ไม่พบผลการค้นหา
เหตุที่โบราณสถานไม่ค่อยมีร่มไม้ให้พักจากแดดเปรี้ยงๆ ก็เพราะรากไม้-วัชพืชชอนไชเสี่ยงทำโบราณสถานพัง จนต้องใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยรักษา

แม้กระแสละครพีเรียตเรื่องดังจะซาๆ ไปแล้ว แต่เชื่อไหมว่า จำนวนนักท่องเที่ยวที่ไปวัดไชยวัฒนาราม รวมถึงโบราณสถานแห่งอื่นๆ ในอยุธยา จนถึงตอนนี้คนก็ยังเยอะกว่าปีก่อนๆ อยู่โข ส่วนหนึ่งเพราะมีเรื่องของการใส่ชุดไทยเข้ามาช่วยหนุน เพราะต้องกับรสนิยมการชอบเซลฟี่ของชาวเรา มีโบราณสถานเป็นพรอพ ช่วยเลี้ยงกระแสท่องเที่ยวสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ไว้ได้

แต่จากประสบการณ์ส่วนตัว 100 เปอร์เซ็นต์ ของคนรู้จักที่ได้ไปเยือนโบราณสถาน บอกว่าถึงตอนนี้จะเข้าหน้าฝนแล้ว แต่ก็ร้อนจนแทบจะละลายไปกับก้อนอิฐก้อนหิน แถมบ่นยาวๆ ไปอีกว่าร่มไม้ก็น้อยนิด ทำไมหนอวัดวาโบราณไม่ค่อยจะมีต้นไม้ให้หลบแดดกันเลย ได้ยินเพื่อนบ่นก็นึกขึ้นมาได้ว่า เรื่องต้นไม้ในโบราณสถานนี่จริงๆ น่าสนใจอยู่ เพราะต้องมีการจัดการอย่างเป็นระบบ และตอนนี้ถึงกับต้องใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาช่วยเลยทีเดียว


1.jpg

ต้นไม้ในโบราณสถาน: ซับซ้อนกว่าที่คิด

ก่อนจะเข้าสู่เรื่องว่าใช้วิทยาศาสตร์มาช่วยจัดการต้นไม้อย่างไรนั้น ขออธิบายให้เห็นภาพคร่าวๆ ก่อนว่า ต้นไม้ในโบราณสถานมีการแบ่งประเภทอยู่เหมือนกัน ประเภทแรก คือ ต้นไม้ระดับพรีเมียม คือ ต้นไม้ที่ช่วยปรับภูมิทัศน์ และต้นไม้มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เช่น ต้นไทรที่โอบล้อมเศียรพระวัดมหาธาตุ ดึงดูดนักท่องเที่ยว และต้นพุทราในพระราชวังโบราณอยุธยา ที่เชื่อกันว่าเก่ากึ๊กดึกดำบรรพ์ จนมีตำนานเล่ากันมันส์ๆ ว่าเป็นเพราะทหารพม่ามาคายเม็ดพุทราทิ้งไว้ตอนยกทัพมาตีกรุงศรีฯ ต้นไม้กลุ่มนี้จะได้รับการดูแลตัดกิ่งใบให้โปร่งไม่บดบังโบราณสถาน และคอยดูแลว่าตรงไหนเปราะ ตรงไหนผุ ก็ต้องมี 'รุกขกร' (Tree Surgeon) ไปเยียวยาให้เรียบร้อย

บรรยายภาพ: เจดีย์วัดพระงามอายุราวสมัยอยุธยาตอนต้น-ตอนปลาย มีต้นโพธิ์งอกอยู่สูงมาก อาจะทำอันตรายต่อโครงสร้างได้

ส่วนต้นไม้อีกประเภทคือ ต้นไม้กลุ่มเสี่ยง ซึ่งมีอยู่หลายแบบ เช่น ต้นไม้จะล้มแหล่มิล้มแหล่ หมิ่นเหม่กับสวัสดิภาพของนักท่องเที่ยวและตัวโบราณสถาน รวมถึงพวก “วัชพืช” ที่เป็นปัญหามากๆ ก็พวกต้นโพธิ์ ต้นไทร ต้นหญ้า ที่ขึ้นบนเจดีย์สูงๆ บางคนมองว่าดูขลังดีออก แต่จริงๆ รากที่ชอนไชจะสร้างความเสียหายให้โครงสร้าง ทิ้งไว้นานเจดีย์อายุหลายร้อยปีอาจทรุดพังได้ง่ายๆ นี่เองเป็นที่มาของการที่หน่วยงานดูแลโบราณสถานต้องคิดค้นหาวิธีกำจัดและควบคุม



3.jpg

อย่างที่บอกว่าตอนนี้หน้าฝนแล้ว วัชพืชยิ่งตัดเลยยิ่งแตกยอด ต้องเสียงบประมาณในการดูแลไม่น้อย วิธีการเดิมๆ เช่น การส่งเจ้าหน้าที่ปีนขึ้นไปถอนต้นไม้ นอกจากจะต้องปีนกันถี่ๆ ทำงานมือเป็นระวิงช่วงหน้าฝนแล้ว ก็ยังเสี่ยงต่ออันตรายด้วย


เลเซอร์ตัดต้นไม้

ช่วงหลังมานี้เราจึงเริ่มเห็นการทดลองใหม่ๆ ใช้วิทยาศาสตร์มาช่วยควบคุมต้นไม้ในโบราณสถานมากขึ้น โดยไม่นานมานี้ เพจ “สำนักศิลปากรที่ ๓ พระนครศรีอยุธยา” ได้แชร์เรื่องอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ร่วมกับกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ กรมศิลปากร ทดสอบวิธีการตัดต้นไม้ขนาดเล็กด้วยเครื่องเลเซอร์บนโบราณสถานที่วัดพระงาม อยุธยา ซึ่งก็ได้ผลพอประมาณ สามารถหักต้นโพธิ์ต้นน้อยได้โดยไม่ต้องใช้มนุษย์ปีนขึ้นไปสูงๆ

บรรยายภาพ: การทดลองใช้เลเซอร์ของอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ


ส่วนสำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ก็กำลังทดสอบวิธีการใหม่ล่าสุดอยู่เหมือนกัน นั่นก็คือ “การใช้ฮอร์โมนส์” ควบคุมการเจริญเติบโตของต้นไม้ เริ่มการทดลองกับ “ชาดัด” ที่ตัดตกแต่งเรียบร้อยแล้ว ถ้าวิธีนี้ได้ผล ชาดัดจะไม่แตกกิ่งแตกใบขยายต้น คงสภาพสวยเป๊ะไปอีกหลายเดือนโดยไม่ต้องมาตัดแต่งเพิ่ม เพราะถูกฮอร์โมนส์ควบคุมไว้ สามารถเอาไปประยุกต์ใช้กับต้นไม้ที่งอกบนเจดีย์ หลังคาวิหาร ฯลฯ ไม่ให้งอกเอาๆ ได้เช่นกัน

ถ้าทำได้จริงก็ถือเป็นเรื่องน่ายินดี 4.0 อยู่เหมือนกันนะ

ภาพ Before - After การใช้แสงเลเซอร์

วิฬาร์ ลิขิต
เสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ตามแต่ปากอยากจะแกว่ง เรื่องที่คนทั่วไปสนใจ หรือใครไม่สนใจแต่ฉันสนใจฉันก็จะเขียน การตีความที่เกิดขึ้นไม่ใช่ที่สุด ถ้าจุดประเด็นให้ถกเถียงได้ก็โอเค แต่ถึงจุดไม่ติดก็ไม่ซี เพราะคิดว่าสิ่งที่ค้นๆ มาเสนอ น่าจะเป็นประโยชน์กับใครบ้างไม่มากก็น้อยในวาระต่างๆ จะพยายามไม่ออกชื่อด่าใครตรงๆ เพราะยังต้องผ่อนคอนโด แต่จะพยายามเสนอ Hint พร้อมไปกับสาระประวัติศาสตร์ที่คิดว่าน่าสนใจและเทียบเคียงกันได้
2Article
0Video
66Blog