ไม่พบผลการค้นหา
ถึงจะไม่ทำตามสัญญาในหลายเรื่อง แต่อย่างน้อยๆ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับผองเพื่อน โดยเฉพาะวิษณุ เครืองาม มือกฎหมายของรัฐบาล ก็รักษาสัญญาได้ 1 เรื่อง นั่นคือการทำตามที่บอกว่าจะได้ 'รู้วันเลือกตั้ง' ภายในเดือน มิ.ย.2561

แม้จะเป็นการรู้วันเลือกตั้งอย่างคร่าวๆ 4 วันในปี 2562 คือวันที่ 24 ก.พ. /31 มี.ค./ 28 เม.ย. (ทุกวันคือวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนนั้นๆ) และ 5 พ.ค. (วันที่ครบกำหนดต้องเลือกตั้งตามเงื่อนไขในบทเฉพาะกาล) ก็แต่อย่าเพิ่งรีบดีใจกันไป เพราะก่อนจะถึงวันเลือกตั้ง ยังมีปัจจัยต่างๆ อีกมาก ที่อาจทำให้การเลือกตั้งไม่เกิดขึ้นในต้นปีหน้าได้จริง 

ไม่รวมถึงว่า เมื่อวันหย่อนบัตรมาถึงจริงๆ พรรคการเมืองต่างๆ จะมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน เพราะอย่างที่ทุกคนรู้กันว่า คสช.ยังไม่ทำตามสัญญาเรื่องการ 'ปลดล็อก' ให้พรรคการเมืองต่างๆ เคลื่อนไหวทำกิจกรรม (แต่ถ้ายังเป็นแค่กลุ่มการเมือง จะเดินหน้าทำกิจกรรม ดูดอดีต ส.ส. มา 'ร่วมอุดมการณ์' ได้ ไม่ถือว่ามีความผิด)

อีกสิ่งที่ชวนให้สงสัยว่าจะมีความพร้อมเพียงใด ก็คือผู้คุมกฎอย่าง กกต. ที่ปัจจุบันยังต้องให้ชุดเดิมที่ครบวาระแล้วทำงานแทนไปพลางๆ ก่อน หลังยังสรรหา กกต.ชุดใหม่ไม่ได้ ทั้งที่การเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีการนำนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาใช้เป็นครั้งแรก ทั้ง

  • บัตรเลือกตั้งใบเดียว 
  • ให้แต่ละพรรคจัดทำไพรมารีเลือกผู้สมัคร ส.ส.
  • คงใบเหลืองไว้ ยกเลิกใบแดง และเพิ่มใบส้มมาแทน 

ฯลฯ

แต่อีกนวัตกรรมที่น่าสนใจ เพราะเป็นต้นเหตุของการทำให้งบประมาณที่จะใช้ในการจัดเลือกตั้งแพงขึ้นถึงร้อยละ 50 ก็คือการยุบเลิก กกต.จังหวัด และหันไปตั้ง 'ผู้ตรวจการเลือกตั้ง' ขึ้นมาแทน

ตาม พ.ร.บ.คณะกรรมการการเลือกตั้ง หน้าที่ของผู้ตรวจการเลือกตั้ง คือ การตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และพรรคการเมืองต่างๆ ในการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งในแต่ละจังหวัดจะมีผู้ตรวจการเลือกตั้ง 5-8 คน ขึ้นอยู่กับจำนวน ส.ส.ของจังหวัดนั้นๆ 

Ballot Box-kalasin.jpg

เหตุผลที่ต้องยุบ กกต.จังหวัด เพราะถูกมองว่าทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ถูกแทรกแซงได้ง่าย เนื่องจากมีแต่คนในพื้นที่ ทำให้หนีไม่พ้นเรื่องระบบอุปถัมภ์ เสี่ยงจะเกิดการทุจริต จึงมีการตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งขึ้นมาแทน เพราะกฎหมายกำหนดว่า ให้มี 'คนในพื้นที่' แค่ 2 คน ส่วนที่เหลือ 3-6 คน ให้มาจาก 'คนนอกพื้นที่'

แต่ที่ผ่านมา แนวคิดเรื่องผู้ตรวจการเลือกตั้งก็ถูกวิจารณ์มาโดยตลอด และนี่คือ 3 คำถามหลักที่น่าขบคิด

(1) การกำหนดสเปกที่อาจทำให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งมีแต่ 'ข้าราชการเกษียณ'

เพราะระเบียบของ กกต. กำหนดไว้ว่า ผู้ตรวจการเลือกตั้งต้องมีอายุระหว่าง 45-70 ปี จบการศึกษาปริญญาตรีขึ้นไป มีความซื่อสัตย์เป็นกลาง ไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดๆ 5 ปี และไม่เคยสมัครรับเลือกตั้งหรือมีญาติพี่น้องลงสมัคร ฯลฯ นอกจากนี้ ยังต้องสามารถทำงานเต็มเวลาได้ หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น

ด้วยคุณสมบัติข้างต้น ทำให้แม้แต่ สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต.ยังมองว่า คนที่เข้าเกณฑ์จะได้เป็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง หากไม่เป็นคนว่างงาน ก็น่าจะมีแต่ข้าราชการเกษียณ

(2) ความคุ้มค่าของการตั้งองค์กรใหม่ๆ ที่ทำให้งบในการจัดเลือกตั้งสูงขึ้น

ศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. ประเมินว่าการเลือกตั้ง ส.ส. ในปี 2562 น่าจะใช้งบทั้งสิ้น 5,800 ล้านบาท สูงกว่าการเลือกตั้ง ส.ส. ในปี 2557 ถึงกว่า 2,000 ล้านบาท หรือกว่าร้อยละ 50 โดยงบที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ ใช้เพื่อสนับสนุนการทำงานของผู้ตรวจการเลือกตั้ง

iLaw ได้เปิดระเบียบของ กกต.ว่าด้วยค่าตอบแทนของผู้ตรวจการเลือกตั้ง ก็พบว่า นอกจากแต่ละคนจะได้รับเงินเดือนถึง 50,000 บาท (และสามารถตั้งผู้ช่วยปฏิบัติงานมีเงินเดือน 25,000 บาทได้อีก) ยังสามารถเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงาน เช่น ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก ค่าพาหนะ ฯลฯ ซึ่งอาจสูงถึงคนละ 5,000 บาทต่อวัน

หากย้อนไปดูงบที่ใช้ในการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ในอดีต นับแต่มี กกต.ขึ้นมาจัดเลือกตั้งแทนกระทรวงมหาดไทย ระหว่างปี 2541-2545 ใช้งบ 1,815 ล้านบาท ปี 2548 ใช้ 1,500 ล้านบาท ปี 2549 ใช้ 2,159 ล้านบาท ปี 2550 ใช้ 2,521 ล้านบาท ปี 2554 ใช้ 3,817 ล้านบาท และปี 2557 ใช้ 3,885 ล้านบาท

เฉพาะงบที่เพิ่มขึ้นสำหรับให้ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ก็แทบจะสามารถจัดการเลือกตั้งในอดีตได้ 1 ครั้งอย่างสบายๆ

คำถามก็คือ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในส่วนนี้ จะมีความคุ้มค่าแค่ไหน?

และท้ายสุด (3) ประสิทธิภาพในการทำงาน ว่าจะช่วยทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรมได้จริงๆ หรือ

เพราะในการกำหนดว่าจะส่งใครไปทำงานในจังหวัดอะไรจะใช้วิธี 'จับสลาก' เช่น ผู้ตรวจการเลือกตั้งอยู่ กทม. แต่ถูกจับสลากให้ไปทำงานในจังหวัดไกลๆ ที่เขาอาจไม่เคยไปมาก่อน ซึ่งระยะเวลาในการทำงานเพียง 2 เดือน (นับแต่มี พรฎ.กำหนดวันเลือกตั้ง – วันประกาศผลเลือกตั้ง) ยากที่จะไปเข้าใจเรื่องราว 'อินไซด์' ในเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้นๆ ได้

นี่คือข้อห่วงใยถึงนวัตกรรมใหม่ราคาแพง ที่ผู้เขียนรัฐธรรมนูญหวังว่าจะนำมาใช้ปราบโกง และทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ โปร่งใส และยุติธรรม

แม้ท้ายที่สุด ไม่ว่าประชาชนส่วนใหญ่จะเลือกใครไป แต่เราก็อาจได้ 'คนหน้าเดิม' กลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัย ก็ตามที!

อ่านเพิ่มเติม:

พงศ์ บัญชา
0Article
0Video
0Blog