ไม่พบผลการค้นหา
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ จัดสังเกตการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ คืน 14 ธ.ค. ถึง รุ่งเช้า 15 ธ.ค. 60 นำประชาชนนอนนับฝนดาวตกยอดดอยอินทนนท์ ท้าลมหนาว 9 องศา ปีนี้มาให้ชมแบบเต็มตา จุใจ นับได้กว่า 200 ดวงต่อชั่วโมง

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ เปิดเผยว่า ปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์หรือฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ในคืนวันที่ 14 ธันวาคม 2560 เริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่เวลาประมาณสองทุ่มครึ่ง ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นศูนย์กลางการกระจายของฝนดาวตกเจมินิดส์ บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ มีลักษณะเป็นริ้วสีขาวพาดผ่านท้องฟ้า เห็นได้ชัดเจนด้วยตาเปล่าและเริ่มถี่ขึ้นเรื่อย ๆ ปริมาณฝนดาวตกมากที่สุดตั้งแต่เวลาประมาณเที่ยงคืนเป็นต้นไป นับได้ประมาณ 200 ดวงต่อชั่วโมง ฝนดาวตกเจมินิดส์จะมีจุดเด่นคือมีความเร็วของดาวตกไม่มากนัก สังเกตเห็นได้ง่าย

แต่ละดวงปรากฏนานประมาณ 1-3 วินาที สามารถชี้ชวนคนข้างๆ ให้ชมดาวตกได้อย่างทันท่วงที ที่ยอดดอยอินทนนท์คืนนี้สภาพท้องฟ้าดีมาก และยังตรงกับช่วงข้างแรม ท้องฟ้าจึงมืดสนิท ไร้แสงจันทร์รบกวน ประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมชมฝนดาวตกเจมินิดส์ต่างมีความสุขที่ได้ชมดาวตกกันอย่างเต็มตา ตลอดช่วงที่ดาวตกปรากฏให้เห็นก็จะมีเสียงฮือฮา โห่ร้องพร้อมเสียงเรียกชี้ชวนกันดูเป็นระยะๆ โดยเฉพาะช่วงปรากฏให้เห็นเป็นลูกไฟขนาดใหญ่ (Fireball) ทำให้บรรยากาศการเฝ้ารอชมฝนดาวตกเจมินิดส์ในครั้งนี้เต็มไปด้วยความคึกคักและสนุกสนานเป็นอย่างยิ่ง


689368.jpg

ดร. ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมในวันนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสดร. กับอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์นำประชาชนและนักท่องเที่ยวกว่าร้อยคน ร่วมชมฝนดาวตกเจมินิดส์บริเวณยอดดอยอินทนนท์ ท่ามกลางอากาศหนาว 9 องศาเซลเซียส ประชาชนที่ขึ้นไปร่วมชมฝนดาวตกต่างเตรียมอุปกรณ์กันหนาวกันแบบจัดเต็ม ทั้งเสื้อกันหนาว ถุงนอน หมอน ผ้าห่ม ฯลฯ สำหรับนอนรอชมฝนดาวตก ซึ่งนอกจากการนอนรอชมฝนดาวตกเจมินิดส์แล้ว สดร. ยังเตรียมกล้องโทรทรรศน์ขนาดต่างๆ มากกว่าสิบตัว มาติดตั้งในบริเวณดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนได้สังเกตวัตถุท้องฟ้า

อาทิ เนบิวลาวงแหวน เนบิวลาในกลุ่มดาวนายพราน กาแล็กซีแอนโดรเมดา และกระจุกดาวต่างๆ พร้อมเจ้าหน้าที่แนะนำวิธีการดูดาวเบื้องต้น ทำให้การนอนนับฝนดาวตกเจมินิดส์ในคืนนี้ ประชาชนต่างตื่นตาตื่นใจไปกับดาวตก และดาวที่ระยิบระยับเต็มฟ้าของยอดดอยอินทนนท์ที่นับได้ว่าเป็นสถานที่ที่มีทัศนวิสัยของท้องฟ้าดีที่สุดในประเทศไทย 

นอกจากนี้ สดร. ได้จัดกิจกรรม ส่วนภูมิภาคอีก 3 แห่งที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา และลานชมวิวนางเงือก หาดสมิหลา สงขลา มีประชาชนสนใจเข้าร่วมชมฝนดาวตกเจมินิดส์ในคืนนี้กว่าสี่พันคน 


689371.jpg

สำหรับโรงเรียนในโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ฯ 77 จังหวัด เปิดฟ้าส่องโลกดาราศาสตร์ เปิดโอกาสเรียนรู้ทั่วหล้า ที่รับมอบกล้องโทรทรรศน์จาก สดร. หลายจังหวัดได้ร่วมจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์กันอย่างคึกคัก อาทิ โรงเรียนศรีสมบูรณ์วิทยา จ.ขอนแก่น โรงเรียนชานุมานวิทยาคม จ.อำนาจเจริญ โรงเรียนประทาย จ.นครราชสีมา โรงเรียนพระครูพิทยาคม จ.บุรีรัมย์ โรงเรียนเทศบาล 6 นครเชียงราย จ.เชียงราย โรงเรียนโนนคำพิทยาคม จ.บึงกาฬ เป็นต้น


689372.jpg

ส่วนในจังหวัดอื่น ๆ ได้รับแจ้งจากสมาชิกแฟนเพจของสถาบันฯ ว่า เห็นดาวตกในหลายพื้นที่ของประเทศ เช่น กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี สระบุรี สุราษฎร์ธานี ชลบุรี อุตรดิตถ์ มุกดาหาร บุรีรัมย์ จันทบุรี พิษณุโลก นครพนม ตรัง ตราด กาฬสินธุ์ ประจวบคีรีขันธ์ กาจนบุรี อุบลราชธานี ขอนแก่น สมุทรสาคร เป็นต้น แต่ปริมาณไม่มากนัก

ฝนดาวตกเจมินิดส์ เกิดจากสายธารเศษฝุ่น ของแข็ง และน้ำแข็งจำนวนมาก ที่ยังหลงเหลืออยู่ในวงโคจรของดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอน (3200Phaeton) ตัดผ่านวงโคจรของโลก ทำให้เศษฝุ่นของดาวเคราะห์น้อยเหล่านั้นเสียดสีกับชั้นบรรยากาศของโลก เกิดการเผาไหม้จนเห็นเป็นแสงสว่างวาบคล้ายลูกไฟวิ่งพาดผ่านท้องฟ้า โดยจะปรากฏในช่วงระหว่างวันที่ 4-17 ธันวาคม ของทุกปี สำหรับในปีนี้ปรากฏให้เห็นมากที่สุดวันที่ 14 ธันวาคม 2560