ไม่พบผลการค้นหา
นิโกลัส มาดูโร ปธน. เวเนซุเอลา ถูกลอบโจมตีด้วยอากาศยานขนาดเล็กไร้คนขับ หรือโดรน ระหว่างพิธีสวนสนามในวันครบรอบ 80 ปี กองทัพเวเนฯ แต่นักวิเคราะห์มองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวอาจถูกใช้เป็นข้ออ้างในการปราบปรามฝ่ายต่อต้านรัฐบาล

รัฐบาลเวเนซุเอลาแถลงข่าวตำรวจจับกุมผู้ต้องสงสัยเกี่ยวข้องกับการใช้โดรนบรรทุกวัตถุระเบิดโจมตีประธานานาธิบดีนิโกลัส มาดูโร ระหว่างพิธีสวนสนามในกรุงการากัส เมื่อวานนี้ (4 ส.ค.) โดยระบุว่า ผู้ต้องสงสัยอาจเกี่ยวพันกับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่มีแนวคิดขวาจัด และ ปธน.มาดูโรแถลงว่า รัฐบาลโคลอมเบียและรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลอบสังหารครั้งนี้

นายฮวน เอ็มมานูเอล ซานโตส ประธานาธิบดีโคลอมเบีย ผู้นำประเทศเพื่อนบ้านของเวเนซุเอลา เป็นหนึ่งในผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายการบริหารประเทศของนายมาดูโร รวมถึงคัดค้านการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อทั้งภูมิภาค แต่รัฐบาลโคลอมเบียออกแถลงการณ์ยืนยันว่าข้อกล่าวหาของมาดูโรเป็นเรื่องไม่มีมูลความจริง

เหตุโดรนระเบิดกลางอากาศในกรุงการากัสเกิดขึ้นขณะที่นายทหารกำลังเดินสวนสนาม และนายมาดูโรอยู่บนเวทีเตรียมกล่าวสุนทรพจน์ แต่เหตุระเบิดทำให้ทหารจำนวนมากวิ่งหนีออกจากพิธี สร้างความตื่นตระหนกตกใจแก่ผู้เห็นเหตุการณ์ และก่อนหน้านั้นยังเกิดเหตุระเบิดในอาคารแห่งหนึ่งไม่ไกลจากสถานที่จัดพิธีสวนสนามอีกด้วย แต่ไม่มีผู้บาดเจ็บ และผลสอบสวนระบุว่าต้นตอเกิดจากแก๊สระเบิด ไม่เกี่ยวกับการก่อการร้าย

ขณะที่นายเดวิด สมิลด์ นักวิเคราะห์ของวอชิงตันโพสต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านลาตินอเมริกา เปิดเผยว่าการลอบโจมตีครั้งนี้ไม่ได้เป็นฝีมือของมืออาชีพ สังเกตได้จากการที่โดรนระเบิดก่อนถึงเป้าหมาย หรืออาจเป็นการระเบิดที่ไม่หวังผลทำร้าย และไม่น่าใช่การสร้างสถานการณ์ของรัฐบาลเพื่อปรักปรำฝ่ายตรงข้าม แต่เชื่อว่ารัฐบาลจะใช้เหตุการณ์นี้เป็นข้ออ้างในการปราบปรามกลุ่มต่อต้านรัฐบาลมากขึ้น

ทั้งนี้ นิโกลัส มาดูโร ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีหลังจากที่อูโก ชาเบซ อดีตผู้นำการปฏิวัติและประธานาธิบดีเวเนซุเอลาที่ปกครองประเทศยาวนานหลายสิบปี ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2556 และมีการจัดเลือกตั้งพิเศษเพื่อเลือกประธานาธิบดีขึ้นในวันที่ 14 เม.ย. และนายมาดูโรได้รับคะแนนเสียงถล่มทลายในฐานะผู้ช่วยคนสนิทของชาเบซ

อย่างไรก็ตาม กลุ่มต่อต้านรัฐบาลรวมตัวเดินขบวนประท้วงอย่างต่อเนื่องในปี 2557 และมีผู้ชุมนุมถูกปราบปรามเสียชีวิตกว่า 40 ราย ส่งผลให้แนวร่วมฝ่ายค้านที่รวมตัวกันหลายพรรคได้รับเสียงข้างมากในการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. เมื่อปี 2558 แต่รัฐบาลได้ยื่นคำร้องต่อศาลสูงสุดให้ยุบสภา จนถูกเรียกว่า 'วิกฤตรัฐธรรมนูญ' ประกอบกับที่มีปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนที่ไม่พอใจรัฐบาลออกมารวมตัวประท้วงเพิ่มขึ้น

การเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อปี 2560 มีการโจมตีค่ายทหาร รวมถึงทหารแตกแถวพยายามก่อรัฐประหาร ทั้งยังมีการเดินขบวนประท้วงนโยบายเศรษฐกิจที่เน้นการยึดกิจการต่างชาติมาบริหารเอง แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จ และรัฐบาลสั่งปราบปรามผู้ชุมนุมต่จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บนับร้อยราย

แม้ว่านายมาดูโรจะได้รับเลือกตั้งกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเวเนซุเอลาอีกสมัยในการเลือกตั้งเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา แต่นานาประเทศ รวมถึงสหประชาชาติ ไม่ยอมรับว่าการเลือกตั้งดังกลาวเป็นอิสระเสรีและมีความเป็นธรรม เพราะแกนนำฝ่ายค้าน รวมถึงนักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล ถูกจับกุมและตั้งข้อหา จึงอยู่ระหว่างดำเนินการสอบสวน ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้

ที่มา: AFP/ Telegraph/ Washington Post

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: