ไม่พบผลการค้นหา
วิจัยชี้ 'การหลงตัวเอง' แบบพอดี ช่วยสร้างความแข็งแรงให้สุขภาพจิต ขณะ 'มิลเลนเนียล' เป็นวัยที่หลงตัวเองที่สุด

งานวิจัยชิ้นล่าสุดจากมหาวิทยาลัยควีนส์เบลฟาสต์ ประเทศไอร์แลนด์เหนือชี้ให้เห็นว่า การหลงตัวเองในระดับหนึ่งอาจเป็นเรื่องที่ดีแต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์รอบข้างด้วย 

'คอสตาส ปาปาจอจิอู' ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาจิตวิทยามหาวิทยาลัยควีนส์เบลฟาสต์ หนึ่งในผู้เขียนงานวิจัยชิ้นนี้กล่าวว่า ประชาชนที่มี 'ภาวะหลงตัวเอง' ซึ่งสมาคมจิตวิทยาอเมริกันอธิบายว่าคือ "ภาวะการสนใจตนเองและประเมินค่าตัวเองมากเกินไป" อาจช่วยให้พวกเขามีความแข็งแกร่งทางจิตใจทางมากขึ้นเช่นเดียวกัน เนื่องจากการหลงตัวเองนับเป็นกลกไกการป้องกันตัวเองของมนุษย์

"งานของเราชี้ให้เห็นว่า อย่างน้อยที่สุดในมิติหนึ่งของการหลงตัวเอง ก็อาจช่วยให้บุคคลมีความเข้มแข็งในการต่อสู้กับอาการทางจิตบางประเภท เช่น โรคซึมเศร้าและภาวะเครียด" คอสตาส กล่าว

ในงานศึกษาชิ้นนี้ ทีมนักวิจัยรวบรวมผู้ร่วมทดลองกว่า 700 คนเพื่อใช้ในการศึกษาทดลอง 3 ชิ้น โดยผู้เข้าร่วมในงานทดลองทั้ง 3 ชิ้น จะต้องทำแบบทดสอบตอบคำถามเกี่ยวกับภาวะหลงตัวเองที่ใช้เพื่อการวัดภาวะหลงตัวเองที่ไม่แสดงอาการ ความเข้มแข็งของจิตใจ และอาการของโรคซึมเศร้ารวมถึงภาวะเครียด 

สำหรับภาวะหลงตัวเองในงานวิจัยนี้ คอสตาส กล่าวว่า สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือภาวะหลงตัวเองที่ถูกเรียกว่า 'การหลงตัวเองแบบให้ค่าสูง' (grandiose narcissism) และ 'การหลงตัวเองแบบอ่อนไหว' (vulnerable narcissism)

โดยคนที่หลงตัวเองแบบแรกจะเป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญตัวเองเกินพอดีและสนใจฝักใฝ่กับชื่อเสียง อำนาจ และสถานะของตน ขณะที่ผู้ที่หลงตัวเองแบบที่สองนั้นจะอยู่ในกลุ่มที่มองว่าการกระทำของคนอื่นมุ่งร้ายกับตน

ผลลัพธ์จากงานวิจัยชิ้นนี้สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่มีภาวะหลงตัวเองแบบให้คุณค่าตัวเองสูงว่ามีโอกาสลดความเสี่ยงในการประสบกบภาวะเครียดหรือภาวะซึมเศร้า 

คอสตาส เสริมว่า งานชิ้นนี้ต้องการสนับสนุนความหลากหลายของบุคคลและไม่มองว่าภาวะหลงตัวเองเป็นเรื่องดีหรือไม่ดี แต่มองว่าเป็นเพียงผลผลิตจากวิวัฒนาการและการแสดงออกของธรรมชาติมนุษย์เท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งจากมหาวิทยาลัยโบว์ลิงกรีนในสหรัฐฯชี้ว่า ประชาชนวัยผู้ใหญ่ตอนต้นมักรู้สึก 'ลำบากใจ' หากถูกกล่าวว่าเป็นคนหลงตัวเอง นอกจากนี้ งานวิจัยดังกล่าวยังสะท้อนว่า ประชากรวัย 18 - 25 เป็นกลุ่มที่หลงตัวเองที่สุด

อีกด้านหนึ่ง 'เรมานิ เดอร์วาซูเล' นักจิตวิทยาคลินิก กล่าวว่า บทสรุปดังกล่าวจำเป็นต้องมองด้วยความระมัดระวัง เนื่องจาก ผู้ที่มีภาวะหลงตัวเองแบบให้คุณค่าตัวเองสูงนั้นมักจะเก่งในการปกป้องตนเองด้วยกลไกที่ห่อหุ้มตัวเองจากความเครียดและอารมณ์ในแง่ลบ แต่ก็ต้องตระหนักถึงความเสียหายของภาวะหลงตัวเองด้วย เช่น วิธีอันเลวร้ายที่คนหลงตัวเองใช้กับผู้อื่น 

อ้างอิง; Queen University's Belfast, CNN, The Independent