ไม่พบผลการค้นหา
การพัฒนาไทยให้เป็นศูนย์กลางการแพทย์ (Medical Hub) ในอาเซียนหรือในระดับโลก เป็นนโยบายต่อเนื่องที่ได้รับการสนับสนุนจากทุกรัฐบาลตั้งแต่สิบปีที่แล้ว การพัฒนาในอนาคตจะมีทิศทางใด?

การเติบโตของธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพขยายตัวอย่างต่อเนื่องและสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศ ประเทศไทยมีปัจจัยหลายอย่างสนับสนุน เช่น ความสามารถของแพทย์ ราคาถูกกว่าเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน คุณภาพการบริการ สิ่งอำนวยความสะดวกและ แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่ตราตรึงใจ ทำให้มีความสามารถในการแข่งขันธุรกิจด้านนี้เป็นอันดับหนึ่งของโลก ขนาดตลาดขยายจนมีมูลค่ามากกว่าแสนล้านบาทต่อปี ชาวต่างชาติมาใช้บริการมากกว่า 1.2ล้านครั้งต่อปี นอกจากนี้ยังสร้างงานให้ทั้งภาคการแพทย์และภาคอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่นการท่องเที่ยว การโรงแรม การจัดการประชุม ธุรกิจอาหาร การคมนาคม อีกด้วย

จุดสมดุลย์ระหว่างรายได้นำเข้าประเทศกับความเพียงพอต่อความต้องการการรักษาของคนในประเทศ

อย่างไรก็ตามปัจจุบันราคาค่ารักษาของกลุ่มท่องเที่ยวสุขภาพในโรงพยาบาลเอกชนไทยเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน 

healthcare graphic.jpg

เปรียบเทียบราคาค่ารักษา (ดอลลาร์สหรัฐฯ)[1]

ปัจจัยอื่นด้านความสะดวกสบายและการบริการยังช่วยดึงดูดให้ชาวต่างชาติเลือกที่จะมารักษาที่ไทยอยู่ แต่ถ้าแนวโน้มราคาสูงขึ้นเรื่อยๆไม่แน่ว่าในอนาคตจำนวนลูกค้าจะลดน้อยลงเรื่อยๆ ประกอบกับสภาวะความไม่แน่นอนทางการเมืองในหลายปีที่ผ่านมาก็เป็นปัจจัยลบต่อการท่องเที่ยวรวมถึงการท่องเที่ยวสุขภาพ

นอกจากนี้การเติบโตธุรกิจการท่องเที่ยวการรักษามิใช่มีเฉพาะผลกระทบด้านบวก แต่มีผลกระทบด้านลบเช่นกันโดยเฉพาะผลกระทบต่อสังคม มีความกังวลจากภาคสังคมว่าธุรกิจการแพทย์แสวงกำไรได้ดึงบุคลากรจากภาครัฐไปสู่ภาคเอกชนซึ่งแต่เดิมก็ไม่ค่อยจะเพียงพออยู่แล้ว และจะนำไปสู่ช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ระหว่างคนรวยและคนจน เราจะมีมาตรการใดให้เอกชนลงทุนเพื่อสังคมมากขึ้น ให้กำไรบางส่วนตอบแทนสู่สังคมและประชาชนบ้าง มิใช่เข้ากระเป๋านายทุนเพียงไม่กี่คน แต่ขณะเดียวกันจะทำอย่างไรให้มาตรการเหล่านี้ไม่กระทบต่อบรรยากาศการลงทุน และลดความสามารถการแข่งขันจนแข่งกับเพื่อนบ้านไม่ได้?

การลดต้นทุนเป็นอีกแนวทาง เช่น ต้นทุนในการเดินทาง อาทิลดหรืองดเว้นค่าวีซ่า ลดความซ้ำซ้อนของการทำงานออกวีซ่า การสร้างเครือข่ายการเดินทางเชื่อมต่อกันได้นอกจากเครื่องบิน เช่น รถไฟความเร็วสูง หรือเพิ่มรายได้ด้วยการหากลุ่มลูกค้าใหม่ๆ เช่น ผู้ป่วยคนไข้นอก การบริการผู้สูงวัยต่างชาติ หรือการลดความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบ เช่น ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง เป็นต้น ในด้านลดความเหลื่อมล้ำระหว่างรัฐและเอกชน เราอาจหามาตรการทางภาษีเพื่อนำกำไรไปช่วยระบบสุขภาพภาครัฐ ควบคุมการลงทุนตลาดหุ้นในระบบสุขภาพชองกลุ่มลงทุนเก็งกำไรระยะสั้น หรือพิจารณาอนุญาตให้แพทย์ต่างชาติเข้ามาทำงานได้ในไทยเป็นต้น

ศูนย์กลางการวิจัย นวัตกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์ ส่งออกเครื่องมือแพทย์และเวชภัณฑ์

นอกจากด้านการรักษาแล้วการเป็นศูนย์กลางการแพทย์ในภูมิภาคอาเซียนยังต้องมีการพัฒนาต่อเนื่องของภาคอื่นๆด้วย เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่รัฐบาลได้ร่างแผนระยะยาวเพื่อสนับสนุนการเติบโตการเป็นศูนย์กลางการแพทย์ที่ไม่วางน้ำหนักเฉพาะเรื่องการรักษาเพียงอย่างเดียว[2] แต่ต้องเป็นทั้งศูนย์กลางการส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์บริการแพทย์ทางเลือก ศูนย์กลางการวิจัยและบริการวิชาการ

ซึ่งถ้าสำเร็จตามเป้าหมายยุทธศาสตร์แล้ว ไทยจะมีห้องปฏิบัติการการแพทย์ ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์มาตรฐานนานาชาติ ดึงดูดนักวิจัยต่างชาติเพื่อสามารถแข่งขันการผลิตนวัตกรรมใหม่ๆกับประเทศเทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างสิงคโปร์ ลดการนำเข้าเครื่องมือการแพทย์และเวชภัณฑ์จากต่างชาติ เปลี่ยนเป็นผู้ส่งออกในเขตภูมิภาคอาเซียนแทน โรงพยาบาลเอกชนก็จะสนใจร่วมลงทุนด้านวิชาการกับภาครัฐมากขึ้น ทั้งยังเป็นศูนย์กลางการผลิตแพทย์และบุคลากรแพทย์ทางเลือกที่มีมาตรฐานสูง เป็นศูนย์กลางการต้อนรับการจัดสัมมนาระดับนานาชาติด้านการแพทย์ซึ่งดึงดูดเม็ดเงินให้ภาคบริการและโรงแรมอีกมหาศาล

นอกจากนี้แล้วสิ่งที่ผมฝันอยากให้ไทยพัฒนาศูนย์กลางการแพทย์ทั้งด้านศูนย์กลางด้านการเงินสุขภาพ และศูนย์กลางการจัดการข้อมูลสารสนเทศน์สุขภาพ บริษัทประกันสุขภาพเอกชนไทยสามารถแข่งกับบริษัทข้ามชาติประกันสุขภาพเอกชนที่ครองส่วนแบ่งตลาดโลก ผมฝันว่าบริษัทไทยจะสามารถแบ่งส่วนแบ่งนี้ ขยายประกันสุขภาพในประเทศเพื่อนบ้าน พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา ที่มีการเติบโตเศรษฐกิจต่อเนื่อง มีกำลังซื้อและอุปสงค์ด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นในอนาคต ผมฝันว่าองค์ความรู้ด้านการบริหารโรงพยาบาลและการจัดการสารสนเทศน์สุขภาพของไทยที่ก้าวหน้ากว่าเพื่อนบ้าน จะสามารถเป็นผลผลิตส่งออกได้ในอนาคตและช่วยพัฒนาคุณภาพบริการให้สถานบริการการแพทย์ในประเทศเพื่อนบ้านในอนาคต


[1] ข้อมูลจาก https://medicaltourism.com/Forms/price-comparison.aspx

[2] กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ, ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (พ.ศ.2560-2569), กรุงเทพฯ, 2560.

ภาคภูมิ แสงกนกกุล
นักวิชาการผู้ศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข และวิจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำในระบบสาธารณสุขไทย
1Article
0Video
21Blog