ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงเกษตรเน้นปลูกตามความต้องการของตลาด ปลุกโครงการปลูกพืชอื่นหลังฤดูทำนาปี เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หวังช่วยลดปริมาณข้าวนาปรังส่วนเกิน และช่วยเพิ่มผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ไม่เพียงพอกับความต้องการ ยืนยันไม่ได้มีนโยบายส่งเสริมปลูกมันสำปะหลังโรงงานทดแทนข้าว แต่จะเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังเดิม

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์ราคาข้าวปัจจุบัน พบว่า ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น ร้อยละ 15 ราคาที่เกษตรกรขายได้ ณ ไร่นาทั้งประเทศ ระหว่างเดือน ม.ค. - ก.ค. 2561 เฉลี่ยตันละ 7,835 บาท โดยภาคกลางราคาเฉลี่ยตันละ 7,804 บาท สำหรับข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ 105 ปี 2561 เฉลี่ยตันละ 13,529 บาท 

ข้าวล้นตลาด ออกมาตรการจำนำยุ้งฉาง รักษาระดับราคา

โดยสถานการณ์การผลิตข้าว ปัจจุบันพบว่า ข้าวมีผลผลิตส่วนเกินจากความต้องการตลาด โดยไทยมีพื้นที่เพาะปลูกทั้งประเทศประมาณ 71.8 ล้านไร่ ปริมาณผลผลิตประมาณ 32.63 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการทั้งในและนอกประเทศเฉลี่ย 5 ปี ประมาณ 30.88 ล้านตัน ดังนั้นจึงเกิดผลผลิตส่วนเกิน 1.75 ล้านตัน เมื่อคำนวณกลับเป็นพื้นที่จะมีเนื้อที่ปลูกข้าวมากเกินความต้องการ 2.6 ล้านไร่ 

ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงมีโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2561/62 เพื่อชะลอการขายข้าวเปลือกมิให้ออกสู่ตลาดในปริมาณมากเกินความต้องการของตลาด โดยให้เก็บข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางเพื่อรักษาระดับราคาข้าวเปลือกให้มีเสถียรภาพ ตลอดจนให้เกษตรกรขายข้าวเปลือกได้ในราคาที่สูงขึ้น ซึ่งดำเนินการทุกจังหวัดทั่วประเทศ 

โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปี 2561/62 กับกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งหากเกษตรกรมียุ้งฉางของตัวเอง จะต้องเป็นยุ้งฉางที่มั่นคงแข็งแรงที่สามารถเก็บข้าวเปลือกไว้ได้ตลอดระยะเวลาที่กู้เงิน โดยไม่ทำให้ข้าวเกิดความเสียหายและเสื่อมคุณภาพ ส่วนเกษตรกรที่ไม่มียุ้งฉางเป็นของตัวเอง (เช่น เกษตรกรในภาคกลาง 22 จังหวัด) สามารถเข้าร่วมโครงการได้ โดยนำไปเข้าร่วมกับสถาบันเกษตรกรที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับส่วนงานราชการ ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน (รวมถึงศูนย์ข้าวชุมชน) ที่รวบรวมข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2561/62 จากสมาชิกสถาบันเกษตรกร

หนุนปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ลดปลูกข้าวนาปรัง

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ต้องการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวไม่ให้ตกต่ำกว่าต้นทุนการผลิตของชาวนา รัฐบาลจึงได้มีนโยบายสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวนาปรังไปปลูกพืชอื่นๆ ที่ตลาดมีความต้องการ และให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า โดยคำนึงถึงสภาพพื้นที่เหมาะสมตาม Agri-Map ซึ่งในรายการพืชอื่นๆ นั้น มีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นทางเลือกหนึ่งและมีพืชใช้น้ำน้อยอื่นๆ 

สำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีเนื้อที่เพาะปลูกประมาณ 6.71 ล้านไร่ ปริมาณผลผลิต 5.03 ล้านตัน ในขณะที่ความต้องการตลาดเฉลี่ยปีละประมาณ 7.95 ล้านตัน ดังนั้น ตลาดต้องการเพิ่มอีกถึง 2.92 ล้านตัน โดยการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รุ่นที่ 2 ช่วง พ.ย. 2561 -ก.พ. 2562 จะตรงกับช่วงนาปรังพอดี และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีอายุเก็บเกี่ยว 120 วัน ซึ่งเกษตรกรจะสามารถทำข้าวนาปีต่อได้เลย

ทั้งนี้ โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้งหลังนา ปี2560/61 มีเป้าหมาย 700,000 ไร่ โดยรัฐบาลช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับเป็นต้นทุนการผลิตไร่ละ 2,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ ต่อราย ซึ่งมีเกษตรกรเข้าร่วม ทั้งหมด 67,000 ราย พื้นที่ 500,000 ไร่ โดยผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการเกิดประโยชน์ ช่วยให้เกษตรกรได้ผลผลิตโดยเฉลี่ย 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ สามารถขายได้ 7.3 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้มีรายได้ 7,300 บาทต่อไร่ กำไร ประมาณ 3,300 บาท ซึ่งสูงกว่า การปลูกข้าวนาปรัง ซึ่งมีกำไรเพียงไร่ละ 560 บาทต่อไร่ ทำให้มีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์คุณภาพดีออกสู่ตลาดกว่า 500,000 ตัน โดยไม่ต้องนำเข้าข้าวสาลี สามารถปรับสมดุลการผลิตข้าวใน ฤดูกาลผลิต 2560/61 ทำให้ราคาข้าวดีขึ้น เนื่องจากลดปริมาณข้าวนาปรังส่วนเกิน และเป็นการปรับระบบการปลูกข้าว ไม่ให้มีการปลูกข้าวอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ซึ่งสามารถช่วยลดการระบาดของศัตรูพืชลงได้

แนะปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่เพาะปลูกเดิม ไม่ปลูกในนาข้าว

สำหรับสินค้ามันสำปะหลัง ไม่ได้อยู่ในรายการพืชอื่นๆ หลังฤดูทำนาปี อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ พิจารณาว่าเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่มีอนาคต ดังนั้นจึงไม่ได้มีนโยบายส่งเสริมปลูกมันสำปะหลังโรงงานทดแทนการปลูกข้าว แต่จะเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังเดิม เนื่องจากมันสำปะหลังเป็นพืชที่ไม่เหมาะสมในพื้นที่ปลูกข้าว ซึ่งมีระยะเวลาเก็บเกี่ยวช่วง 8-12 เดือน อีกทั้งส่งผลให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ไม่เหมาะแก่การปลูกข้าว 

ปัจจุบัน มีเนื้อที่เพาะปลูกมันสำปะหลัง 8.29 ล้านไร่ ผลผลิตรวม 27.24 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการอยู่ที่ 40.75 ล้านตัน จึงยังต้องการผลผลิตเพิ่มอีก 13.51 ล้านตัน ซึ่งไทยยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อแปรรูปและส่งออก  


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :