ไม่พบผลการค้นหา
คราวที่แล้วถามว่า “จีนเป็นคอมมิวนิสต์มั้ย ?” คราวนี้ถามว่า “ฮ่องกงเป็นคอมมิวนิสต์มั้ย ?” สัญญาว่าคราวหน้าจะไม่ถามว่า “ไทยเป็นคอมมิวนิสต์มั้ย ?”

(อยู่เป็นข่ะ กลัวไม่ได้ไปต่อ 555) ที่ต้องถามซ้ำซากน่ารำคาญเป็นเจ้าหนูจำไมแบบนี้ก็เพราะบังเอิญว่าเมื่อสัปดาห์ที่แล้วหนังสือพิมพ์ South China Morning Post ได้ลงข่าวอันน่าประหลาดใจยิ่งสำหรับคอจีนทั้งหลาย กล่าวคือ ได้เกิดเหตุชาวจีนจากแผ่นดินใหญ่กลุ่มหนึ่งเดินทางไปเดินขบวนรำลึกถึงวาระครบห้าสิบกว่าปีของการเกิดขึ้นของการปฏิวัติอันยิ่งใหญ่ทางวัฒนธรรมแห่งชนชั้นกรรมาชีพ ณ เกาะฮ่องกง โดยแต่งตัวกันไปเต็มยศมาก มาทั้งชุด red guard ชุดเหมา ชุดทหารในกองทัพปลดแอกประชาชน มี prop ครบมือทั้งป้ายการ์ตูนโฆษณาชวนเชื่อสีสันสดใส ทั้งหนังสือสรรนิพนธ์เหมาเล่มเล็กสีแดง และป้ายผ้าที่เขียนคำขวัญสโลแกนแบบเหมาอิสต์ละลานตาไปหมด


ที่สนุกยิ่งกว่านั้นคือ สาเหตุที่ชาวจีนแผ่นดินใหญ่เหล่านี้ต้องพากันนั่งเครื่องบินมาเดินขบวนถึงที่ฮ่องกงก็เพราะว่ารัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้นไม่อนุญาตให้ทำการรำลึกถึงเหตุการณ์ปฏิวัติวัฒนธรรมในลักษณะดังกล่าว ณ แผ่นดินใหญ่ได้


ความย้อนแย้งอันยิ่งใหญ่ของข่าวนี้ท่านอาจจะไม่ get หากว่าท่านไม่ได้คุ้นเคยกับความหมายและความสำคัญของเหตุการณ์การปฏิวัติวัฒนธรรมในประเทศจีนมาก่อน ถ้าไม่รู้ก็ไม่ต้องน้อยเนื้อต่ำใจอะไรหรอกนะคะ เรื่องใกล้ตัวและสำคัญกว่ากว่านี้อีก 500 เท่าอย่างเมื่อไหร่จะได้เลือกตั้ง หรือทำไมการอยากเลือกตั้งถึงผิดกฎหมาย เรายังไม่รู้กันเลย 

ดังนั้น ไม่รู้เรื่องการปฏิวัติวัฒนธรรมของจีนนี้ถือเป็นเรื่องปกติค่ะ เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังนะคะ ถือเป็นการคลายเครียดว่า... ในแง่ของความฉิบหายวายป่วงทางการเมืองแล้ว บ้านเรายังเด็กๆ ค่ะ แค่บุกไปจับกุมหลวงปู่พุทธอิสระจากมุ้งตอนเช้าตรู่นี้เรื่องธรรมดาค่ะ เอาไว้ให้มีนักวิชาการระดับ ศ. ดร. ถูกกระทืบตายต่อหน้าธารกำนัลกันรายวันแบบยุคปฏิวัติวัฒนธรรมของจีนก่อนแล้วค่อยเริ่มหวาดผวากันก็ได้ค่ะ

การปฏิวัติวัฒนธรรม หรือที่เรียกชื่อเต็มๆ ว่า 'การปฏิวัติอันยิ่งใหญ่ทางวัฒนธรรมแห่งชนชั้นกรรมาชีพ' นั้นเป็นแคมเปญทางการเมืองที่เกิดขึ้นและดำเนินอยู่ในสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างยาวนานถึงหนึ่งทศวรรษเต็ม ตั้งแต่ฤดูร้อนปี ค.ศ. 1966 จนถึงเดือนตุลาคมปี ค.ศ. 1976 หรือหลังจากอสัญกรรมของประธานเหมาเพียงหนึ่งเดือน 

การปฏิวัติวัฒนธรรมนี้ถ้ามองในโครงสร้างทางการเมืองก็ต้องบอกว่าเกิดจากการที่ เหมาเจ๋อตง ซึ่งได้ก้าวลงจากตำแหน่งทางการเมืองและการทหารทุกตำแหน่ง (ยกเว้นตำแหน่งประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเป็นตำแหน่งเชิงสัญลักษณ์ แท้จริงแล้วไม่มีอำนาจทางการเมืองอย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด) เมื่อปลายปี 1959 นั้น มีความต้องการจะหวนกลับสู่อำนาจทางการเมืองอีกครั้ง เหตุเพราะว่าไม่พอใจในรูปแบบการบริหารงานบ้านเมืองของผู้นำพรรครุ่นที่ 2 คือประธานาธิบดี หลิวเส้าฉี และผู้ช่วยคนสำคัญของหลิวคือ เติ้งเสี่ยวผิง นั่นเอง

เหตุที่ไม่พอใจก็เพราะแก๊งหลิวเติ้งได้ผ่อนปรนหลักการสังคมนิยมเพื่อกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันและแรงบันดาลใจในการทำงานในหมู่ประชาชนมากขึ้น เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจให้ขยายตัวหลังจากประเทศได้เผชิญสภาวะความล้มเหลวทางเศรษฐกิจและข้าวยากหมากแพงอย่างหนักในช่วงปลายทศวรรษ 1950 แต่เหมากลับเห็นว่าการที่เปิดโอกาสให้เกษตรกรและกรรมกรได้บริหารจัดการส่วนต่างของผลผลิตที่ทำได้เกินโควตาเองและมีความรู้สึกเป็นเจ้าขององค์กร/ โรงงาน/ นารวมได้มากขึ้นนั้นเป็นการนำประเทศกกลับไปสู่ความเป็นทุนนิยม และจะทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในสังคมและกลับไปสู่สังคมชนชั้นอีกในที่สุด

เหมาก็เลยแก้ไขด้วยการ... ออกมาจัดอีเว้นต์ว่ายน้ำข้ามแม่น้ำแยงซีก่อนค่ะ เพื่อโชว์ความฟิต ยืนยันว่าไม่ได้แก่เหลาเหย่นะคร้าบ พร้อมปกครองบ้านเมืองจ้า (อันนี้เป็นเรื่องที่นิยมทำกันอย่างแพร่หลายในประเทศนิยมเผด็จการหลายๆ ประเทศนะ ก่อนจะขึ้นเถลิงอำนาจต้องมาทำกิจกรรมโชว์ฟิตก่อนเนี่ย)

ในขณะเดียวกันคุณเมียเหมา ณ เวลานั้น มาดามเจียงชิง (ซึ่งเป็นเมียเบอร์สี่และเป็นคนสุดท้ายของทั้งชีวิตและหัวใจทั่นประธาน) ซึ่งเคยเป็นางเอกงิ้วและได้รั้งตำแหน่งดูแลงานด้านวัฒนธรรมของจีนคอมมิวนิสต์มาตั้งแต่ปี 1959 ก็ช่วยส่งเสริมการศึกษาสรรนิพนธ์เหมาในโรงเรียนประถม มัธยม และในมหาวิทยาลัยอย่างแพร่หลาย ทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ในยุคนั้นพากันเห็นความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญของอุดมการณ์สังคมนิยมแบบเหมากับนโยบายที่แลจะประนีประนอมกับทุนนิยมของรัฐบาลภายใต้การนำของแก๊งหลิวเติ้ง พอท่านประธานส่งสัญญาณแสดงความฟิต พวกเด็กๆ ก็พร้อมใจกันเดินทางเข้าสู่เมืองหลวงเพื่อเป็นกำลังใจให้เหมาและล้มล้างรัฐบาลที่พวกเขาเห็นว่ากำลังออกนอกลู่นอกทางสังคมนิยมอันดีงามและคล้อยเข้าหาแนวทางทุนนิยมอันชั่วร้าย

เจียงชิง.jpg

มาดามเจียงชิง

การปฏิวัติวัฒนธรรมนั้นน่าจะเรียกได้ว่าเป็นการยึดอำนาจการปกครองและบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของประธานาธิบดี หลิวเส้าฉี โดยอำนาจนอกระบบที่อ้างตัวเป็นพลังมวลชนสังคมนิยมอันบริสุทธิ์ วิธีการยึดนั้นก็เป็นแบบ organic ไร้ระเบียบมาก คือกลุ่มเยาวชนผู้สนับสนุนประธานเหมาเรียกตัวเองว่า red guards (ผู้พิทักษ์แดง) ก็พากันเฮโลไปจับกุมผู้มีอำนาจทั้งหลายที่พวกเขาตัดสินร่วมกันว่าเป็นทุนนิยมแอบแฝง หรือเป็นซากเดนศักดินา หรือเป็นพวกหัวเอียงขวา ซึ่งก็จะมีตั้งแต่คนใกล้ตัวที่มีอำนาจปกครอง เช่น ครูบาอาจารย์ พ่อแม่ผู้ปกครอง ไปจนถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้เชี่ยวชาญ ปัญญาชนที่เคยได้เรียนต่างประเทศหรืออ่านหนังสือฝรั่ง ไปจนถึงศิลปิน นักเขียน กวี ตลก และใครก็ตามที่ไม่ได้ใช้แรงงานร่างกายในการหาเลี้ยงชีพ

จับมาแล้วก็เอามาแห่ประจาน และลงโทษด้วยการทุบตี รุมกระทืบ ทรมานด้วยรูปแบบต่างๆ จนหลายคนเสียชีวิต หลายคนรับแรงกดดันไม่ไหวต้องหนีไปฆ่าตัวตาย และอีกหลายคนก็ถูกส่งไปใช้แรงงานหนักเป็นการทำโทษจนต้องตายหรือฆ่าตัวตายทีหลังอีกที 

Mao.jpg

ตลอดระยะเวลาหนึ่งทศวรรษเต็มของการปฏิวัติวัฒนธรรมนั้นน่าจะมีผู้เสียชีวิตจากการถูกทำร้าย ทรมาน ประจาน และฆ่าตาย หรือฆ่าตัวตายหลายสิบล้านคน ในจำนวนนี้ก็มีอดีตประธานาธิบดีหลิวเส้าฉีรวมอยู่ด้วย การศึกษาในระบบโรงเรียน/มหาวิทยาลัยถูกยกเลิกไปโดยสิ้นเชิง เด็กๆ และเยาวชนในยุคนั้นต้องไปเรียนรู้จากชาวนา กรรมกรโรงงาน และหน่วยงานทหารต่างๆ แทน เศรษฐกิจประสบสภาวะชะงักงันอย่างหนัก และศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ สิ่งก่อสร้างทางศาสนา บุคลากรทางศาสนา ศิลปิน กวี นักปราชญ์ ฯลฯ ถูกเผาทำลายและฆ่าตายนับไม่ถ้วน นับเป็นทศวรรษอันเป็นโศกนาฏกรรมทั้งทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของจีนอย่างแท้จริง ในที่สุดก็สิ้นสุดลงได้เพียงพอเมื่อประธานเหมาผู้เป็นศูนย์รวมจิตใจแห่งผู้ปฏิวัติวัฒนธรรมทั้งหลายได้เสียชีวิตลงในปี ค.ศ. 1976 นั่นเอง

ทีนี้พอเหมาตายและการปฏิวัติวัฒนธรรมสิ้นสุดลง คนที่ขึ้นมาเป็นผู้นำจีนต่อจากนั้นก็คือ เติ้งเสี่ยวผิง แห่งนโยบายแมวหลากสีนั่นเอง เติ้งนั้นเป็นลูกน้องคู่ใจของ หลิวเส้าฉี ผู้ซึ่งต้องดับอนาถไปจากพิษของการปฏิวัติวัฒนธรรมและตัวเติ้งเองก็ถูกลงโทษหลายครั้งหลายหนจนแทบเอาตัวไม่รอด ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่จีนภายใต้การนำของเติ้งจะหันเข้าสู่ความเป็นทุนนิยมเต็มตัว และมองการปฏวัติวัฒนธรรมเป็นความผิดพลาดเชิงนโยบายและฝันร้ายที่รัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์อยากจะให้ทุกคนลืมไปให้หมด ดังนั้นก็ไม่แปลกอีกเช่นเดียวกันที่รัฐบาลบนผืนแผ่นดินใหญ่จะไม่อนุญาตให้ประชาชนทำกิจกรรมเดินขบวนพาเหรดรำลึกถึงการปฏิวัติวัฒนธรรมหรือแสดงความชื่นชมแห่แหนประธานเหมาและนโยบายสังคมนิยมสุดโต่งอย่างออกนอกหน้า

ความประหลาดมันน่าจะอยู่ที่ว่า ทำไมถึงยังมีคนอยากจะจัดงานรำลึกและเฉลิมฉลองวันครบรอบการเกิดขึ้นของการปฏิวัติวัฒนธรรมมากกว่า ? และหนักกว่านั้นคือทำไมจะต้องพากันไปจัดที่ฮ่องกงซึ่งในยุคที่เกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมนั้นยังคงเป็นอาณานิคมอันสุดแสนจะทุนนิยมของอังกฤษอยู่ด้วยซ้ำไป ? 

สิ่งที่ควรจะเป็นเรื่องน่าขนพองสยองเกล้าสำหรับเราๆ ท่านๆ คือ ในท่ามกลางความทรงจำอันน่าสยดสยองของการปฏิวัติวัฒนธรรมซึ่งหลายคนเรียกว่าเป็น the Chinese Holocaust นั้นเริ่มมีคนจีนจำนวนมาก รวมไปถึงคนฮ่องกงด้วย รู้สึกว่าสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ในจีนทุกวันนี้กลับน่ากลัวยิ่งกว่า เพราะจีนทุกวันนี้เป็นทุนนิยมสุดโต่งมาก ประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างหนัก แม้แต่ฮ่องกงนั้น หลังจากที่อังกฤษได้คืนให้จีนในปี 1997 ก็ประสบปัญหารวยกระจุกจนกระจาย ช่องว่างระหว่างคนโคตรรวยกับคนทั่วไปกว้างใหญ่ไพศาลจนติดอันดับ top 3 ของโลก ข้าวของแพง อสังหาริมทรัพย์แพง พวกนายทุนนายแบงก์พากันร่ำรวยขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ชนชั้นกลาง มนุษย์เงินเดือน มนุษย์ออฟฟิศทั้งหลายคุณภาพชีวิตแย่ลงทุกที จากที่เคยเช่าอพาร์ตเมนต์รูหนูอยู่เองได้ ก็ต้องย้ายไปอยู่ในห้องขนาดเท่าโลงศพ หรือกลับไปอยู่กับพ่อแม่วัยหลังเกษียณ เบียดเสียดเยียดยัดกันในห้องรูหนูตั้งแต่รุ่นปู่ย่าจนถึงหลานเหลน 

hongkong.jpg

ความเหลื่อมล้ำอันน่าสยดสยองนี้แหละที่อยู่เบื้องหลังการออกมาเรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเองแบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงของหมู่นักปฏิวัติร่มเมื่อไม่กี่ปีก่อน และก็น่าจะเป็นเหตุให้คนอีกจำนวนไม่น้อยเริ่มนึกโหยหาวันเวลาที่ทุกคนจนเท่ากันหมดแต่มีบ้านอยู่ไม่ต้องนอนในห้องกรงหมาหรืออพาร์ตเมนต์โลงศพ เริ่มเกิดความโรแมนติกกับจินตนาการการจับนายทุนนายแบงก์ทั้งหลายมาประจานและรุมกระทืบให้ตายกลางถนน เริ่มคิดทบทวนกลับไปว่า... เออหนอ... ทุนนิยมมันน่ากลัวจริงๆ มิน่าเล่าประธานเหมาถึงยึดมั่นถือมั่นในการต่อสู้กับมันถึงเพียงนั้น ก็กลับไปที่ข้อสรุปเดิมนั่นแหละค่ะ ความหิวมันไม่เข้าใครออกใคร ท้ายที่สุดแล้ว ทุนนิยมมันก็ทำลายตัวมันเองนั่นแหละ ถ้าปล่อยให้คนส่วนใหญ่จนและหิวมากจนลืมรักตัวกลัวตาย ก็เตรียมพบกับหายนะของการปฏิวัติวัฒนธรรมครั้งใหม่ได้ในอีกไม่ช้าไม่นานค่ะ 

หมายเหตุ ภาพแรกที่เห็นคือโคว้ตของเหมาในช่วงต้นของการปฏิวัติวัฒนธรรม บอกว่าใครที่ทำร้ายนักศึกษาท้ายสุดตายไม่ดีซักคน

ทั้งภาพเหมาและโคว้ตถูกเอามาติดไว้ตรงศูนย์กลางของการประท้วงของชาวปฏิวัติร่มบริเวณรอบศูนย์ราชการที่ฮ่องกงค่ะ คนที่ยืนถ่ายรูปอยู่เหนือภาพนั้นคือ โรซี่ ซึ่งเราอย่าให้เขารู้ค่ะ

อ่านเพิ่มเติม:

“อย่าบอกโรซี่”
คนทำงานวิชาการด้านประวัติศาสตร์จีน และจับตามองความสัมพันธ์ระหว่างจีนไทย และประเทศใหญ่น้อย
0Article
0Video
0Blog