ไม่พบผลการค้นหา
คณะกรรมการปกป้องผู้สื่อข่าวประกาศรางวัลผู้นำประเทศนักกดขี่เสรีภาพสื่อ ตอบโต้นายโดนัลด์ ทรัมป์ที่ทวีตว่าจะประกาศรางวัลสื่อเลวแห่งปี

คณะกรรมการปกป้องผู้สื่อข่าว หรือ CPJ ประกาศรางวัลผู้นำประเทศที่โจมตีสื่อและกดขี่เสรีภาพสื่อ พยายามจะปิดปากคนที่วิพากษ์วิจารณ์ และทำให้ประชาธิปไตยอ่อนแอลง โดยท่าทีดังกล่าวมีขึ้นเพื่อตอบโต้ที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทวีตข้อความว่าจะประกาศรางวัลสื่อที่สร้างข่าวปลอมและโกหกในช่วงเย็นวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา แต่จนถึงขณะนี้ นายทรัมป์ก็ยังไม่ประกาศรายชื่อสื่อที่เขามองว่าเป็นสื่อที่ไม่ดี

รางวัลผู้นำที่คุมสื่ออย่างเข้มงวดที่สุด โดยไม่นับประเทศที่ไม่มีสื่อเอกชน ได้แก่ นายสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนที่ใช้วิธีการเซ็นเซอร์สื่อและควบคุมอินเทอร์เน็ต เพื่อไม่ให้มีความคิดเห็นที่ขัดกับรัฐบาลจีน ผู้สื่อข่าวที่วิจารณ์รัฐบาลอาจตกงานหรือถูกแบนไม่ให้เดินทาง ส่วนผู้สื่อข่าวต่างประเทศก็มักถูกคุกคามและขัดขวางการทำงาน นอกจากนี้ จีนยังเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีการจับกุมผู้สื่อข่าวมากที่สุดในโลกมาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีผู้สื่อข่าวถูกจับกุมอย่างน้อย 41 คน

ผู้ที่ควบคุมสื่อรองลงมาก็คือ นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ที่ผู้สื่อข่าวถูกคุกคามและคุมขัง ขณะที่สื่อต่างชาติก็ต้องลงทะเบียนว่าเป็นตัวแทนรัฐบาลของประเทศต้นสังกัด รวมถึงห้ามไม่ให้ผู้สื่อข่าวต่างชาติเข้าไปในรัฐสภา นอกจากนี้ รัสเซียยังพยายามนำโมเดลการควบคุมอินเทอร์เน็ตของจีนมาประยุกต์ใช้อีกด้วย

1.jpg

(รางวัลผู้นำที่คุมสื่ออย่างเข้มงวดที่สุด: นายสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน และนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย)

รางวัลผู้นำที่ถอยหลังด้านเสรีภาพสื่อมากที่สุด เป็นของนางอองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมา โดยปี 2015 CPJ เคยอันดับให้เมียนมาอยู่ในอันดับที่ 9 ของประเทศที่มีการเซ็นเซอร์สื่อมากที่สุดในโลก แต่เมื่อนางซูจีชนะการเลือกตั้งและได้เป็นรัฐบาลเมียนมากลับขึ้นมาเป็นอันดับ 5 มีการจับกุมผู้สื่อข่าวอยู่บ่อยครั้ง นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่รัฐยังห้ามไม่ให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปทำข่าวการลบล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ โดยล่าสุด ผู้สื่อข่าวของรอยเตอร์ส 2 คนถูกคุมขัง เนื่องจากเข้าไปทำข่าวเกี่ยวกับชาวโรฮิงญา และหากพวกเขาถูกตัดสินว่ามีความผิดอาจต้องถูกจำคุกสูงสุด 14 ปี

ผู้ที่ได้อับดับ 2 คือ นายอันด์เซย์ ดูดา ประธานาธิบดีโปแลนด์ โปแลนด์เคยเปลี่ยนผ่านจากประเทศคอมมิวนิสต์ไปเป็นประชาธิปไตยอย่างราบรื่น โดยมีสื่อเสรีเป็นเสาหลักของการเปลี่ยนผ่าน แต่นายดูดาและพรรคชาตินิยมได้ออกกฎหมายให้รัฐบาลสามารถควบคุมสื่อได้โดยตรง และพยายามออกกฎหมายบังคับให้ชาวต่างชาติที่เป็นเจ้าของสื่อในโปแลนด์ขายหุ้น ทิ้ง สำนักงานรัฐบาลยุติการรับหนังสือพิมพ์ที่สนับสนุนพรรคฝ่ายค้าน นอกจากนี้ หน่วยงานควบคุมสื่อยังสั่งปรับช่องโทรทัศน์ TVN24 สำนักข่าวชื่อดังของโปแลนด์เป็นเงิน 1,500,000 สวอทีหรือเกือบ 14 ล้านบาท เพราะนำเสนอข่าวการประท้วงหน้ารัฐสภา ซึ่งถือเป็นเหมือนการข่มขู่ให้สื่อทั่วประเทศเซ็นเซอร์ตัวเอง

2.jpg

(รางวัลผู้นำที่ถอยหลังด้านเสรีภาพสื่อมากที่สุด: นางอองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐเมียนมา และนายอันด์เซย์ ดูดา ประธานาธิบดีโปแลนด์)

นายเรเจป ทายยิป เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกีคว้ารางวัลไปได้ถึง 2 รางวัล ได้แก่ รางวัลผู้นำที่ใช้กฎหมายกดขี่สื่ออย่างรุนแรงที่สุด และรางวัลผู้นำที่อ่อนไหวที่สุด เนื่องจากตุรกีเป็นประเทศที่จับกุมผู้สื่อข่าวมากที่สุดในโลก เจ้าหน้าที่ตุรกีดำเนินคดีกับผู้สื่อข่าว สำนักข่าว และผู้ใช้โซเชียลมีเดียเพราะวิพากษ์วิจารณ์นายเออร์โดกันและวิจารณ์ "ความเป็นตุรกี" โดยปี 2016 ระบบยุติธรรมตุรกีต้องพิจารณาคดีหมิ่นประมาทประธานาธิบดีหรือหมิ่นประมาท ชาติ สาธารณรัฐตุรกี รัฐสภา รัฐบาล และศาลทั้งสิ้น 46,193 คดี และขณะนี้มีผู้สื่อข่าวที่ถูกคุมขังมากกว่า 73 คนทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่ถูกตั้งข้อหาช่วยเหลือหรือโฆษณาชวนเชื่อให้กลุ่มก่อการร้าย

3.jpg

(รางวัลผู้นำที่ใช้กฎหมายกดขี่สื่ออย่างรุนแรงที่สุด: นายเรเจป ทายยิป เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกี และนายอัลเดล ฟัตตาห์ เอล-ซีซี ประธานาธิบดีอียิปต์)

ส่วนรางวัลผู้นำที่ใช้กฎหมายกดขี่สื่ออย่างรุนแรงที่สุดอันดับ 2 ได้แก่นายอับเดล ฟัตตาห์ เอล-ซีซี ประธานาธิบดีอียิปต์ ซึ่งมักใช้ข้อหาช่วยเหลือกลุ่มก่อการร้ายในการจับกุมผู้สื่อข่าวเช่นกัน โดยผู้สื่อข่าวที่ถูกคุมขังในอียิปต์มีมากกว่า 20 คน และในปี 2017 รัฐบาลอียิปต์ออกกฎหมายปราบปรามการก่อการร้ายฉบับใหม่ที่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่สามารถอายัดทรัพย์และระงับสิทธิ์บางอย่างของผู้สื่อข่าวที่อยู่ในบัญชีเฝ้าระวังว่าจะเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้ายได้

4.jpg

(รางวัลผู้นำอ่อนไหวที่สุด: นายเรเจป ทายยิป เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกี และนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ)

ส่วนนายโดนัลด์ ทรัมป์ก็ได้รางวัลผู้นำอ่อนไหวที่สุดอันดับ 2 เนื่องจากนายทรัมป์มักตอบโต้เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อด้วยการข่มขู่ว่าจะ ฟ้องหมิ่นประมาทและขู่จะพิจารณาการต่อใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง หรือกิจการโทรทัศน์ นายทรัมป์โจมตีสำนักข่าวและผู้สื่อข่าวบนทวิตเตอร์อยู่บ่อยครั้ง โดยใช้คำว่า "ล้มเหลว" หรือ "ขยะ" ข้อมูลระบุว่า นับตั้งแต่นายทรัมป์ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2015 เขาได้ทวีตข้อความวิจารณ์สื่อประมาณ 1,000 ทวีต นอกจากนี้ ซีพีเจยังได้ทำวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อบุคคลสาธารณะและผู้นำทางการเมืองต่อว่าสื่อ ถือเป็นการส่งเสริมให้สื่อเซ็นเซอร์ตัวเองและทำให้สื่ออยู่ในภาวะเสี่ยงโดยไม่จำเป็น

AP18009640108689.jpg

(รางวัลผู้นำที่ลดทอนคุณค่าเสรีภาพสื่อทั่วโลก: โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ)

นอกจากนี้ นายทรัมป์ยังได้รับรางวัลผู้นำที่ลดทอนคุณค่าเสรีภาพสื่อทั่วโลก แม้สหรัฐฯ จะเปรียบดังประภาคารของเสรีภาพสื่อทั่วโลก แต่นายทรัมป์มักโจมตีสื่อในสหรัฐฯ อยู่บ่อยครั้ง และยังไม่เคยยกเรื่องเสรีภาพสื่อมากดดันผู้นำประเทศที่กดขี่เสรีภาพสื่อคน อื่นๆ ทั้งนายสี นายเออร์โดกัน และนายเอล-ซีซี และผู้นำประเทศเหล่านี้ก็ยังใช้ข้ออ้างเรื่อง "ข่าวปลอม" มาโจมตีสื่อกันมากขึ้น นับตั้งแต่ที่นายทรัมป์หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมา นอกจากนี้ รัฐบาลนายทรัมป์ยังตัดงบสนับสนุนองค์กรที่ส่งเสริมเสรีภาพสื่อในประเทศต่างๆ ด้วย