ไม่พบผลการค้นหา
แบงก์ใหญ่เปิดเกม 'ฟรี' ค่าฟี งานนี้อาจไม่ใช่เพราะใจดี แต่เป็นกลยุทธ์รักษาฐานลูกค้า ไล่เก็บข้อมูลโอน-จ่าย-เติมเงิน ของลูกค้า เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์การเงิน ต่อยอดนำเสนอลูกค้าได้อีกหลายรอบ

การประกาศ 'ยกเลิกค่าธรรมเนียม' หรือ ค่าฟีการโอนเงิน - จ่ายบิล - เติมเงิน ผ่านโมบาย แบงก์กิ้งและอินเทอร์เน็ต แบงก์กิ้ง แบบไม่มีกำหนดสิ้นสุด ของ 3 แบงก์ใหญ่ ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงเทพ รวมถึงล่าสุด (29 มี.ค.) มีแบงก์ขนาดกลางอีกแห่ง คือ ธนาคารเกียรตินาคิน ประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมใน 3 ธุรกรรมหลักดังกล่าวเช่นกัน 

เป็นความเคลื่อนไหวระลอกใหญ่อีกครั้งในวงการแบงก์ไทย ซึ่งถ้าพอจะสังเคราะห์ เหตุและปัจจัยออกมา ก็มี 2-3 ประเด็น

หนึ่ง เพราะมีพร้อมเพย์

นับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2560 ที่กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กดปุ่มเปิดโครงการ 'พร้อมเพย์' ซึ่งในมุมของภาครัฐ ยืนยันว่า สิ่งนี้คือ โครงสร้างพื้นฐานในระบบการโอนเงิน-ชำระเงิน โดยเริ่มจากการโอนเงินชำระเงินพร้อมเพย์ระหว่างบุคคลในวันที่ 27 ม.ค. 2560 แล้วขยายเป็นการโอนเงินชำระเงินพร้อมเพย์ระหว่างนิติบุคคล วันที่ 1 มี.ค. ปีเดียวกัน พร้อมประกาศอัตราค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) จูงใจให้คนมาใช้ช่องทางนี้ 

โดยให้อัตราค่าธรรมเนียมการโอนเงินชำระเงินระหว่างบุคคลผ่าน 'พร้อมเพย์' คือ ถ้าไม่เกิน 5,000 บาท ไม่มีค่าฟี ส่วนถ้าโอน 5,001-30,000 บาท เสียค่าฟี ไม่เกิน 2 บาทต่อครั้ง 30,001-100,000 บาท ไม่เกิน 5 บาทต่อครั้ง และมากกว่า 100,001 ขึ้นไป ค่าฟีไม่เกิน 10 บาทต่อครั้ง 

ส่วนอัตราค่าธรรมเนียมการโอนเงินชำระเงินระหว่างนิติบุคคล ผ่าน 'พร้อมเพย์' มี 2 ขั้นเท่านั้น คือ ต่ำกว่า 100,000 บาท ค่าฟีไม่เกิน 10 บาทต่อครั้ง ถ้ามากกว่า 100,000 บาท ค่าฟี 15 บาทต่อครั้ง ซึ่งตั้งแต่ต้นปี 2560 นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย ก็ยอมรับว่า การมีพร้อมเพย์จะกระทบต่อรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์ในอนาคตแน่นอน 

สอง ต้นทุนบริหารเงินสดแพง

ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งรู้ดีว่า ที่ผ่านมาการบริหารเงินสดผ่านสาขา ตู้เอทีเอ็ม และการเดินเช็คกระดาษนั้น เป็นต้นทุนมหาศาล หลังจากที่สมาคมธนาคารไทย เคยว่าจ้างไพร้ซวอเตอร์เฮาร์คูเปอร์ หรือ PwC ศึกษาระบบชำระเงินไทยเปรียบเทียบต่างประเทศ ก็พบว่า หากประเทศไทยลดการใช้เงินสดเพียงร้อยละ 30 ธนาคารไทยทั้งระบบก็จะสามารถลดต้นทุนบริหารเงินสดได้มากถึง 160,000 -180,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 10 ปี เพราะที่ผ่านมา มีต้นทุนบริหารเงินสดจากสาขา ตู้เอทีเอ็ม และเช็คมีมูลค่าสูงถึง 32,000 ล้านบาท ทีเดียว

สาม ลูกค้าเก่ารักษาง่าย ลูกค้าใหม่เข้าถึงยาก

ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ รู้ดีว่า การขยายฐานลูกค้านั้นยากแล้ว การรักษาลูกค้าให้อยู่กับแบงก์ให้นานที่สุด และใช้เป็น main bank หรือ แบงก์หลักนั้นยากกว่า ดังนั้น การยอมลดรายได้ค่าธรรมเนียมการโอนเงิน จ่ายบิล เติมเงิน วันนี้ แลกกับการจูงใจให้ลูกค้าโหลดแอปฯ ใช้จ่ายผ่านระบบของตัวเอง จะนำไปสู่การรับรู้ข้อมูลธุรกรรมต่างๆ และนำมาออกแบบผลิตภัณฑ์การเงินต่างๆ เพิ่มมูลค่าทางธุรกิจต่อไปได้ยาวกว่า และตรงเป้าหมายมากกว่า 

ดังนั้น การแข่งขันของแบงก์ใหญ่ในวันนี้ จึงเป็น "ประโยชน์" กับผู้ใช้บริการทางการเงิน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ใช้โมบาย แบงก์กิ้ง อินเทอร์เน็ต แบงก์กิ้ง ส่วนธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ที่ออกมางดค่าฟีกันเป็นทิวแถว ก็ได้รักษาฐานลูกค้า เอาไปพัฒนาต่อยอดนำเสนอขายผลิตภัณฑ์การเงินที่เข้าเป้ามากขึ้น ซึ่งการลดรายได้ส่วนนี้ ไม่ได้หมายความว่า รายได้รวมๆ จะสะเทือนไปด้วยซะเมื่อไร 

เพราะปัจจุบันนี้ มีผู้ใช้โมบาย แบงก์กิ้งในประเทศไทยมากถึง 28.4 ล้านบัญชี มีมูลค่าธุรกรรมสูงถึง 6-7 แสนล้านบาทต่อเดือน ส่วนอินเทอร์เน็ต แบงกิ้งมี 19 ล้านบัญชี มีมูลค่าธุรกรรมเฉลี่ยเดือนละ 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งเติบโตเร็วมาก เมื่อเทียบกับเมื่อ 5 ปีก่อน ที่โมบาย แบงก์กิ้งยังมีผู้ใช้เพียง 8.6 แสนบัญชี มูลค่าธุรกรรม 3.6 หมื่นล้านบาทต่อเดือน ส่วนอินเทอร์เน็ต แบงก์กิ้งมีเพียง 6.6 ล้านบัญชี มูลค่าธุรกรรมเฉลี่ยเดือนละ 1.1 ล้านล้านบาท  

ส่วนความนิยมใช้พร้อมเพย์ ในช่วง 1 ปีแรก ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า มีผู้ลงทะเบียน 39.3 ล้านเลขหมาย ซึ่งร้อยละ 60 เป็นการลงทะเบียนผ่านหมายเลขบัตรประชาชน และมีมูลค่าธุรกรรมรวม 4.9 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นยอดการโอนเฉลี่ยต่อครั้ง 3,860 บาท

ดังนั้น สมรภูมิดิจิทัลแบงก์กิ้ง จึงไม่น่าจะหยุดที่ แบงก์แห่ยกเลิกค่าธรรมเนียม 'โอน-จ่าย-เติมเงิน' ผ่านโมบาย แบงก์กิ้ง อินเทอร์เน็ต แบงก์กิ้ง เท่านั้น แต่เมื่อทุกอย่างทำผ่านโทรศัพท์มือถือ และแบงก์ก็รู้ว่าต้นทุนถูกกว่าเดิมมาก อะไรๆ หลังจากนี้ จึงจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป