ไม่พบผลการค้นหา
ความร้อนแรงของราคาบิทคอยน์ ทำให้คนหันมาสนใจสกุลเงินดิจิทัลมากขึ้น และเอสโตเนียอาจกลายเป็นประเทศแรกในโลกที่จะมีสกุลเงินดิจิทัลเป็นของตัวเอง มั่นคงกว่าบิทคอยน์เพราะมีรัฐค้ำประกันและควบคุม

หลังจากราคาบิทคอยน์ผันผวนจาก 900 มาเป็นเกือบ 20,000 ดอลลาร์ในเวลา 12 เดือน และร่วงลงมาเหลือ 12,000 ดอลลาร์ในเวลาเพียง 3 วัน ก็ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าสกุลเงินดิจิทัลเป็นฟองสบู่จริงๆ หรือเป็นอนาคตของโลกกันแน่ และรัฐบาลจะต้องเข้ามาจัดระเบียบการลงทุนในบิทคอยน์มากน้อยแค่ไหน อย่างไร เพื่อเสถียรภาพทางการเงินของโลก

คำตอบของอนาคตสกุลเงินดิจิทัล อาจเป็นการมาพบกันตรงกลาง ระหว่างการมีสกุลเงินสากลที่ทำให้การโอนย้ายข้ามประเทศ ทำธุรกรรมต่างๆ ง่ายดายและเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด กับการมีสกุลเงินที่มีเสถียรภาพ ได้รับการรับรองโดยรัฐ นั่นก็คือสกุลเงินดิจิทัลของรัฐ 

เอสโตเนีย เป็นหนึ่งในประเทศแรกๆในโลกที่กำลังทำสกุลเงินดิจิทัลของตนเองอย่างจริงจังและเป็นระบบ หลังจากประสบความสำเร็จในการปฏิรูปเศรษฐกิจและระบบราชการดิจิทัลทั้งประเทศ มีทั้ง e-government สามารถทำธุรกรรมเกือบทุกชนิด และแม้แต่เลือกตั้งผ่านระบบออนไลน์ได้ และ e-residency หรือการให้สัญชาติดิจิทัล เพิ่มความสะดวกให้คนต่างชาติที่ต้องการมีสัญชาติเอสโตเนีย เพื่อความคล่องตัวในการทำธุรกิจในสหภาพยุโรป

นายกาสปาร์ กอร์ยุส ผู้จัดการโครงการ E-residency ของเอสโตเนียที่เปิดตัวไปตั้งแต่ปี 2014 เปิดเผยว่ามีแผนจะเริ่มการทำสกุลเงินดิจิทัล "เอสต์คอยน์" โดยมุ่งเป้าไปที่พลเมืองดิจิทัลของตนเองจากโครงการ E-residency ที่มีอยู่ 27,000 คน เกือบทั้งหมดเป็นชาวต่างชาติที่เปิดบริษัทในเอสโตเนียโดยที่ตัวเองไม่ได้อยู่ในประเทศจริงๆ แต่นายกอร์ยุสยืนยันว่าสกุลเงินเอสต์คอยน์ จะไม่ได้ถูกนำมาแทนที่หรือแข่งขันกับเงินยูโรอย่างแน่นอน

เอสต์คอยน์จะถูกใช้งานเพื่อจุดประสงค์ 3 ประการ ได้แก่การให้บริการพลเมืองดิจิทัลของตนเอง พิสูจน์ตัวตนของบุคคลผ่านระบบออนไลน์ และเพื่อชำระหนี้ ซื้อสินค้า-บริการแทนเงินสดโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม และไม่ต้องผ่านระบบธนาคาร ซึ่งคุณสมบัติประการหลังทำให้สถบันการเงินในประเทศ รวมถึงอียูไม่พอใจ โดยประธานธนาคารกลางเอสโตเนียถึงกับกล่าวว่าเอสต์คอยน์ไม่ใช่โครงการของรัฐ และก็ไม่ได้รับการเห็นชอบจากธนาคารกลางด้วย ขณะที่อียูก็ยืนยันว่าสกุลเงินเดียวที่ได้รับการยอมรับในอียู คือเงินยูโร

อย่างไรก็ตาม เอสต์คอยน์อาจไม่กระทบกับเงินยูโรมากนัก เพราะถ้ารัฐบาลตั้งใจจะใช้สกุลเงินนี้กับพลเมืองดิจิทัลเท่านั้น พวกเขาก็ถือเป็นคนกลุ่มเล็กมาก ในช่วง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2014-2017 ที่มีโครงการ E-residency พลเมืองกลุ่มนี้นำเงินเข้าเอสโตเนียรวมกันประมาณ 14.4 ล้านยูโร หรือ 560 ล้านบาท และในปี 2025 คาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,800 ล้านยูโร หรือ 70,000 ล้านบาท ถือเป็นตัวเลขน้อยมากหากเทียบกับขนาดเศรษฐกิจอียูในปัจจุบัน

ยังไม่มีรายงานชัดเจนว่าเอสโตเนียจะเริ่มใช้เอสต์คอยน์จริงเมื่อไหร่ แต่ก่อนหน้านี้ นายนิโกลาส มาดูโร ประธานาธิบดีเวเนซุเอลา เพิ่งประกาศใช้ "เปโตร" เงินดิจิทัลของรัฐสกุลแรกของโลก เพื่อตอบโต้การคว่ำบาตรจากสหรัฐฯและพันธมิตร โดยใช้น้ำมันดิบเป็นเครื่องค้ำประกันค่าเงิน ส่วนธนาคารกลางสวีเดนก็ประกาศว่าอาจใช้สกุลเงินดิจิทัลเพื่อให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค ที่ใช้เงินสดน้อยลงเรื่อยๆ ขณะที่ธนาคารกลางอังกฤษก็กำลังพิจารณาเช่นกันว่าจะออกสกุลเงินดิจิทัลเพื่อให้ประชาชนและภาคธุรกิจใช้งานหรือไม่