ไม่พบผลการค้นหา
ท่าทีตำรวจสากลที่จะไม่ติดตามตัว ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ ท่าทีนักการทูตอเมริกันที่มองว่าคดีความของเธอเป็นเกมการเมือง บ่งนัยว่า อดีตนายกรัฐมนตรีอาจได้รับอนุญาตให้พำนักในอังกฤษ

การปฏิเสธของอินเตอร์โพลที่จะออกหมาย เพื่อสืบเสาะแหล่งพักพิง หรือจับกุม นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชวนให้ตั้งข้อสังเกตว่า นั่นอาจเป็นผลจากการพิจารณาว่า การไต่สวนและลงโทษอดีตนายกรัฐมนตรีไทย เป็นการเมืองภายในของไทยเอง

ด้วยเหตุดังนั้น ตำรวจสากลต้องปฏิบัติตามธรรมนูญขององค์กร ที่บัญญัติว่า อินเตอร์โพลต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองภายในของรัฐภาคี

ถ้าข้อสันนิษฐานนี้เป็นจริง ย่อมชวนให้ตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า สหราชอาณาจักรอาจอนุญาตให้นางสาวยิ่งลักษณ์อยู่อาศัยในประเทศได้ต่อไป ด้วยเหตุว่า มองอดีตนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ถูกกระทำทางการเมือง ไม่ใช่อาชญากรหลบหนีข้ามแดน

‘อินเตอร์โพลอังกฤษ’ ไม่ขานรับตร.ไทย

รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ต.ท.ปองพล เอี่ยมวิจารณ์ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับวอยซ์ทีวีในวันอังคารที่ 9 มกราคม ว่า ทางการตำรวจไทยได้พยายามติดต่อหน่วยงานตำรวจสากลของอังกฤษมาโดยตลอด โดยส่งอีเมลไปสอบถามแหล่งที่อยู่ของนาวสาวยิ่งลักษณ์ทุก 2 สัปดาห์ และหลังจากปรากฎภาพถ่ายอดีตนายกรัฐมนตรีในประเทศอังกฤษ ฝ่ายไทยได้ส่งอีเมลไปสอบถามอีก แต่อินเตอร์โพลอังกฤษไม่เคยตอบกลับเลย

พ.ต.ท.ปองพล กล่าวว่า ถือเป็นสิทธิของตำรวจสากลอังกฤษที่จะไม่ตอบข้อสอบถามของไทย เนื่องจากอินเตอร์โพลจะไม่ทำคดีเกี่ยวกับศาสนา การเมือง หรือคดีที่มีโทษประหาร

“ในเมื่ออินเตอร์โพลไม่ยืนยันแหล่งที่อยู่ที่ชัดเจน เราก็ไม่สามารถเดินเรื่องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนต่อไปได้” รองโฆษกสตช.กล่าว

ทำไมตำรวจสากลของอังกฤษไม่ขานรับคำขอความร่วมมือของฝ่ายไทย คำเฉลยอยู่ในธรรมนูญของตำรวจสากล ซึ่งกำหนดหลักการของการประสานความร่วมมือในหมู่องค์กรตำรวจของรัฐภาคี

เปิด ‘กฎเหล็ก’ ตำรวจสากล

ตำรวจสากลเป็นหน่วยงานส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมาย หลักการหัวใจข้อหนึ่ง คือ ความเป็นกลาง นั่นคือ ต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองภายในของประเทศสมาชิก

ธรรมนูญของตำรวจสากล บัญญัติในข้อบทที่ 3 ว่า ห้ามมิให้องค์การตำรวจสากลเข้าแทรกแซงหรือดำเนินการในเรื่องเกี่ยวกับการเมือง การทหาร ศาสนา และเชื้อชาติ (Article 3 of INTERPOL’s Constitution)

ตำรวจสากลเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศ มีสำนักเลขาธิการใหญ่ในเมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส ปัจจุบันมีสมาชิก 192 ประเทศ ในแต่ละประเทศจะมีตำรวจหน่วยหนึ่งซึ่งเป็นคนสัญชาตินั้นๆทำงานให้อินเตอร์โพลโดยตรง

ตำรวจในแต่ละประเทศสมาชิกจะประสานความร่วมมือระหว่างกัน งานหลักอย่างหนึ่งคือ ทำงานตามหมาย (Notice) ซึ่งกำหนดภารกิจเฉพาะอย่าง

การออกหมายนั้น เป็นอำนาจพิจารณาสั่งการของสำนักเลขาธิการใหญ่

ภารกิจอาจเป็นการสืบเสาะแหล่งพักพิงของผู้ต้องสงสัย ที่เรียกกันว่า หมายน้ำเงิน (Blue Notice) หรืออาจเป็นการติดตามจับกุม เพื่อส่งตัวผู้ต้องสงสัยกลับไปรับโทษ หรือดำเนินคดีในประเทศบ้านเกิด ที่เรียกกันว่า หมายแดง (Red Notice)

ไม่ว่าประเทศต้นทางจะขอให้ออกหมายน้ำเงิน หรือออกหมายแดง สำนักงานเลขาธิการใหญ่ของอินเตอร์โพล มีพันธะต้องรวบรวมข้อมูลให้ครบถ้วน ก่อนตัดสินใจออกหมายตามคำร้องขอ

ข้อมูลที่ตำรวจสากลจำเป็นต้องได้รับจากประเทศต้นทาง และต้องชั่งน้ำหนักในการตัดสินใจ ว่าจะออกหมายหรือไม่ คือประเด็นดังต่อไปนี้

• เรื่องราวเป็นมาอย่างไร บุคคลถูกดำเนินคดีในข้อหาอะไร

• ผู้ถูกกล่าวหามีสถานะอะไร เช่น เป็นหัวหน้ารัฐบาล เป็นนักการเมือง

• ข้อมูลมาจากใคร ฝ่ายไหน

• ประเทศอื่น หรือองค์การระหว่างประเทศ มองคดีนั้นอย่างไร

• มีกฎหมายระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องประการใดบ้าง

• การออกหมายทำให้ตำรวจสากลสูญเสียความเป็นกลางหรือไม่

• บรรยากาศสภาพแวดล้อมเกี่ยวกับคดี เป็นอย่างไร

กรอบการทำงานที่ว่านี้วางไว้เพื่อให้ตำรวจสากลสามารถรักษาความเป็นกลาง ความมีอิสระ และปกป้องบุคคลจากการข่มเหงรังแก หรือถูกดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรม (Article 3 of INTERPOL’s Constitution)

เห็นได้ว่า ตำรวจสากลยึดหลักว่า ‘มิติการเมือง’ เป็นข้อพิจารณาสำคัญ ในการรับหรือไม่รับคดีใดเป็นภารกิจ

เมื่อทำความเข้าใจกฎเหล็กของอินเตอร์โพลเช่นว่านี้แล้ว ชวนให้ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุที่ไม่ตอบสนองตำรวจไทย อาจเป็นเพราะตำรวจสากลมองคดียิ่งลักษณ์เป็นเรื่องการเมือง

อาชญากรรม หรือการเมือง

มิติการเมืองของคดียิ่งลักษณ์ เป็นที่จับตาในประชาคมระหว่างประเทศเสมอมา ก่อนหน้านี้ นักการทูตอเมริกันที่เดินทางเยือนไทย เคยแสดงทัศนะในเรื่องนี้ในที่สาธารณะ ซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์ที่แทบไม่เคยเกิดขึ้นในวงการทูต

เมื่อเดือนมกราคม 2558 แดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก แสดงปาฐกถาในการประชุมซึ่งจัดขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดถึงคดีความของอดีตนายกรัฐมนตรีไทย

เขากล่าวว่า ประชาคมโลกมองการถอดถอนและดำเนินคดีอาญาต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่า เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง

“ผมขอกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า เมื่อผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งถูกปลดออกจากตำแหน่ง ถูกถอดถอนโดยผู้มีอำนาจที่ก่อรัฐประหาร และตกเป็นเป้าด้วยข้อหาอาญาในขณะที่กระบวนการและสถาบันพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยต้องหยุดชะงักลง ประชาคมโลกจึงเกิดความรู้สึกว่า ขั้นตอนเหล่านี้อาจเกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง” (สถานทูตสหรัฐฯ, 26 มกราคม 2558)

หากคำกล่าวของนักการทูตระดับสูงของสหรัฐฯผู้นี้ สะท้อนข้อเท็จจริงในวงการทูต นี่ย่อมชวนให้ตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า สหราชอาณาจักรจะยึดถือมุมมองในทำนองเดียวกัน หรือไม่

ลี้ภัยในอังกฤษ มีลุ้นไหม

ถ้าอังกฤษมองคดีนางสาวยิ่งลักษณ์เป็นเรื่องทางการเมือง อดีตนายกรัฐมนตรีย่อมมีโอกาสที่จะพำนักได้ต่อไปอย่างน้อยในชั่วระยะเวลาหนึ่ง และมีสิทธิที่จะขอสัญชาติอังกฤษหากได้รับอนุญาตให้พำนักเป็นเวลา 5 ปี

(โปรดดูหัวข้อ นโยบายและกฎหมายของสหราชอาณาจักร ว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลที่หลบหนีการดำเนินคดี – Asylum Law and Policy – ใน U.S. Library of Congress

อังกฤษจะอนุญาตให้นางสาวยิ่งลักษณ์พำนักในฐานะผู้ลี้ภัยการเมือง หรือเพียงให้พำนักด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม หรือด้วยเหลุผลอื่นใดนั้น อังกฤษคงต้องไตร่ตรองอย่างรอบด้าน

ในด้านหนึ่ง ต้องคำนึงถึงการรักษาความสัมพันธ์กับรัฐบาลไทย ทว่าในอีกด้าน อังกฤษในฐานะหนึ่งในชาติมหาอำนาจในสหประชาชาติ มีพันธะต้องปกป้องพลเมืองโลก ตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักมนุษยธรรม

เหล่านี้เป็นเพียงการตั้งข้อสมมติฐาน เพื่อคาดเดาฉากสถานการณ์ ที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่นาน. 

ภาพ : AFP