ไม่พบผลการค้นหา
ความเหือดแห้งซ้ำซาก ซ้ำเติมชีวิตคนลุ่มน้ำ 'แม่ตายละ' ต.โหล่งขอด อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ นานนับ 20 ปี ผู้คนต่างรอคอยการผลักดัน "อ่างเก็บน้ำแม่ตายละ"

บนผืนป่า 187,000 ไร่ เรียงรายไปด้วยบ้านเรือนหลายพันหลัง ด้วยวิถีชีวิตเกษตรกรรม คอยหล่อเลี้ยงปากท้องคนในชุมชน ผ่านเรื่องราวช่วงชีวิตผู้คนจากอดีตถึงปัจจุบัน แต่ความสมบูรณ์อาจไม่ยั่งยืน หากแหล่งพักอาศัยไร้สายน้ำนำวิถี

กรมชลประทานนำสื่อมวลชนลงพื้นที่สำรวจ "โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตายละ" ต.โหล่งขอด อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ จากการยื่นเรื่องเสนอของชาวชุมชนต้นน้ำ ตั้งแต่ปี 2542 เพื่อบรรเทาภาวะน้ำท่วมขังในฤดูฝนและปัญหาภัยแล้ง บนพื้นที่เพื่อการเกษตร โดยรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่จะเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) หากการผลักดันโครงการสำเร็จ คาดว่าจะมีพื้นที่รับผลประโยชน์ประมาณ 8,200 ไร่ 

ภูเขา-สิ่งแวดล้อม-ป่า-ชุมชน-เชียงใหม่
  • มุมสูงจากทิวเขา

สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตายละ มีลักษณะเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ตั้งอยู่ในพื้นที่ ม.6 บ.หลวง ต.โหล่งขอด อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ เก็บกักน้ำได้ประมาณ 20.19 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อสร้างเสร็จจะสามารถส่งน้ำ ครอบคลุม 7 หมู่บ้านบนพื้นที่ อ.พร้าว

แบ่งเป็นพื้นที่ชลประทานของฝายเดิมในปัจจุบัน ประมาณ 3,000 ไร่ และพื้นที่ชลประทานเปิดใหม่เพิ่มอีกประมาณ 3,000 ไร่ รวมทั้งหมดประมาณ 6,000 ครอบคลุมทั้งฤดูฝนและฤดูแล้ง นอกจากนี้ยังส่งน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศให้กับลำน้ำในพื้นที่อีกด้วย

"เราเป็นคนต้นน้ำ แต่ไม่มีน้ำใช้ คนต้นน้ำ น้ำกินแทบไม่มี" พระครูวรวรรณวิวัฒน์ เจ้าคณะต.โหล่งขอด ซึ่งเป็นผู้ผลักดันร่วมกับชาวบ้าน ได้ฉายภาพให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ว่า ชาวบ้าน 7 ชุมชนมีอาชีพหลักคือเกษตรกร เป็นหมู่บ้านต้นน้ำแต่ไม่มีน้ำใช้ บางปียังส่งผลกระทบให้บางหมู่บ้านต้องซื้อน้ำดำรงชีพ จากวันนั้นถึงวันนี้ 20 ปี ที่ราษฎรใน 7 หมู่บ้าน ต้องเผชิญกับความไม่ยั่งยืน ยามฤดูน้ำหลากพื้นที่ทำกินจะจมอยู่ใต้น้ำ

ป่า-ภูเขา-วิถีชีวิต-ฤดูแล้ง-เชียงใหม่
  • พระครูวรวรรณวิวัฒน์

ครั้นย่างเข้าสู่เดือน มี.ค.น้ำที่กักเก็บไว้ในฝายจะแห้งขอด ส่งผลให้ไม่มีน้ำอุปโภคบริโภค รวมไปถึงภัยแล้งที่เกิดซ้ำซากเป็นประจำ จึงเป็นที่มาของการเรียกร้องของภาคประชาชน ผ่านสภาองค์กรบริหารส่วนตำบล เมื่อปี 2542 โดยมติในที่ประชุม คือการขอสนับสนุนจากกรมชลประทาน ที่จะสร้าง 'อ่างเก็บน้ำแม่ตายละ' ซึ่งเป็นหนึ่งในสายธารที่หล่อเลี้ยงคนในชุมชน 

จากความร่วมมือสมัครสมานของคนในชุมชน ในปี 2562 หรืออีก 20 ปี ทางหน่วยงานราชการได้มีการผลักดันมาเป็นลำดับ จนเกิดเป็นรูปธรรมในการสำรวจพื้นที่ และได้ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และความน่าจะเป็นของการเดินหน้าสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ตายละ

'พระครูวรวรรณวิวัฒน์' ได้เน้นย้ำความจำเป็นว่า "ชุมชนในพื้นที่ชุมชนตำบลโหล่งขอด อยู่ทางทิศใต้ อ.พร้าว แต่กลับไม่มีอ่างเก็บน้ำที่จะช่วยเหลือประชาชน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเลย" ดังนั้นหากความฝันของคนในชุมชนเกิดขึ้นจริง จะเป็นการช่วยเหลือชาวบ้านได้อย่างยั่งยืน 

"อำเภอพร้าวและตำบลโหล่งขอด ก้าวย่างทุกอย่างด้วยความสามัคคี โดยเฉพาะพื้นที่ที่เราจะสร้างอ่างเก็บน้ำ เราขับเคลื่อนทุกอย่างด้วย 5 ภาคี ประกอบไปด้วย พระสงฆ์, ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน, องค์การบริหารส่วนตำบล,กลุ่มแม่บ้านและส่วนราชการพื้นที่อุทยานแห่งชาติ นำมาซึ่งความสำเร็จตั้งแต่การดูแลป่า 187,000 ไร่ ก็ขับเคลื่อนด้วยองค์กร 5 ภาคี คือการทำความเข้าใจให้กับคนทุกระดับ ในตำบลและอำเภอ เสียงสะท้อนภาพลบในการสร้างอ่างเก็บน้ำในครั้งนี้ ตั้งแต่เราได้รับปัญหาทุกข์มา ชาวบ้านทุกคนพร้อมใจและยินดีที่จะผลักดันและขอความสนับสนุนจากภาครัฐ เราไม่มีการทะเลาเบาะแว้ง เพราะเราต่างเห็นทุกข์ และเราพร้อมที่จะออกจากทุกข์ไป" พระครูวรวรรณวิวัฒน์ ตอกย้ำความกลมเกลียวของคนในชุมชน

1465.jpg
  • คนชุมชนโหล่งขอด รวมใจโหวตหนุนอ่างเก็บน้ำ

เมื่อทุกคนในชุมชนมองเห็นปัญหาร่วมกัน การทำประชามติจึงเกิดขึ้น ผู้ได้รับผลประโยชน์ต่างเห็นดี ผู้ได้รับผลกระทบต่างยอมเสียสละ 132 ครัวเรือน ยินดีที่จะย้ายพื้นที่การทำเกษตร เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนหมู่มาก

ณ ลานเอนกประสงค์ ยามบ่ายของวันที่ 10 มิ.ย.2563 นาทีประวัติศาสตร์ของคนในชุมชนกำลังจะเกิดขึ้น โดยมีการจัดปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตายละ รับฟังบรรยายความเป็นมา ความต้องการ ความจำเป็นและสรุปผลการศึกษา ตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่กว่าร้อยคนได้พร้อมใจกันยกมือสนับสนุนในการผลักดันโครงการ ให้สำเร็จที่เฝ้ารอมา 20 ปี 

"เรายินดีที่จะได้รับผลกระทบ จากการสร้างอ่างเก็บน้ำ" ถ้อยคำจากนายยงยุทธ ศรีออน ตัวแทนเกษตรกร ได้กล่าวเสริมว่าชาวบ้านในพื้นที่ต้องอ่างเก็บน้ำมากที่สุด เพราะจะช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งให้เกษตรกร และแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำป่าไหลหลาก ส่งผลบวกต่อการยกระดับคุณภาพชีวิต

ขณะที่ 'นพวรรณ บัวหอม' บอกว่า "สนับสนุนเต็มที่เลยเจ้า" แม้ว่าเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบหากมีการสร้างอ่างเก็บน้ำ แต่เธอได้ออกเสียงสนับสนุน เพราะปัจจุบันอาชีพหลักของเธอคือเกษตรกร หากน้ำมีไม่เพียงพอก็ไม่สามารถทำสวนได้ เมื่อมีอ่างเก็บน้ำลูกหลานในอนาคต ก็จะมีน้ำใช้สานต่ออาชีพ มีความอุดมสมบูรณ์ก่อเกิดความเจริญในพื้นที่ได้ 

ป่า-ภูเขา-วิถีชีวิต-ฤดูแล้ง-เชียงใหม่-เกษตรกร
  • เกษตรกรในพื้นที่ ปลูกข้าวโพดเลี้ยงชีพ

'โหล่งขอดโมเดล' เป็นแบบแผนการสร้างกติการ่วมกันของคนชุมชน ต.โหล่งขอด เพื่ออนุรักษ์ปกป้องผืนป่าเกือบ 180,000 ไร่ จากการรุกคืบเข้ามาทำลายป่า โดย พระครูวรวรรณวิวัฒน์ เล่าย้อนไปว่าในอดีตที่ผ่านมา พื้นที่แห่งนี้มีการบุกรุกเข้ามาตัดไม้ทำลายป่า และรุกเข้าเขตอุทยานแห่งชาติศรีลานนา

ดังนั้นจึงมีการหารือร่วมกันภายใต้ข้อกำหนด 5 ภาคี เพื่อนำศาสตร์พระราชาเข้ามาฟื้นฟูผืนป่าต้นน้ำ และพัฒนาแหล่งทำกิน สอดรับไปกับการใช้ศาสนาเป็นเครื่องกล่อมเกลาคนในชุมชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต มีกฎเกณฑ์บทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนทั้งเรื่องเกี่ยวกับการบุกรุกป่าและยาเสพติด ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกันบูรณาการเฝ้าระวังการทำลายผืนป่า 

ป่า-ภูเขา-วิถีชีวิต-ฤดูแล้ง-เชียงใหม่-เกษตรกร
  • ผืนป่าเขียวชะอุ่มยามชุ่มน้ำ

"เขื่อนดิน 700 ล้านบาท ชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ 130 ล้าน"

ดร.สุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 ชี้ว่าสำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตายละ มีพื้นที่อ่างเก็บน้ำอยู่ในเขตพื้นที่เขตป่าอนุรักษ์ตามกฎหมายอุทยานแห่งชาติศรีลานนา เกินกว่า 500 ไร่ และอยู่ในพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 จึงเข้าข่ายประเภทและขนาดโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ปัจจุบันได้ศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมแล้วเสร็จ พร้อมเดินตามกระบวนการตามกฎระเบียบทางกฎหมายต่อไป 

โดยกรมชลประทานวางแผนการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตายละไว้ในปี 2566 คาดว่าจะใช้งบประมาณในการสร้างเขื่อนดิน 700 ล้านบาท กำหนดกรอบเวลาสร้างถึงปี 2569 สำหรับเงินชดเชยเยียวยาและการส่งเสริมพัฒนาอาชีพ ตั้งไว้ที่ 130 ล้านบาท ขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 4,000 บาทต่อเดือน หากมีการสร้างอ่างเก็บน้ำสำเร็จ จะสามารถยกระดับความเป็นอยู่ของชาวบ้านได้ดีขึ้น 

กรมชลประทาน-อ่างเก็บน้ำแม่ตายละ
  • กรมชลประทาน ชี้แจงรายละเอียดแผนสร้างอ่างเก็บน้ำ
พิชิตศักดิ์ แก่นนาคำ
ผู้สื่อข่าว Voice Online
91Article
1Video
0Blog