ไม่พบผลการค้นหา
3 อนุฯ 'เศรษฐกิจ-การแพทย์สาธารณสุข-การเกษตร' รายงานประเด็นพิจารณาผลกระทบการเข้าร่วม CPTPP เตรียมขอขยายพิจารณาเพิ่มอีก 60 วัน เหตุมีหลายประเด็นยังถกไม่จบ กะเทาะไม่แตก

นายเกียรติ สิทธีอมร ประธานคณะอนุกรรมาธิการเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน รายงานว่า คณะอนุกรรมาธิการได้ประชุมไปแล้ว 5 ครั้ง ได้เริ่มต้นด้วยนำการศึกษาความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก หรือ CPTPP ของบริษัทโบลลิงเกอร์ที่ว่าจ้าง โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์มาพิจารณาพบว่า ในภาพรวม ผลการศึกษาที่ชี้ถ้าไทยเข้าร่วม CPTPP แล้วจะเพิ่มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ร้อยละ 0.12 นั้นเป็นผลประโยชน์ที่มาจากการค้าสินค้าที่จะได้เพิ่มขึ้น โดยสมมุติฐานที่ว่า การค้านั้นจะเกิดขึ้นทันที 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในความเป็นจริงควรใส่สมมติฐานเข้าไปว่า กว่าการค้าจะเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ ต้องใช้เวลากี่ปีจะทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ส่วนประโยชน์ที่ได้ที่เป็นตัวเลขจากการค้าภาคบริการและการลงทุนไม่ได้มีการใส่เป็นตัวเลขเข้ามา

อีกทั้งการศึกษานี้ไม่ได้มีการปรับฐานเพื่อให้เห็นการกระทบจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 แต่มีสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ได้ประเมินเบื้องต้นไว้ พบว่า น้ำหนักการค้าและการลงทุนมาจากสงครามการค้าและโควิด-19 โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนทำให้ต้องมีการย้ายฐานการลงทุนจากจีนมายังประเทศในภูมิภาครวมทั้งประเทศไทยด้วย ดังนั้น ถ้าอุตสาหกรรมเอื้อ เวียดนามอาจเป็นคู่แข่งในการดึงดูดแต่ไม่ใช่ทุกอุตสาหกรรม

เกียรติ สิทธีอมร-กมธ.การต่างประเทศ
  • เกียรติ สิทธีอมร ประธานคณะอนุกรรมาธิการเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน

ในส่วนการค้าสินค้า สิ่งที่สำคัญเรื่องของการเตรียมความพร้อมก่อนรับความตกลงใดๆ ภาคอุตสาหกรรมที่ผลิตในประเทศที่มีคู่แข่งสินค้านำเข้าจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการลดกำแพงภาษีในผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปเป็นหลัก

คำถามคือ ในการศึกษานี้ได้ลงลึกไปดูผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้า SMEs เหล่านี้หรือไม่ เมื่อพบว่า ผู้ศึกษาและกระทรวงต่างๆ ยังไม่ได้ไปคุยกับสมาคม SMEs กลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ฉะนั้นผลกระทบใส่ส่วนนี้ ทางคณะอนุกรรมาธิการขอให้ไปศึกษาเพิ่มเติม ไปคุย และหาคำตอบมาให้ได้

ทางคณะอนุฯ ได้ตั้งคำถามไปที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่าได้มีการศึกษาตรงนี้ไว้หรือไม่ ได้รับคำตอบว่าเป็นการสอบถามสมาชิก ฉะนั้นคำตอบที่ได้ไม่ใช่การศึกษาเชิงวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่การวิจัยศึกษาที่จะสามารถอ้างอิงอย่างมีน้ำหนัก ดังนั้นจึงได้แนะนำให้มีการศึกษาเพิ่มเติม

ติงการคำนวณ 'ถิ่นกำเนิดสินค้า' คุ้มค่า เห็นผลจริงหรือไม่

ประเด็นการคำนวนถิ่นกำเนิดสินค้า แต่ละเอฟทีเอ (เขตการค้าเสรี) ไม่เหมือนกัน คำถามคือภาคการผลิตจะใช้ถิ่นกำเนิดสินค้าใด ดังนั้นนี่จึงเป็นคำตอบว่า เหตุใดการใช้ประโยชน์จากถิ่นกำเนิดสินค้าในบางเอฟทีเอจึงไม่มาก แล้วแต่สะดวกของผู้ผลิต และขึ้นอยู่กับคู่ค้าหลัก กรณี CPTPP ได้ประโยชน์จากถิ่นกำเนิดสินค้าสะสมของประเทศสมาชิก ไทยมีถิ่นกำเนิดสินค้าสะสมจาก ASEAN และ ASEAN+6 ถามว่าพอเป็น CPTPP จะได้อะไรเพิ่ม ก็คาดว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการผลิตที่คาดว่าจะส่งไปแคนาดากับเม็กซิโกเพิ่ม คำตอบค่อนข้างง่อนแง่นพอสมควร ยิ่งเมื่อซักถามเกี่ยวกับค่าขนส่งจากไทยไปถึงแคนาดา ถึงเม็กซิโก หรือ จากแคนาดาวิ่งมาแข่งกับไทย จึงให้ไปศึกษาเพิ่มเติม

ประเด็นเรื่องการเปิดตลาด การรับรองตนเองในการแสดงเอกสารเพื่อการนำเข้า เคยมีในเอฟทีเอไทย-ออสเตรเลีย แต่ไม่มีในฉบับอื่น เอกชนทำกันเองได้เลย จุดนี้จึงเป็นข้อห่วงกังวลของกรมศุลกากร ส่วนประเด็นเรื่องเขตปลอดภาษี (Free Zone), การส่งเสริมการลงทุน (BOI) และนิคมอุตสาหกรรมที่ให้สิทธิพิเศษภาษีศุลกากร ยังพิจารณาไม่เสร็จสิ้น

เรื่องภาคบริการและการลงทุน ที่ผ่านมาในการศึกษาจนถึงวันนี้ไม่ว่าจากแหล่งใดไม่ได้มีการพิจารณาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะได้จากภาคบริการและการลงทุนเลย อาจจะมีการประเมินเชิงคุณภาพ ความสามารถทางการแข่งขันของบางเซคเตอร์ที่จะเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ไม่ใช่ตัวเร่ง

ความกังวลเรื่องการเปิดให้วิชาชีพต่างๆ เข้ามาทำงานในประเทศไทยได้เลยนั้น เป็นความเข้าใจผิดที่ได้ชี้แจงไปแล้วว่ามีขั้นตอนต่างๆ ตามกฎหมายไทย ส่วนเรื่อง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ยังขึ้นอยู่กับการเจรจาว่าจะต้องปลดล็อกหรือไม่อย่างไร

รอความชัดเจน 'สหภาพแรงงานข้ามชาติ-แพลตฟอร์มออนไลน์'

เรื่องสิทธิแรงงานที่มีข้อกังวลให้แรงงานต่างชาติตั้งสหภาพนั้น กำลังให้หน่วยงานทำหนังสือไปถามที่องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ว่าเป็นการตั้งสหภาพ หรือ แค่ให้แรงงานต่างชาติสามารถเป็นกรรมการ เป็นสมาชิก ร่วมก่อตั้งสหภาพ ตัวอย่างอุตสาหกรรมประมงที่มีแรงงานต่างชาติมากกว่าแรงงานไทย จะถูกมองว่าเป็นสหภาพแรงงานข้ามชาติหรือไม่ ต้องรอคำตอบจาก ILO

E-Commerce มีข้อกังวลสูงมาก ทั้งเรื่องการกำกับดูแล การตั้งแพลตฟอร์มในต่างประเทศ การโอนเงิน การไม่บังคับตั้งบริษัทในประเทศไทย ฯลฯ ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษามาอย่างละเอียด

วาโย อัศวรุ่งเรือง ก้าวไกล F-4676-8ACA-00A814A6DB7C.jpeg
  • นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง เลขานุการคณะอนุกรรมาธิการการแพทย์และสาธารณสุข

ทางด้านนายแพทย์วาโย อัศวรุ่งเรือง เลขานุการคณะอนุกรรมาธิการการแพทย์และสาธารณสุข กล่าวว่าจากการพิจารณารายประเด็น โดยขั้นตอนเป็นการรับทราบข้อห่วงกังวล คำชี้แจงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และข้อเสนอหรือหนทางแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้น และต่อไปจะพิจารณาผลกระทบกับห่วงโซ่อุตสาหกรรมทั้งหมด ในประเด็นต่างๆ ดังนี้

1.เรื่องการประกาศบังคับใช้สิทธิเพื่อผลิตหรือนำเข้ายา (CL) แม้ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาและกรมสนธิสัญญาระหว่างประเทศจะยืนยันว่าสามารถทำได้ แต่ทางภาคประชาสังคมภาควิชาการและภาคสาธารณสุขมองว่า มีความสุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องต่างจากเดิม ฉะนั้นรัฐบาลควรมีข้อกังวลไปเจรจา พิจารณาให้มีการทำ side letter หรือพิจารณาทำเป็นข้อสงวนหรือได้รับคำตอบเป็นลายลักษณ์อักษาจากรัฐภาคี CPTPP ว่าไทยจะยังสามารถทำ CL เหมือนเดิมที่ผ่านมาและไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องจากภาคเอกชน

2.ในประเด็นการเชื่อมโยงข้อมูลสิทธิบัตรของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ กับการขึ้นทะเบียนของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่เรียกว่า Patent Linkage ซึ่งอาจจะทำให้ยาชื่อสามัญเข้าสู่ตลาดล่าช้า ดังนั้นรัฐบาลต้องจัดการประชุมทวิองค์กร และจัดเตรียมป้องกันการใช้สิทธิมิชอบของบริษัทยาต้นแบบเพื่อชะลอการเข้าถึงตลาดของยาชื่อสามัญ หรือที่เรียกว่า 'แกล้งฟ้อง' และอาจตรากฎหมายระดับรองเพื่อเยียวยาบริษัทยาชื่อสามัญ และมีช่องทางให้ผู้บริโภคที่ได้รับผลเสียหายจากการแกล้งฟ้องเพื่อถ่วงเวลาการเข้าสู่ตลาดของยาชื่อสามัญที่มีราคาถูกกว่ายาต้นแบบหลายสิบเท่า ร้องเอาผิดกับบริษัทยาต้นแบบได้

3.ผลที่จะเกิดกับองค์การเภสัชกรรมที่จะสูญเสียสิทธิประโยชน์ ทางกรมเจรจาการค้าฯ ได้ยกตัวอย่างเวียดนามที่กันภาคส่วนนี้ไว้ร้อยละ 50 ในระยะเวลา 20 ปี มีลำดับขั้นของการเปิด จำนวนหนึ่งเห็นว่า ควรเจรจาต่อรองให้กันได้เท่ากับเวียดนาม แต่อุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศมองต่างว่าอาจสร้างความเติบโตได้ ถ้ายกเลิกสิทธิพิเศษขององค์การเภสัชกรรมไป

4. การขึ้นทะเบียนหรือรับฝากจุลชีพ ประเทศไทยต้องเร่งให้มีกฎหมายในการสำแดงแหล่งที่มาของยาที่มีจุลชีพเป็นส่วนประกอบ หรือการรับฝากจุลชีพก่อน

5. การที่ CPTPP ห้ามบังคับเครื่องสำอางติดฉลากเลขจดแจ้งกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งจะกระทบกับการคุ้มครองผู้บริโภค รัฐบาลต้องนำไปเจรจาหาข้อยุติว่า สามารถติด QR Code แทนได้หรือไม่ ขณะที่ภาคเอกชนเกรงว่าจะเพิ่มต้นทุน

6. เครื่องมือแพทย์ทำเหมือนใหม่ (Remanufacturing Goods) กระทรวงสาธารณสุขและภาคประชาชนเกรงว่าจะทำให้มาตรฐานการแพทย์ไทยด้อยมาตรฐานลง เพราะ CPTPP กำหนดให้ไทยต้องอนุญาตเครื่องมือแพทย์ลักษณะนี้เข้ามาจำหน่ายในประเทศได้ แต่เดิมไทยไม่อนุญาตไว้ เพราะหากกระทรวงสาธารณสุขออกกฎห้ามสถานพยาบาลรัฐและเอกชนใช้เครื่องมือแพทย์ดังกล่าว หรือกำหนดใน TOR ห้ามซื้อ ทางกรมสนธิสัญญาเกรงว่าจะผิดกฎ fair and equitable treatment ของ CPTPP จึงจะพิจารณาอีกครั้ง

7. การกำหนดรูปแบบหีบห่อยาสูบที่ประเทศไทยกำลังเริ่มใช้ซองบุหรี่แบบเรียบ ขณะที่การควบคุมแอลกอฮอล์ก็ใช้ในลักษณะเดียวกัน ทำให้ต้องเจรจาให้มี side letter ในการบังคับเรื่องเหล่านี้เป็นมาตรการสาธารณสุข

8. การบริการสาธารณสุข ได้เชิญทุกสภาวิชาชีพมาหารือ ข้อกังวลที่มีในกฎหมายสามารถกันได้ใน Annex (ภาคผนวก) ข้อกังวลที่ไม่มีในกฎหมายเสนอให้ออกกฎหมายก่อนให้เร็วที่สุด

9.เรื่องกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน ทางกรมเจรจาฯ สามารถทำ side letter ห้ามฟ้องร้องกับประเทศภาครายประเทศ หรือมีกลไกในการกลั่นกรอง เช่นต้องผ่านความยินยอมของรัฐก่อนไปยื่นฟ้อง

10.ส่วนข้อบทที่ถูกพักไว้ จะกลับเข้ามาหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับความยินยอมของประเทศสมาชิกทุกประเทศเป็นเอกฉันท์

อย่างไรก็ตาม เลขานุการของคณะอนุกรรมาธิการการแพทย์และสาธารณสุขกล่าวสรุปว่า การประชุม 5 ครั้งที่ผ่านมายังมีข้อจำกัดที่พิจารณารายประเด็นอย่างแยกส่วน ยังไม่ได้นำรายประเด็นมาประกอบเป็นภาพรวมของห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดว่า จะเกิดผลกระทบต่อเนื่องอย่างไรหรือไม่ แม้รายประเด็นดูเหมือนอาจจะแก้ปัญหาได้ เนื่องจาก CPTPP ที่เน้นประโยชน์ทางธุรกิจเชิงพาณิชย์เป็นหลัก ทำอย่างไรให้ภาคสาธารณสุขได้รับผลกระทบน้อยที่สุด และยังต้องพิจารณาถึงภาระที่จะเกิดกับประชาชน ค่ารักษาพยาบาลจะเพิ่มขึ้นเท่าไร และจะเป็นภาระกับภาครัฐเพิ่มขึ้นเท่าไร ใครได้ใครเสีย คนเสียจะเยียวยาอย่างไร การปรับตัวของหน่วยงานต่างๆ ทำได้หรือไม่ ต้องใช้เวลาเท่าไร ไม่ว่าจะเป็นการทำงานร่วมกันของกรมทรัพย์สินทางปัญญาและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา องค์การเภสัชกรรม จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางยาหรือไม่อย่างไร ต้องศึกษาต่อไป

วรภพ -1DBB-4BE0-88E7-297C0EFE63ED-L0-001.jpg
  • วรภพ วิริยะโรจน์ เลขานุการคณะอนุกรรมาธิการการเกษตร

ด้านนายวรภพ วิริยะโรจน์ เลขานุการคณะอนุกรรมาธิการการเกษตร รายงานว่า ประเด็นอนุสัญญาคุ้มครองนักปรับปรุงพันธุ์ที่เรียกว่า UPOV1991 มีข้อห่วงกังวลมากที่สุด ประเทศไทยยังสามารถกำหนดให้แจ้งแหล่งที่มาของสารพันธุกรรมได้หรือไม่ เพื่อให้เกิดการแบ่งปันผลประโยชน์และป้องกันการผูกขาดพันธุ์ดั้งเดิม/พันธุ์พื้นเมือง ซึ่งเป็นหนึ่งในคำถามที่คณะกรรมาธิการขอให้กรมเจรจาฯ ส่งคำถามนี้ไปยังสำนักงาน UPOV เพื่อขอคำอธิบาย

สำหรับการเก็บเมล็ดพันธุ์ปลูกต่อเพื่อขายผลผลิตนั้น ซึ่งตามกฎหมายไทยปัจจุบัน เกษตรกรสามารถทำได้ หากเข้า UPOV1991 เกษตรกรจะเก็บเมล็ดพันธุ์ขึ้นทะเบียนไม่ได้ หากกฎหมายไม่ได้อนุญาตไว้ จึงเป็นประเด็นคำถามที่จะส่งไปขอคำอธิบายและยืนยันจากทาง UPOV ว่า ประเทศไทยสามารถเขียนกฎหมายคุ้มครองเกษตรกรรายย่อยให้เก็บเมล็ดพันธุ์ผัก ผลไม้ ไม้ดอก ไม้ประดับซึ่งวิธีชีวิตดั้งเดิมเก็บอยู่แล้วได้ต่อไปหรือไม่, ประเทศไทยสามารถนิยามเกษตกรรายย่อยตามพื้นที่ถือครองร้อยละ 50 ของสถิติจริงตามพันธุ์พืชได้หรือไม่ เช่น ร้อยละ 50 ของเกษตกรผู้ปลูกข้าวโพด ถือครองพื้นที่น้อยกว่า 25 ไร่นั่นหมายความว่าในกฎหมายจะอนุญาตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดที่มีพื้นที่น้อยกว่า 25 ไร่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ที่ขึ้นทะเบียนนั้นไปปลูกต่อเพื่อขายผลผลิตได้หรือไม่ และคำถามต่อเนื่อง ประเทศไทยสามารถนิยามพื้นที่ที่เกษตรกรถือครองและเก็บเมล็ดพันธุ์ขึ้นทะเบียนมาปลูกต่อเป็นที่ดินทุกกรรมสิทธิ พื้นที่เช่า พื้นที่ สปก.

ประเด็นลักษณะสำคัญของพันธุ์พืชที่ได้รับความคุ้มครอง (EDVs) เป็นประเด็นที่ยาก ซับซ้อน และจะส่งผลกระทบทางลบมากที่สุด UPOV กำหนดขึ้นมาเพื่อคุ้มครองนักปรับปรุงพันธุ์ แต่เป็นข้อห่วงกังวลของเกษตรกร เพราะพืชมีโอกาสผสมพันธุ์ข้ามแปลง เป็นความเสี่ยงต่อการถูกฟ้องเป็นคดีความ

กรณีนี้จะเกี่ยวเนื่องกับ 2 หน่วยงานคือ กรมวิชาการเกษตร ผู้ใช้ดุลพินิจในการจดทะเบียนคุ้มครอง และศาลทรัพย์สินทางปัญญา ที่ใช้อำนาจชี้ขาด ทำให้ต้องตั้งคำถามว่า การเข้า UPOV1991 จะทำให้มีความเป็นไปได้จะมีคำวินิจฉัยต่างประเทศมาบังคับใช้เหนือคดีในประเทศหรือไม่ ไทยสามารถกำหนดคุ้มครองเกษตรกรจาก EDVs ที่ผสมพันธุ์หรือปนเปื้อนทางธรรมชาติได้เลยหรือไม่ เพื่อคลายกังวลของเกษตรกร

นอกจากการส่งคำถามไปยัง UPOV แล้ว ประเทศไทยยังต้องเตรียมการเรื่องฐานข้อมูลพันธุ์พืชพื้นเมือง พันธุ์พืชดั้งเดิม เพิ่มงบวิจัยการพัฒนาพันธุ์พืช หากจะเข้าร่วม CPTPP ให้ใช้การเจรจาต่อรองแบบนิวซีแลนด์ที่ไม่เข้าร่วมเป็นภาค UPOV1991 แต่ปรับปรุงกฎหมายเพื่อคุ้มครองนักปรับปรุงพันธุ์เท่านั้น และควรเปิดเผยร่างกฎหมายที่เข้ากับบริบทสังคมไทย คุ้มครองเกษตรกร อย่างไรก็ตามก็ยังมีประเด็นข้อห่วงใยเรื่องข้อจำกัดในการเก็บเมล็ดพันธุ์ปลูกต่อและการคุ้มครอง EDVs อยู่ดี

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 10 ก.ค.นี้ นายวีระกร คำประกอบ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาผลกระทบจากการเข้าร่วม CPTPP จะรายงานความคืบหน้าการพิจารณาต่อสภาผู้แทนราษฎรและขออนุมัติการขยายเวลาพิจารณาออกไปอีก 60 วัน จากเดิมที่สภาฯ ให้เวลาพิจารณาเพียงแค่ 30 วัน (ถึงวันที่ 10 ก.ค.นี้)

หลังจากเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา กมธ. ชุดดังกล่าวได้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการอันประกอบไปด้วยด้านเกษตร, ด้านการแพทย์และสาธารณสุข และด้านเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :