ไม่พบผลการค้นหา
ศบค.เผยพบผู้ป่วยโควิด-19 อีก 4 ราย มาจากประเทศสหรัฐฯ-ไต้หวัน ผู้ป่วยยืนยันสะสมล่าสุดอยู่ที่ 3,295 ราย ขณะผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 58 ราย จ่อผ่อนคลาย "สถานศึกษา" ทั่วประเทศเปิดเรียนตามปกติ มอบ สธ.-ศธ.หารือหาแนวทางป้องกัน

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ 4  ราย ซึ่งเป็นผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ และเข้า State Quarantine โดยมาจากสหรัฐอเมริกา 3 ราย และไต้หวัน 1 ราย ส่วนในประเทศไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.เป็นต้นมา ผู้ป่วยยืนยันสะสมล่าสุดอยู่ที่ 3,295 ราย เป็นผู้ป่วยในประเทศ 2,444 ราย และผู้ป่วยใน State Quarantine จำนวน 358 ราย จำนวนผู้ป่วยรักษาหายแล้วอยู่ที่ 3,111 ราย และยังมีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 126 ราย ขณะที่ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม โดยยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 58 ราย

สำหรับผู้ป่วยรายใหม่เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ มาจากสหรัฐอเมริกา 3 ราย รายแรกเป็นนักท่องเที่ยวหญิงไทยอายุ 44 ปี เดินทางมาถึงไทยเมื่อวันที่ 20 ก.ค. เข้าพัก State Quarantine ที่จังหวัดชลบุรีและตรวจหาเชื้อในวันที่ 25 ก.ค. ผลตรวจพบเชื้อ ไม่มีอาการ

อีกสองราย เป็นนักศึกษาชายไทย อายุ 25 ปี และนักศึกษาหญิงไทย อายุ 21 ปี เดินทางมาถึงไทยเมื่อวันที่ 25 ก.ค.โดยผ่านการคัดกรอง ณ ด่านควบคุมโรค พบว่ามีอาการเข้าเกณฑ์ PUI คือ ผู้ป่วยชาย มีอาการไข้และเจ็บคอ และผู้ป่วยหญิงมีอาการไข้และจมูกไม่ได้กลิ่น จึงตรวจหาเชื้อใหม่ในวันที่ 25 ก.ค. ผลตรวจพบเชื้อ

ส่วนอีกรายมาจากไต้หวัน 1 ราย เป็นชายไทย อายุ 30 ปี อาชีพพนักงานโรงแรม เดินทางมาถึงไทย เมื่อวันที่ 21 ก.ค. เข้าพัก State Quarantine ที่กรุงเทพมหานคร และตรวจหาเชื้อในวันที่ 25 ก.ค. ผลตรวจพบเชื้อ พบว่ามีอาการถ่ายเหลว

สำหรับ เที่ยวบินที่จะนำคนไทยกลับประเทศวันนี้ มี 6 เที่ยวบินจากเดนมาร์ก 50 คน เยอรมนี 242 คน เอธิโอเปีย 34 คน สหราชอาณาจักร 267 คน สิงคโปร์ 30 คน และสหรัฐอเมริกาผ่านญี่ปุ่น 102 คน ส่วนรถโดยสารสาธารณะมาตรการผ่อนคลายยังใช้อยู่โดยในช่วงวันหยุดยาวให้มีการเว้นระยะห่างระหว่างที่นั่ง ซึ่งจะมีการกำกับดูแลประเมินสถานีขนส่ง และมีจุดเช็คพ้อยท์รถโดยสารสาธารณะทุก 90 กิโลเมตร ตลอด 24 ชั่วโมง

จ่อผ่อนคลาย "สถานศึกษา" ทั่วประเทศเปิดเรียนตามปกติ

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงแนวทางมาตรการผ่อนคลายมาตรการของสถานศึกษา ว่า ช่วงนี้เปิดโรงเรียนมาร่วม 1 เดือน ซึ่งช่วงแรกกังวลใจว่า การไปโรงเรียนของเด็กที่มีการเล่นใกล้ชิดกันจะมีการติดเชื้อโควิด-19 โดยขณะนี้ ศบค.ชุดเล็กให้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประเมินรายงานสถานการณ์พบว่า ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ยังไม่มีการติดเชื้อในสถานศึกษา โดยมีข้อมูลว่า เด็กเป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อที่ค่อนข้างต่ำ และรายงานในประเทศไทยมีผู้ป่วยสะสมในกลุ่มนี้เพียงร้อยละ 1-6 แบ่งกลุ่ม 0-9 ปี 62 ราย ร้อยละ 1.9 และกลุ่มอายุ 10-19 ปี 126 ราย ร้อยละ 3.87

ทั้งนี้ ยังไม่มีการรายงานติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน (Cluster) ในกลุ่มนี้ โดยนักวิชาการให้ข้อสังเกตว่า ที่เด็กติดเชื้อน้อยกว่า เกิดจากสาเหตุของตัวรับเชื้อในโพรงจมูกของเด็กน้อยกว่าผู้ใหญ่ แต่สิ่งที่กังวลคือ สามารถเป็นผู้นำพาหะเชื้อกลับเข้าสู่ในบ้านได้ โดยผู้ใหญ่มีตัวรับเชื้อที่มากกว่า อาจจะมีการติดเชื้อได้ง่ายกว่า

“ดังนั้น จึงมีการตั้งโจทย์ว่า จะมีมาตรการผ่อนคลายที่เร็วขึ้นได้หรือไม่ โดยขณะนี้มีโรงเรียน 4,528 แห่ง ที่จะต้องใช้วิธีการสลับเวลาเรียน เนื่องจากโรงเรียนมีขนาดเล็ก ไม่เพียงพอต่อการจัดห้องเรียน มีผลกระทบหลายด้าน เช่น การเรียนรู้ของเด็กถดถอยลง ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม การเหลื่อมล้ำ การเข้าถึงทรัพยากร การโภชนาการ เป็นต้น ดังนั้น สธ.และ ศธ. มีการหารือกันเพื่อให้ผ่อนคลายเด็กให้กลับไปเรียนได้อย่างปกติ โดยจะต้องมีมาตรการเสริมที่เข้มขึ้น เช่น จัดห้องเรียนให้มีระยะห่างกันมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ห้องแอร์ให้เปิดประตูหน้าต่างในช่วงที่ไม่มีการใช้ห้องเรียน และให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด อำเภอ และตำบล ซึ่งทุกระดับจะต้องเข้าไปดูแลเด็ก กำกับดูแลเป็นลำดับขั้น” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

นอกจากนี้ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า กรมอนามัย สธ.เข้าไปตรวจประเมินและติดตามภายหลังการเปิดภาคเรียน และแนวปฏิบัติของสถานการณ์ความเสี่ยงของการติดโรคในมาตรการผ่อนคลายของสถานศึกษา พบว่า สถานศึกษา จำนวน 25,140 แห่ง มีมาตรการความปลอดภัยการลดการแพร่เชื้อโรคสูงถึงร้อยละ 99.47 แต่มีเพียง 132 แห่งที่ยังปฏิบัติไม่ครบ และได้รับคำชี้แนะเพื่อปรับปรุงแล้ว รายงานการป่วยของเด็กจากทุกแห่ง พบว่า 687 ราย ป่วยเป็นไข้หวัด ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจไม่ได้กลิ่น หายใจหอบ แต่ไม่ใช่การติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อย เนื่องจากมีมาตรการสวมหน้ากากอนามัย ทำให้เด็กป่วยน้อยลง และรายงานแผนรองรับ พบว่า ร้อยละ 96.25 มีแผนรองรับและอีก 3.75 ไม่มีแผนรองรับ จึงต้องมีความจำเป็นลงไปเพิ่มเติมส่วนนี้ให้มากขึ้น หากเกิดกรณีที่เด็กติดเชื้อโควิด-19 ขึ้นเพียง 1 ราย ทางโรงเรียนจะต้องมีแผนรองรับว่า จะดำเนินการปิดสถานศึกษาอย่างไร เช่น ปิดโรงเรียน ปิดชั้นเรียน หรือ ปิดเฉพาะห้องเรียน