ไม่พบผลการค้นหา
ไม่ต้องพูดถึงความเป็นฐานันดรที่ 4 ที่กำลังจะกลายเป็นอดีต ความทรงพลังแบบสื่อเก่าจะเหลือเพียงเรื่องเล่าในตำนาน จาก Technology Disruption ที่เข้ามากวาดล้างอุตสาหกรรมสื่อแบบเก่าอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ยังต้องลุ้นใครจะรอดหรือตายเรียบ

'วอยซ์ ออนไลน์' ชวน 'อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ' อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันเป็นประธานบริหาร บริษัท Adap Creation (Thailand) ที่ผ่านการทำงานสื่อมานานกว่า 30 ปี

เขาคือผู้ที่ผันตัวเองจากสื่อสิ่งพิมพ์อย่างหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ มาเป็นสื่อโทรทัศน์ เนชั่นทีวี และล่าสุดประกาศ ลงมาลุยสื่อใหม่ ออนไลน์ ด้วยการก่อตั้ง เว็บไซต์ 77จังหวัด และเว็บไซต์ money2know.com 

สิ่งที่เขาประกาศชัดๆ คือ วิกฤติครั้งนี้ ไม่ใช่แค่ปรับ แต่หมายถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่ห้ามกระพริบตา!

วอยซ์ ออนไลน์ : มองวิกฤติสื่อไทยครั้งนี้รุนแรงขนาดไหน

ผมทำงานสื่อมา 30 ปี ผมว่าครั้งนี้ ไม่ต้องไปเทียบกับปี2540 เพราะวิกฤติครั้งนี้มีผลต่อเนื่องยาวนาน มันเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง บางคนบอกว่าเป็น ‘สึนามิ’ ผมว่าไม่ใช่ เพราะสึนามิ หนีขึ้นที่สูงเรายังรอดได้

แต่อันเนี้ย! มันเป็น แผ่นดินไหว บวกกับ มหาไซโคลน ที่ถล่มเข้ามาแล้วมันราบคาบหมด ถึงหลบเข้าที่กำบังก็ยังบาดเจ็บล้มตายกันเยอะ เพราะอาจโดนน้ำท่วมหรือแผ่นดินไหวซ้ำเข้าไปอีก มันเป็นเรื่องยากมากในภาวะแบบนี้ที่จะไปให้รอด

120118_Adisak-01.jpg

วอยซ์ ออนไลน์ : คนทำสื่อเห็นสัญญาณตรงนี้กันหรือเปล่า

ผมคิดว่าทุกคนเห็นหมด แต่ประเมินกันต่ำไป ผมเคยตั้งคำถามเมื่อ 5 ปีที่แล้วว่า หนังสือพิมพ์จะมีอายุอีกนานแค่ไหน บางคนบอก 5 ปีบ้าง 10 ปีบ้าง หรือไม่มีวันตาย ตอนนั้น ไม่มีใครตอบได้ว่าหนังสือพิมพ์จะอยู่รอดได้อย่างไร แต่ผมคิดว่าอายุของหนังสือพิมพ์ขึ้นอยู่กับความเร็วของอินเทอร์เน็ต ยิ่งความเร็วมาก อายุยิ่งสั้นลง เพราะเดี๋ยวนี้ร้อยละ 80 คนใช้มือถือเข้าถึงข้อมูลผ่านเว็บไซต์หรือเฟซบุ๊ก จากเดิมที่เป็น Second Screen ตอนนี้กลายเป็น Main Screen แล้ว

วอยซ์ ออนไลน์ : ประเมินต่ำ คือ? คิดว่ามีเวลาพอ

ส่วนใหญ่คิดว่ายังไม่ตาย แต่ผมว่ามันหลายๆ อย่างผสมผสานกัน คนทำหนังสือพิมพ์ที่เห็นสัญญาณก็หนีตาย ไปทำออนไลน์ เข้าประมูลช่องทีวีดิจิทัล บางค่ายโชคดีที่ไม่ได้ประมูลช่อง แต่ก็ไม่รอดอยู่ดี ไม่ใช่ว่าเพราะทีวีดิจิทัลทำให้เกิดวิกฤติสื่อ แต่มันคือผลต่อเนื่อง

ทีวีดิจิทัลมันดูดทุกอย่าง เกิดภาวะที่เรียกว่าดูดราคาโฆษณาดิ่งต่ำลงทั้งอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ แมกกาซีน การแข่งขันมันรุนแรงมาก

ราคาขายโฆษณาต่ำมาก บางช่องทีวีดิจิทัล ขายโฆษณาต่ำกว่าวิทยุ แต่ก่อนเราบอกว่าราคาทีวีดาวเทียมค่าโฆษณาต่ำเท่ากับวิทยุเอฟเอ็มในกรุงเทพ ตอนนี้ ราคาทีวีดิจิทัลบางช่วงเวลาขายต่ำกว่าวิทยุเอฟเอ็ม คือต่ำกว่า 1,000 บาท ถ้าเฉลี่ยออกมาทั้งช่อง ราคาอยู่ที่หลักร้อยเท่านั้นเอง ทีวีดิจิทัลดึงค่าโฆษณาในสิ่งพิมพ์ลงมาด้วย ตอนนี้ลงมาต่ำจนหาจุดสิ้นสุดไม่ได้

วอยซ์ ออนไลน์ :อย่างนี้สิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ แมกกาซีน ก็จะตายกันหมด

มันค่อนข้างเศร้า ปีที่แล้ว เราเห็นนิตยสารปิดตัวไปหลายฉบับ ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้วเรามีหัวหนังสือ ประมาณ 600 หัว พอมาปี 2558 ปี 2559 เหลือสักประมาณ 150 หัว ค่อยๆ ล้มตายกันไป ตอนนี้ผมว่าเหลือต่ำกว่า 100 หัวแล้ว หรือน่าจะเหลือสักประมาณ 50 หัวบนแผงหนังสือเท่านั้นเอง ซึ่ง 50 หัวที่เหลือก็เป็นหนังสือเฉพาะกลุ่มมากๆ ด้วย

ยิ่งหนังสือที่หวังขายบนแผงยิ่งไม่รอด เพราะว่าแผงหนังสือมันยุบไปหมดแล้ว ร้านหนังสือก็ทยอยปิดตัว ที่สำคัญคือสายส่งหนังสือตอนนี้คิดค่าเก็บคืนเป็นเล่ม แต่ก่อนนี้ไม่เคย

ผมคิดว่าค่ายใหญ่ๆ ที่จะรอดมี ค่ายอมรินทร์ มีหนังสือเฉพาะกลุ่มการตกแต่งบ้าน และเพราะมีงานอีเวนท์ตกแต่งบ้านที่เป็นงานใหญ่ๆ สร้างรายได้มาชดเชย การขาดทุนของหนังสือได้ 

อีกค่ายคือ GM ซึ่งตอนนี่มีหัวหนังสือยังวางขายประมาณ 7 เล่ม มีแนวโน้มปรับตัวทำฟรีก๊อปปี้เพราะควบคุมต้นทุนได้ ไม่มีค่าสายส่ง เช่น 247 เขาทำมากว่า 10 ปีแล้ว นอกจากนี้ GM ก็เป็นหนังสือเฉพาะกลุ่มที่ีมีเนื้อหาเฉพาะ ซึ่งน่าจะไปรอด

120118_Adisak-02.jpg

วอยซ์ ออนไลน์ : แล้วสิ่งพิมพ์ที่เป็นหนังสือพิมพ์หนีตายไปดิจิทัลก็ไม่รอด

ตายกันหมดเลย ผู้ประมูลดิจิทัลที่มีฐานสิ่งพิมพ์ ไม่รอดสักราย โฆษณาของหนังสือพิมพ์ลดลง ยอดขายลดลง แม้แต่หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่หัวเขียว แต่ก่อนวันศุกร์ หนามาก 40 หน้า ตอนนี้เหลือ 24 หน้า หนังสือพิมพ์ผอมลงไปเยอะ ส่วนค่ายใหญ่ๆ อยู่ในภาวะประคองตัว

วอยซ์ ออนไลน์ : ต้องปรับแบบไหนถึงจะอยู่รอดได้

ต้องยอมรับว่า สิ่งพิมพ์ที่เป็นแมกกาซีน ปรับตัวไปทำออนไลน์เป็นเจ้าแรกๆ แต่ก็ไม่รอดเพราะใช้รูปแบบดียวกันในการนำเสนอ

การปรับตัวเข้าสู่ออนไลน์ต้องทำความเข้าใจ เพราะแพลตฟอร์มที่แตกต่างกัน บางคนเข้าใจผิดว่าไปเฟชบุ๊กแล้วจะไปรอด ก็ไม่ใช่อีก เพราะเฟชบุ๊กเปลี่ยนแปลงหลังบ้านตลอดเวลา

ผมคิดว่าที่ต้องปรับตัวคือต้องสร้างแพลตฟอร์มของตัวเอง ก็คือเว็บไซต์ที่เป็นเหมือนบ้านของเรา ใครมาปิดบ้านเราไม่ได้ เหมือนเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่บนโลกดิจิทัล

คนที่ทำสื่อสิ่งพิมพ์มานานๆ นี้มีคอนเทนต์ แต่จะทำยังไงที่แปลงเนื้อหาจากกระดาษให้มาอยู่บนโลกดิจิทัลเพื่อให้คนที่เขาใช้อินเทอร์เน็ตเชื่อมต่อกันได้

แต่การอยู่รอดคือการทำให้่หลากหลายแพลตฟอร์ม ต้องทำทุกช่องทางทั้ง เว็บไซต์ เฟชบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูบ อินสตาแกรม ต้องทำทุกอย่าง และคนทำงานต้องปรับตัวเข้าใจทุกแพลตฟอร์มให้ได้ 

เราต้องเตรียมตัวเอาไว้ทั้งหมด เพราะยังมีพายุ มันจะมาเรื่อยๆ ยังไม่หมด อนาคตไม่รู้ อะไรจะมาอีก

วอยซ์ ออนไลน์ : ปรับตัวไปสื่อใหม่ ไม่ใช่เวทีของสื่อรุ่นเก่าอีกต่อไปแล้ว

ไม่ใช่หรอก คนรุ่นเก่าที่มีประสบการณ์มาผสมผสานกับคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้เรื่องอินเทอร์เน็ต จะช่วยได้มากเลย คือผมมาทำเว็บไซต์ 77 ข่าวเด็ด จริงๆ ก็คลุกคลีกับนักข่าวรุ่นเก่าเป็นส่วนใหญ่ แต่ผมเสนอให้เปลี่ยนบทบาทตัวเองจากการทำหน้าที่แมสเซนเจอร์ส่งข่าวให้ส่วนกลางมาเป็น 'มีเดีย คอนดักเตอร์' เป็นผู้เรียบเรียงประสานงาน จัดทำเนื้อหาในท้องถิ่นที่มีหลากหลายเสนอให้กับคนอ่าน เช่น เพชรบูรณ์มีเรื่องมะขามหวาน แหล่งท่องเที่ยว เนื้อหาเหล่านี้คนอ่านสามารถเข้ามาค้นอ่านได้ตลอดเวลา แต่ข่าวกระแสมันเหมือนของสด แต่ก็ต้องมีเพื่อช่วยสร้างทราฟฟิค ให้คนเข้ามาในเว็บไซต์

ผมคิดว่านักข่าวต้องปรับตัวค้นหาตัวเอง และสร้างตัวตนของตัวเองในโลกดิจิทัลบนแพลตฟอร์มที่ทำขึ้นมา แต่การทำเดี่ยวๆ แต่ละจังหวัด เสียงไม่ดังหรอก ต้องจุดประทัดพร้อมกันหลายๆ จังหวัดถึงจะมีพลังมากกว่า

120118_Adisak-03.jpg

วอยซ์ ออนไลน์ : แล้วนักข่าวส่วนกลางที่เจอมรสุมหนักๆ ต้องปรับตัวยังไง

ผมว่าอีกไม่นาน อาจจะ 2-3 ปีข้างหน้าเมื่อเทคโนโลยีพัฒนามากขึ้น นักข่าวต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง ต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมนี้หดตัวลง นักข่าวทั้งหมดในอุตสาหกรรม มีนักข่าวทั้งหมดทุกสื่อ ทั้งทีวี หนังสือพิมพ์ มันต้องหายไปเกินครึ่งนะ บางส่วนที่ปรับตัวไม่ได้ ต้องออกจากอาชีพนี้ ไปทำอาชีพอื่น อันนี้ต้องยอมรับ ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นแล้วในสหรัฐฯ นักข่าวมันหายไปกว่าครึ่ง แต่เท่าที่ดูถ้าผันตัวไปทำสื่อที่เป็นสื่อชุมชนยังมีพื้นที่ให้ทำอะไรอีกเยอะ

วอยซ์ ออนไลน์ : ความเป็นฐานันดรที่ 4 จะยังมีความขลังอยู่ไหม

ผมว่าไม่ต้องพูดแล้ว ฐานันดรที่ 4 มันเป็นอดีต เป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว แต่เรายังตรวจสอบเป็นหมาเฝ้าบ้านบนออนไลน์ได้ ต้องยอมรับเทคโนโลยีทำให้ทุกคนเป็นสื่อได้ สื่อบางส่วนต้องออกจากอุตสาหกรรมนี้ อันนี้ต้องยอมรับนะ เพราะอุตสาหกรรมมันหดตัวลง แมกกาซีนหดตัว หนังสือพิมพ์ หดตัวลง ไปโตในออนไลน์มากขึ้น แต่ไม่สามารถรองรับได้หมด ถ้าจะอยู่รอดต้องเปลี่ยนแปลงไปเป็นการนำเสนอเนื้อหาเฉพาะกลุ่มมากขึ้น

วอยซ์ ออนไลน์ : ถึงขั้นต้องยุบหรือปิดคณะวารสารศาสตร์หรือไม่

ไม่ต้องยุบ แต่ต้องเปลี่ยน เปลี่ยนตำราเรียน เปลี่ยนวิธีการเรียนการสอน เพราะนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ จะมีความจำเป็นมากขึ้นไปอีก เพราะเป็นเรื่องของการสื่อสาร COMMUNICATION ต้องรู้จักใช้สื่อในการสื่อสาร แต่จะไม่สามารถพึ่งพาเครื่องมืออย่างใดอย่างหนึ่งได้

วอยซ์ ออนไลน์ : สุดท้ายนิยามสื่อในยุคนี้คืออะไร

จะเป็นตะเกียงหรือกระจกก็ได้ แต่ต้องมีตัวตนมากกว่าการรายงานข่าวธรรมดา คือต้องมีตัวตน เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฏหมาย ธุรกิจ ข่าวการเงิน สิ่งแวดล้อม และนำเสนอข้อมูลที่น่าเชื่อถือ คือต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะ ไม่ต่างจากอาชีพอื่นๆ เช่น แพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แบบนี้ถึงจะอยู่รอด เพราะการรายงานข่าวอย่างเดียวไม่ได้แบบข่าวเหตุการณ์ ทุกคนรายงานได้หมดแล้ว

ผมยังคิดว่าในที่สุดอุตสาหกรรมสื่อ คงไม่ใช่อุตสาหกรรมที่นักธุรกิจมองถึงกำไรมากมาย แต่จะออกแบบประโยชน์เพื่อสาธารณะที่มีรายได้เลี้ยงตัวเองได้ แต่ไม่ใช่เอ็นจีโอนะ จะหวังมีกำไรเข้าตลาดหุ้นอย่างเดิมคงไม่ได้่แล้ว องค์กรสื่อยุคใหม่ต้องเล็ก กระจายตัว เบาตัวมากๆ เพราะฉะนั้นสื่อค่ายใหญ่ๆ ที่อยู่มานานจะลำบาก เพราะมีปัญหาเรื่องต้นทุน บุคลากรที่ปรับตัวช้า ดังนั้นค่ายใหญ่ถ้าไม่ปรับลดองค์กรลงให้เบาตัวมากๆ เอาตัวไม่รอด เพราะมีพายุหรืออะไรมาก็โดนเต็มๆ