ไม่พบผลการค้นหา
ฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุ วาระสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยจะปราศจากความหมาย หากรัฐบาลไม่ปฏิบัติตามคำสัญญาที่จะเคารพสิทธิขั้นพื้นฐาน และฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตย

แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียขององค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน 'ฮิวแมนไรท์วอทช์' แถลงโต้ กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในงานส่งเสริมวาระสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งจัดขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 12 ก.พ. ที่ผ่านมา โดย พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่ารัฐบาล คสช. จะส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชน และสร้างสันติสุขในสังคม

แต่ ผอ.ฮิวแมนไรท์วอทช์ออกแถลงการณ์โต้แย้งว่า “แม้จะมีการประกาศรับรองสิ่งที่เรียกว่า ‘วาระสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ’ แต่ยังไม่มีวี่แววว่าระบอบเผด็จการทหารจะยุติลงในเร็ววัน เนื่องจากรัฐบาลทหารยังคงปราบปรามเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และชะลอการคืนอำนาจให้รัฐบาลพลเรือนต่อไป”

เนื้อหาในแถลงการณ์ของฮิวแมนไรท์วอทช์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยึดมั่นในการปฏิรูปอย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมารัฐบาลทหารคุกคามผู้วิพากษ์วิจารณ์และผู้เห็นต่าง ห้ามการชุมนุมสาธารณะอย่างสงบ เซ็นเซอร์สื่อ และกดดันการใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็น แทนที่จะฟื้นฟูการเคารพสิทธิมนุษยชน และนำพาประเทศกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตย โดย HRW ระบุว่า รัฐบาลทหารเคยให้สัญญาตั้งแต่รัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 แต่ไม่เคยทำตามอย่างจริงจัง และมีการใช้อำนาจอย่างกว้างขวางโดยปราศจากการตรวจสอบและกำกับดูแล

นับแต่รัฐประหาร คสช.เซ็นเซอร์และห้ามสื่อมวลชนวิพากษ์วิจารณ์ระบอบปกครองของทหาร สื่อมวลชนต้องเผชิญการคุกคาม การลงโทษ และการสั่งปิด หากเผยแพร่ความเห็นในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ต่อรัฐบาลทหารและสถาบันพระมหากษัตริย์ และประเด็นอื่น ๆ ที่ คสช.มองว่ากระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติ รวมไปถึงการรายงานข้อกล่าวหาว่ากองทัพเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน

โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ก.พ. สถานีโทรทัศน์ Peace TV ถูกสั่งให้งดการออกอากาศเป็นเวลา 15 วัน เนื่องจากวิพากษ์วิจารณ์ระบอบปกครองของทหาร และวันที่ 9 ก.พ. กองทัพภาค 4 ในจังหวัดชายแดนใต้ฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทและเรียกค่าเสียหายจากสำนักข่าวผู้จัดการออนไลน์เป็นเงิน 10 ล้านบาท ทั้งยังมีการดำเนินคดีกับนักเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย 39 คนที่ต้องการเลือกตั้งในปีนี้ ทั้งที่พวกเขาชุมนุมอย่างสงบเมื่อวันที่ 27 ม.ค.

ส่วนกรณีอื่นๆ ที่ฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่าไม่เคารพต่อสิทธิมนุษยชน ได้แก่ กรณีที่กองทัพใช้การควบคุมตัวแบบลับกับผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคง โดยเป็นการควบคุมตัวบุคคลได้นานถึง 7 วันโดยไม่มีการแจ้งข้อหา ทั้งยังมีกรณีแรงงานต่างชาติถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทนายจ้าง หลังจากที่พวกเขาเข้าร้องเรียนกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่าถูกละเมิดสิทธิแรงงาน นอกจากนี้ยังมีประชาชนอีกหลายพันคนถูกเรียกตัวเข้าพบเจ้าหน้าที่ และมีการกดดันให้ยุติการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง โดยอ้างว่า การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่หลากหลาย "ทำให้ขาดความสามัคคี" ในสังคม

ขณะที่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลวันนี้ (14 ก.พ.) ยืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์ กำชับให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเร่งทำความเข้าใจถึงเหตุผลการเลื่อนเลือกตั้ง และชี้แจงให้ประชาชนที่ออกมาชุมนุมรับทราบ โดยเชื่อว่าสังคมวันนี้รับฟังเหตุผลและชั่งใจได้ว่า ความเหมาะสมที่จะทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยและเดินหน้าไปตามโรดแมปได้คืออะไร 

พล.ท.สรรเสริญ แถลงด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ให้แนวทางกับซีกที่ทำงานฝ่ายรัฐบาลว่า การแก้ปัญหาของชาติ มีทั้งเรื่องความปรองดอง สามัคคี ปัญหาการบิน ปัญหาแรงงานต่างด้าว และเรื่องร้อยแปดพันเก้า แต่ประเด็นการเมือง ขอให้ คสช.เป็นผู้ให้สำคัญกับเรื่องนี้ ในฐานะที่ดูแลความมั่นคง ส่วนรัฐบาลขอให้มีสมาธิกับการบริหารราชการแผ่นดิน ถ้าเอาทุกอย่างมาปนกันงานจะขับเคลื่อนได้ช้า

อ่านเพิ่มเติม: