ไม่พบผลการค้นหา
FAO-WHO-WTO เตือนทั่วโลกอาจเผชิญวิกฤตขาดแคลนอาหาร หากรัฐบาลต่างๆ ล้มเหลวในการจัดการกับการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ดำเนินอยู่ได้อย่างเหมาะสม กระทบห่วงโซ่การผลิต การค้าระหว่างประเทศ หลังมีสัญญาณหลายประเทศระงับส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์

ขณะที่รัฐบาลทั่วโลกพยายามยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยการล็อกดาวน์ ปิดเมือง ให้ประชาชนอยู่ในบ้าน แต่อีกส่วนที่ได้รับผลกระทบก็คือการค้าระหว่างประเทศและห่วงโซ่อุปทานอาหารที่เผชิญการชะลอตัวอย่างรุนแรง ขณะที่การแห่กักตุนอาหารด้วยความตื่นตระหนกของประชาชนได้แสดงให้เห็นความเปราะบางของห่วงโซ่อุปทานอาหารจากชั้นวางของในซูเปอร์มาร์เก็ตที่ว่างเปล่าในหลายประเทศ 

ล่าสุด ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การการค้าโลก (WTO) ได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมที่เตือนว่า ความไม่แน่นอนว่าจะมีอาหารเพียงพอหรือไม่ สามารถก่อให้เกิดคลื่นของการระงับการส่งออก ทำให้เกิดการขาดแคลนในตลาดโลก ในช่วงเวลาของการล็อกดาวน์ป้องกันโควิด-19 จึงต้องมีการพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้แน่ใจว่าการไหลเวียนของการค้ายังคำดำเนินไปอย่างเสรีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้การขาดแคลนอาหารเกิดขึ้น

ขณะที่รัฐบาลต่างๆ ดำเนินมาตรการเพื่อปกป้องสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชน ก็ควรรับรองด้วยกว่ามาตรการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้าจะไม่ทำให้ห่วงโซ่อุปทานอาหารหยุดชะงัก ซึ่งนี่ถูกมองว่าอาจเป็นการส่งคำเตือนโดยตรงไปยังรัสเซียที่กำลังพิจารณาห้ามการส่งออกข้าวสาลี ขณะที่ก่อนหน้านี้ มีหลายประเทศที่ได้ประกาศระงับการส่งออกสินค้าเกษตรในช่วงโควิด-19 ระบาด เช่น คาซัคสถานที่ห้ามการส่งออกแป้งสาลี บัควีทและผักหลายชนิด ส่วนเวียดนามผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของโลกก็ได้ระงับสัญญาการส่งออกข้าวล็อตใหม่ชั่วคราว 

ส่วนในระยะยาวกว่านั้น คำสั่งกักตัวและห้ามการเดินทางเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการหยุดชะงักของการผลิตพืชผลทางการเกษตร เนื่องจากแรงงานภาคการเกษตรไม่เพียงพอและไม่มีความสามารถในการนำอาหารเข้าสู่ตลาด ขณะที่การปิดพรมแดนยังได้เผยให้เห็นว่าบางประเทศพึ่งพาแรงงานต่างชาติในภาคการเกษตรมากขนาดไหน โดยผู้อำนวยการใหญ่ของทั้ง 3 หน่วยงานยังย้ำความจำเป็นในการปกป้องลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับการผลิต แปรรูปและกระจายอาหาร ทั้งเพื่อสุขภาพของลูกจ้างเหล่านั้นและคนอื่นๆ เช่นเดียวกับรักษาห่วงโซ่อุปทานอาหารเอาไว้ โดยระบุว่านี่เป็นเวลาที่ควรมีความร่วมมือระหว่างประเทศให้มากขึ้น เพื่อทำให้แน่ใจว่ามาตรการตอบสนองต่อโควิด-19 จะไม่สร้างการขาดแคลนสิ่งของที่จำเป็นโดยไม่ตั้งใจ และยิ่งทำให้ปัญหาความอดอยากหิวโหยและภาวะขาดสารอาหารแย่ลง

อ้างอิง The Straits Times/Bloomberg/xinhuanet

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :