยา ติดตาม พล.อ.อ.ณรงค์ศักดิ์ สังขพงศ์ กมธ. มี น.ท.หญิงเพียงมาศ สังขพงศ์ ภรรยา ติดตาม

พล.ร.อ. ธราธร ขจิตสุวรรณ กมธ. มี พล.ร.ต.หญิง พวงพลอย ขจิตสุวรรณ ภรรยา ติดตาม พล.ร.อ.วีระพันธุ์ สุขก้อน กมธ.มีนางวชิราภรณ์ สุขก้อน ภรรยา ติดตาม และนางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ ที่ปรึกษากมธ. มีนายชนิน ลีวิโรจน์ สามี ติดตาม

งานด้านการแต่งตั้งบุคคล - โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ รวบรวมข้อมูลไว้ว่า สนช.เห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่ง อย่างน้อย 13 องค์กร รวมถึงองค์กรอิสระที่มีหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลด้วย บางหน่วยงานก็ยกมือหนุนสมาชิก สนช.ด้วยกันเอง หลายรายก็เป็นข้าราชการทหารและข้าราชการตำรวจ ภาพรวมทั้งหมดเป็นการลงมติเห็นชอบ 60 ตำแหน่ง ไม่เห็นชอบ 19 ตำแหน่ง

หลักเกณฑ์การลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ก็ยากจะทำความเข้าใจบรรทัดฐาน จนถูกมองว่าอาจตอบสนองใครบางคนใน คสช. เด่นชัดล่าสุด คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สนช.เห็นชอบ 5 ราย และคว่ำ 2 ราย เหตุผลสำหรับคนไม่ผ่านการคัดสรรคือ หวั่นเกรงจะมีผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากมีเรื่องร้องเรียนเยอะ

ทว่า นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) 1 ในแม่น้ำ 5 สาย ที่คสช.เป็นผู้แต่งตั้ง กลับได้รับความเห็นชอบจากสมาชิก สนช. อย่างไร้ข้อกังขาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนและความเป็นกลาง ที่จะมาทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งครั้งสำคัญ ในรอบ 8 ปี สำหรับคลิปเสียงปริศนาอ้างนายกฯไม่ปลื้ม ว่าที่บอร์ดกสทช.จนถูกตีตก การตรวจสอบก็ยังไม่พบที่มาที่ไป

สมาชิก สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สนช สภา Hkg10141106.jpg
  • ล้างบางนักการเมืองขั้ว 'เพื่อไทย' ก่อน รธน. 60 บังคับใช้

สภาลายพรางชุดนี้ยังปฏิบัติหน้าที่อย่างแข็งขัน ก่อนที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 จะประกาศใช้ ในช่วง 3 ปีแรก ได้ใช้อำนาจของวุฒิสภา ทั้งที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งถูกรับรองโดยรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ลงมติถอดถอนนักการเมืองและข้าราชการ

จนถูกมองว่าไล่ล่ากำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง โดยเหยื่อที่ถูกถอดถอนมีนักการเมือง 8 คน และข้าราชการ 1 คน ประกอบด้วย

  • 1. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในคดีปล่อยปละละเลยจำนำข้าว
  • 2. นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ คดีระบายข้าวจีทูจี
  • 3. นายภูมิ สาระผล คดีระบายข้าวจีทูจี
  • 4. นายประชา ประสพดี คดีแทรกแซงคณะกรรมการองค์การตลาด
  • 5. พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต แทรกแซงแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล
  • 6. อุดมเดช รัตนเสถียร เสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มา ส.ว.
  • 7.นริศร ทองธิราช เสียบบัตรแทนคนอื่นในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาส.ว.
  • 8. สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ออกพาสสปอร์ตให้นายทักษิณ ชินวัตร
  • 9.มนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ คดีระบายข้าวแบบจีทูจี
ถอดถอน ยิ่งลักษณ์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สนช 00_Hkg10135287.jpg

แม้จะถอดถอนนักการเมืองในระดับหัวแถวของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย แต่ขณะเดียวกัน สนช.ก็ลงมติไม่ถอดถอนนักการเมือง ประกอบด้วย

  • นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา ในคดีพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ประ���ด็นที่มา ส.ว.
  • นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ในประเด็นพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มา ส.ว.
  • 38 อดีต ส.ว. ที่ร่วมแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ประเด็น ส.ว.โดยมิชอบ
  • 248 ส.ส. ที่ร่วมแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ประเด็น ส.ว.โดยมิชอบ

แม้รัฐสภาปลอดนักการเมืองมาแล้ว 4 ปี วาทกรรมคุ้นเคย สภาทาส สภาผัวเมีย เผด็จการรัฐสภา จางหายไป

แต่ถามว่าสภาแต่งตั้งที่ไร้เสียงคัดค้านเหล่านี้ต่างกันตรงไหน โปรดพิจารณา!

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง