ไม่พบผลการค้นหา
ธปท.มองเศรษฐกิจยังต้องใช้เวลากว่าจะฟื้นตัว ย้ำความเสี่ยงยังมี ปัจจัยหลักคือการระบาดระลอกที่สองและการบังคับใช้นโยบายล็อกดาวน์อีกครั้ง ชี้แบงก์ชาติพร้อมช่วยเหลือผ่านนโยบายการเงินเต็มที่

ในการประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ครั้งที่ 2/2563 ณ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท.ชี้แจงแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศในกรณีพื้นฐานน่าจะปรับตัวกลับสู่ระดับก่อนวิกฤตโรคระบาดในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 

ดอน นาครทรรพ.jpeg
  • ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท.

ขณะที่การคาดการณ์ในกรณีเลวร้าย ซึ่ง ผอ.อาวุโส เศรษฐกิจมหภาค ชี้ว่าต้องมีปัจจัยสำคัญมาจากเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ครั้งที่สอง หากเชื้อไวรัสกลับมาระบาดในระดับสูงอีกครั้ง จะส่งผลให้จีดีพีไทยทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยมีแนวโน้มจีดีพีครึ่งหลังในปี 2565 ใกล้เคียงกับระดับไตรมาส 3/2559 หรืออยุ่ในระดับร้อยละ 3.2 ตามข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์)

ทั้งนี้ นายดอน ย้ำว่า เมื่อมองจากบริบทโดยรวมเชื่อว่าเศรษฐกิจของประเทศผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในไตรมาสที่สองที่ผ่านมา เนื่องจากประเทศสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างมีศักยภาพ แม้ปัจจุบันจะมีข่าวเรื่องตัวเลขผู้ติดเชื้อกลับขึ้นมาแต่ ธปท.ย้ำว่า ทุกอย่างยังอยู่ในระดับที่กระทรวงสาธารณสุขสามารถจัดการได้ 

ปัจจัยสนับสนุนการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจยังมาจากการที่หลายประเทศรวมทั้งไทยเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระดับตั้งแต่เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาทั้งยังมีแนวโน้มการดำเนินนโยบาย 'แทรเวลบับเบิล' (travel bubble) หรือการจับคู่ท่องเที่ยวในประเทศที่ปลอดภัยเข้ามาเสริมในช่วงปลายปี สอดคล้องกลับกิจกรรมต่างๆ ทางเศรษฐกิจที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ธปท.ย้ำว่ายังมีความไม่แน่นอนอยู่มากในอนาคต และเศรษฐกิจไทยก็ยังมีความเปราะบางจากทั้งตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ ธปท.คาดว่าทั้งปีจะอยู่ที่เพียง 8 ล้านคน ก่อนจะขยับขึ้นมาเป็น 16.2 ล้านคนในปีหน้า ซึ่งก็ยังนับว่าน้อยกว่าระดับเกือบ 40 ล้านคนในปีที่ผ่านมาอยู่ดี นอกจากนี้ ปัญหาอัตราการว่างงานของประชาชนก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด


มาตรการที่ผ่านมา-ต่อไป

เมื่อหันมาวิดคราะห์มาตรการฝั่งนโยบายการเงินที่ออกมาช่วยเหลือประชาชน นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้่ว่า สามารถสรุปออกมาเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะป้องกันการตื่นตระหนกของประชาชนซึ่ง ธปท.ทยอยบังคับใช้นโยบายเหล่านี้ตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา อาทิ มาตรการช่วยเหลือกองทุนรวมที่ได้รับผลกระทบจากการขาดสภาพคล่องในตลาดการเงิน (Mutual Fund Liquidity Facility: MFLF) รวมไปถึงมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อสำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 

ธปท. - วิรไท - แบงก์ชาติ - AFP
  • วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ขณะที่ระยะที่สองซึ่งยังอยู่ในสถานการณ์ปัจจุบันเน้นไปที่การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเป็นหลัก อาทิ มาตรกรซอฟต์โลนวงเงิน 500,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบัน ธปท.ชี้ว่าได้ปล่อยสินเชื่ออกไปแล้งราว 130,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าฯ เสริมว่า แม้ตัวเลขดังกล่าวดูจะไม่ใช่สัดส่วนที่เยอะมาก แต่เมื่อเทียบกับมาตรการสินเชื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีจากทั้ง ธปท.รวมกับฝั่งธนาคารออมสิน ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ และธนาคารพาณิชย์ จะรวมกันเป็นเม็ดเงินกว่า 240,000 ล้านบาท 

ด้านมาตรการระยะที่สาม ซึ่งจะเป็นการมองไปในอนาคตเพื่อเตรียมพร้อมสถานการณ์เศรษฐกิจกับการฟื้นตัว ผู้ว่าฯ ชี้ว่า มาตรการช่วยเหลือที่จำเป็นจะยังมีอยู่แต่จะมีการปรับลดมาตรการที่ไม่จำเป็นออกไป พร้อมเสริมมาตรการอุดหนุนเพิ่มให้อีกเช่นเม็ดเงินในนโยบายซอฟต์โลนที่ยังคงเหลืออยู่

ด้านนายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท.ปิดท้ายตอบคำถามนักวิเคราะห์ถึงแนวนโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติมทั้งการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการปรับใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ว่ามีความเป็นไปได้น้อยที่แบงก์ชาติจะเลือกใช้มาตรการทั้งสองอย่าง เนื่องจาก การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ผ่านมารวมไปถึงการปรับลดอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ (FIDF) ก็มีผลตอบรับที่ดี ขณะที่การปรับใช้เรื่อง QE ก็จำเป็นต้องดูว่าเมื่อบังคับใช้จะช่วยเศรษฐกิจจริงได้จริงไหม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;