ไม่พบผลการค้นหา
ค่าใช้จ่ายต่อเดือนของครัวเรือนอยู่ที่ 20,127 บาท ทรงตัวเท่าๆ เดือนก่อนหน้า ขณะเทียบตัวเลขรายรับ-หนี้สิน ปีก่อน สะท้อนความเปราะบางและความหน้ากังวลของกันชนทางรายได้

ข้อมูลค่าใช้จ่ายของครัวเรือน ประจำเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ของกองดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ชี้ ครัวเรือนขนาดครอบครัวตั้งแต่ 1 - 3 คน มีรายจ่ายต่อเดือนสูงถึง 20,127 บาท ใกล้เคียงกับตัวเลขในเดือนก่อนหน้า เช่น เม.ย.ที่ค่าใช้ราวของครัวเรือนอยู่ที่ 20,126 บาท และ มี.ค.อยู่ที่ 20,543 บาท 

ในจำนวนดังกล่าว ร้อยละ 22.65 หรือคิดเป็นมูลค่า 4,559 บาท เป็นค่าโดยสารสาธารณะ ค่าซื้อยานพาหนะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง รวมไปถึงค่าโทรศัพท์ ขณะที่ค่าใช้จ่ายอีกราว 4,457 บาท ถูกใช้ไปกับค่าเช่าบ้าน ค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม และเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน 

เมื่อมองที่สัดส่วนการบริโภค ครัวเรือนใช้จ่ายราวร้อยละ 62 กับสินค้าที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ขณะที่อีกร้อยละ 38 ถูกใช้กับอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ โดยสัดส่วนดังกล่าวไม่ได้แตกต่างกันมากนักเมื่อย้อนกลับไปดูในเดือนก่อนหน้า เช่น เม.ย.ที่อยู่ในสัดส่วนเท่าเดือน พ.ค.และเดือน มี.ค.ที่อยู่ที่ร้อยละ 62.81 และ 37.19 ตามลำดับ


พักเรื่องเงินเก็บไปก่อน

อย่างไรก็ตามเมื่อย้อนกลับไปดูรายได้ของครัวเรือนในปี 2562 ตามข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ครัวเรือนทั่วประเทศมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 26,018 บาท โดยส่วนใหญ่เป็นรายได้จากการทำงานร้อยละ 71.1 รายได้ที่ไม่ได้เกิดจากการทำงาน เช่น เงินที่ได้รับความช่วยเหลือจากบุคคลนอกครัวเรือน/รัฐ ร้อยละ 12.8 และรายได้จากทรัพย์สิน เช่น ดอกเบี้ย อีกร้อยละ 0.8

อีกทั้ง จากทั้งประเทศ 21.9 ล้านครัวเรือน เกือบครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 45.2 คิดเป็นจำนวน 9.8 ล้านครัวเรือน มีหนี้สิ้นเฉลี่ย 164,055 บาท โดยแบ่งเป็นหนี้สินเพื่อการอุปโภคบริโภคร้อยละ 37.2 หนี้สินเพื่อการซื้อบ้านและที่ดินร้อยละ 35.3 และหนี้สินเรื่องการศึกษาร้อยละ 1.3 

ตัวเลขเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นว่าประชากรของประเทศมีความเปราะบางเรื่องสถานการณ์ทางการเงินเป็นอย่างมากซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลผลสำรวจสัดส่วนสินทรัพย์ทางการเงินและค่าใช้จ่าย จากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ของธนาคารไทยพาณิชย์ ที่พบว่า กว่าร้อยละ 34.8 ของครัวเรือนไทยมีสินทรัพย์ทางการเงินครอบคลุมค่าใช้จ่ายไม่เกิน 1 เดือน ขณะที่อีกร้อยละ 14.2 และ 10.9 มีครอบคลุมเพียง 1-2 และ 2-3 เดือน ตามลำดับ ประชาชนจำนวนมากจึงได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์โรคระบาดที่ทำให้ตัวเลขการว่างงานพุ่งขึ้น

ปัญหาดังกล่าว ถูกพูดถึงในรายงานเรื่อง 'รายได้แรงงานไทย: ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องกันแก้ไข' ของนายรชต ตั้งนรารัชชกิจ ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ชี้ว่า เมื่อย้อนกลับไปดูตัวเลขสัดส่วนรายได้แรงงานต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ระหว่างปี 2547 และ 2560 พบว่า ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา แรงงานมีรายได้เพิ่มจริง แต่อยู่ในอัตราที่น้อยกว่า การขยายตัวของจีดีพี ซึ่งสะท้อนออกมาจกาสักส่วนรายได้แรงงาน/จีดีพี ที่ลดลงจากร้อยละ 49.7 ในปี 2547 มาอยู่ที่ร้อยละ 48.2 ในปี 2560 

เท่านั้นยังไม่พอ ขณะที่รายได้เพิ่มขึ้นไม่มากแต่รายจ่ายจำเป็นกลับเพิ่มขึ้นตามราคาสินค้าและบริการ อีกทั้งครัวเรือนบางกลุ่มยังมีรายได้ที่ไม่จำเป็นเพิ่มขึ้น ซึ่งปัญหานี้ไปสะท้อนในอัตราการขยายตัวของหนี้ครัวเรือนที่สูงเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 148 ของจีดีพี ในไตรมาส 3/2562 ซึ่งรายงานชี้ว่าสถานการณ์รายได้แรงงานที่ขยายตัวไม่ทันกับการใช้จ่ายเป็น "ปัญหาเชิงโครงสร้าง" ที่รัฐบาลต้องเข้ามาแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นผ่านมาอุดหนุนรายได้ และการแก้ปัญหาระยะยาวทั้งจากการพัฒนาทักษาะแรงงาน ไปจนถึงการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาตั้งแต่ต้นทาง