ไม่พบผลการค้นหา
ผลสำรวจค่าครองชีพพนักงานบริษัทข้ามชาติปี 2563 เผย เอเชียสูงกว่าทวีปอื่น ปัจจัยสำคัญมาจากค่าเงิน กทม.ติดอันดับที่ 35 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5 อันดับ ฟาก 'ฮ่องกง-อาชกาบัต-โตเกียว-ซูริค-สิงคโปร์' ติดตารางท็อปไฟว์

รายงานผลสำรวจค่าครองชีพของลูกจ้างทั่วโลกประจำปี 2563 จากเมอร์เซอร์ บริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์พบว่า ตามตัวเลขในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ฮ่องกงยังเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดสำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานต่อเนื่องอีกหนึ่งปี ตามมาด้วยกรุงอาชกาบัตเมืองหลวงของประเทศเติร์กเมนิสถานที่ขยับขึ้นมาจากอันดับที่ 7 ในปี 2562 และกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นที่ลงมาอยู่ในอันดับที่ 3 ในการสำรวจครั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ติดเข้ามาเป็นอันดับที่ 35 จากปีก่อนในอันดับที่ 40 

การสำรวจประจำปีนี้ ศึกษาข้อมูลจากทั้งหมดมากกว่า 400 ประเทศ ก่อนนำมาจัดอันดับทั้งสิ้น 209 ประเทศ จากทั้งหมด 5 ทวีป โดยใช้มาตรฐานการวัดผลจากค่าครองชีพรวมเฉลี่ยจากกว่า 200 ปัจจัย อาทิ ราคาที่อยู่อาศัย ราคาค่าโดยสารขนส่งมวลชน ราคาอาหาร ราคาเสื้อผ้า ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค รวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมเพื่อความบันเทิงต่างๆ พบความน่าสนใจอีกประการว่า มีถึง 6 เมืองในเอเชียที่ติด 10 อันดับเมืองที่มีค่าครองชีพแพงที่สุดในโลก

AFP-ฮ่องกง-ควอร์รีเบย์.jpg

นอกจาก 3 อันดับแรกที่เป็นเมืองในเอเชียทั้งสิ้น ก็ยังมีสิงคโปร์ในอันดับที่ 5 เซี่ยงไฮ้และกรุงปักกิ่งของจีนในอันดับที่ 7 และอันดับที่ 10 ขณะที่ทวีปยุโรปมี 3 เมืองจากสวิตเซอร์แลนด์ ได้แก่ ซูริคอยู่ในอันดับที่ 4 เบิร์นและเจนีวาอยู่ในอันดับที่ 8 และ 9 ตามลำดับ ส่วนมหานครนิวยอร์กติดเข้ามาในอันดับที่ 6 


ค่าครองชีพ

ไอยา โบนิค ประธานฝ่ายอาชีพและหัวหน้าแผนกกลยุทธ์จากเมอร์เซอร์ ชี้ว่า วิกฤตโควิด-19 เป็นการย้ำเตือนองค์กรว่าการส่งพนักงานไปปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศเป็นความรับผิดชอบอันใหญ่หลวงและเป็นเรื่องยากในการบริหารจัดการ ด้วยเหตุนี้ องค์กรจึงควรเตรียมพร้อมเพื่อจะใช้วิธีการสับเปลี่ยนกำลังคนแทนที่จะเลือกส่งพนักงานไปประจำการต่างประเทศเพียงอย่างเดียว เพราะท้ายที่สุดแล้ว ไม่ใช่พนักงานทุกคนที่พร้อมหรืออยากจะไปประจำการในต่างประเทศ 

ไอยา ยังกล่าวเพิ่มว่า "การปิดพรมแดน การเปลี่ยนแปลงตารางการบิน มาตรการกักตัว และการแทรกแซงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระยะสั้นไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงแค่กับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ยังกระทบกับคุณภาพในการใช้ชีวิตของพนักงานด้วย"

อีวอน เทรเบอร์ หัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายบุคลากรระหว่างประเทศชี้ว่า หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ค่าครองชีพของพนักงานที่ต้องไปทำงานต่างประเทศแพงกว่าเมื่อทำงานในประเทศตัวเอง ส่วนหนึ่งมาจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา โดยเฉพาะเมื่อพนักงานเหล่านี้ได้รับเงินเดือนด้วยสกุลเงินของประเทศตัวเอง แต่อาศัยอยู่ในเมืองที่ใช้สกุลเงินต่างออกไป ซึ่งในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมามีปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน

สำหรับประเทศเพื่อนบ้านของไทย เช่น กรุงมะนิลาเมืองหลวงของฟิลิปปินส์ ติดเข้ามาในอันดับที่ 80 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ากว่า 20 อันดับ จากเดิมอยู่ที่อันดับ 109 ส่วนย่างกุ้งของเมียนมาอยู่ในอันดับที่ 83 ตามมาด้วยจาการ์ตา อินโดนีเซีย ในอันดับที่ 86 นอกจากนี้ พนมเปญของกัมพูชา โฮจิมินห์และฮานอยของเวียดนาม อยู่ในอันดับที่ 109, 111, และ 116 ตามลำดับ ก่อนจะปิดท้ายที่เมืองหลวงของมาเลเซีย อย่างกรุงกัวลาลัมเปอร์ในอันดับที่ 144

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :