ไม่พบผลการค้นหา
'ประชาชาติ' ประชุม ส.ส. ฟังผลกระทบโควิด-19 คนใต้วอนรัฐดูแล 'เงิน-อาหาร-หน้ากาก' ขณะที่ 'วันนอร์' แนะเอกซ์เรย์หาคนป่วยทุกพื้นที่

ที่พรรคประชาชาติ(ปช.) นาย วันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรค ปช. ในฐานะหัวหน้าพรรค เรียกประชุมคณะผู้บริหารและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ นายซูการ์โน มะทา ส.ส.ยะลา เขต.2 ,นายอับดุลอายี สาแม็ง ส.ส.ยะลา เขต.3 ,นายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ ส.ส.ปัตตานี เขต.4 ,นายกูเฮง ยาวอหะซัน ส.ส.เขต.3 นราธิวาส และนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส เขต.4

เพื่อประเมินสถานการณ์ไวรัสโควิด -19 การใช้ชีวิตของประชาชนหลังมีการประกาศพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ทั้งนี้ ส.ส.ในพื้นที่ 3 จชต.ได้รายงานในที่ประชุมว่า ความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นไปด้วยความลำบาก ทั้งเรื่องอาหาร เงิน และอุปกรณ์ในการป้องกันคือ หน้ากาก เจลแอลกอฮอล์ ที่ขาดแคลน มีไม่เพียงพอ รวมทั้งการติดต่อขอความช่วยเหลือภาครัฐยังไม่มีความชัดเจน รวมถึงการขอสิทธิ์ลงทะเบียนการเยียวยาเดือนละ 5 พัน 6 เดือนที่ไม่ผ่านเกณฑ์ 

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาโควิด-19 เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน ทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้านและประชาชน ที่ต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศไทยให้ผ่านพ้นไปด้วยดี แน่นอนย่อมมีข้อผิดพลาด ความคิดเห็นไม่ตรงกันบ้างแต่เราต้องให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงานเช่นเจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมถึงเจ้าหน้าที่ทุกคน ดังนั้น ขอให้ สมาชิกทุกคนอย่าประมาทและอดทนและเข้าไปช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม มาตรการต่างๆที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญมีอยู่ 2 เรื่อง คือ

1.การรักษาป้องกันไม่ให้ระบาดมากกว่่านี้ ทำอย่างไรให้ลดลง โดยสิ่งที่รัฐบาลทำตอนนี้พอไปได้ในระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่อยากจะเห็นในภาวะที่เกือบปิดประเทศ ถ้าจะทำให้ครอบคลุมและให้ประชาชนอยู่เฉยๆนั้น แค่การปิดกั้นการสัญจรแต่ละจังหวัดน่าจะไม่คุ้มค่าต่อเวลาที่เสียไป สิ่งที่พรรค ปช.อยากเสนอ คือ เมื่อเราปิดเขต ปิดจังหวัด ต้องใช้นโยบายเดียวกับปราบยาเสพติด คือ เอกซ์เรย์ทุกพื้นที่ ทุกบ้านที่มีการระบาด หากพบคนที่ติดเชื้อโควิด-19 ก็นำไปรักษา เพราะวันนี้ยังไม่ทราบว่าคนที่ติดโควิด-19 เจ้าตัวจะทราบหรือไม่ทราบนั้นยังไม่ได้ออกมารักษา แต่เบื้องต้นต้องสำรวจข้อมูลให้ได้ก่อน โดยกลไกกระทรวงมหาดไทย (มท.) ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วย อาสาสมัคร (อสม.) ของ สธ. ดังนั้น หากมีการสำรวจแล้วรายงานเราจะทราบถึงจำนวนว่ามีผู้ติดเชื้อเท่าไร จากนั้นค่อยดำเนินการตามขั้นตอนการกักตัวและรักษา 

"เชื่อว่าการแก้ไขปัญหาโควิด-19 น่าจะง่ายกว่าการแก้ปัญหายาเสพติด เพราะคนไม่อยากแสดงออก ไม่อยากรักษา แต่เรื่องโควิด-19 เป็นสิ่งที่คนตระหนักดี ถ้าไม่ออกมารักษาจะเสียชีวิต เป็นแล้วแพร่เชื้อให้คนอื่น ดังนั้น อย่าตรวจแค่พื้นถนน ต้องเอกซ์เรย์ทุกพื้นที่ อย่างไรก็ตาม แต่ที่หวั่นวิตก คือ การช่วยเหลือของรัฐบาลน่าจะยังไม่ทั่วถึง ถ้าจะให้ดีน่าจะเอาแบบอย่างหลายๆ ประเทศที่แจกเงิน หรือแจกอาหารต่อสัปดาห์ไปเลย โดยใช้บัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน ครอบครัวหนึ่งควรจะได้เท่าไร หากโรคนี้ยังอยู่อีกหลายเดือนน่าจะมีคนไทยอดตาย ดังนั้นสิ่งนี้รัฐบาลต้องเตรียมการนอกจากป้องกันไม่ให้คนติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงทำอย่างไรไม่ให้ประชาชนอดตาย หรือ ถ้าอดอยากและล้มตาย ก็ขอให้มีจำนวนน้อยที่สุด และ ดีที่สุดก็คือต้องไม่มีคนล้มตายจากความอดอยาก" นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว 

ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรค ปช. กล่าวว่า ตามที่โฆษก ศบค.เปิดเผยตัวเลขในประเทศไทยที่เข้ารับการตรวจว่ามีติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ เพียงแค่ 7 หมื่นกว่าครั้ง จากคน 69 ล้านคน ถือเป้นสัดส่วนไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ วันนี้เรื่องใหญ่ที่สุดคนอีก 99 เปอร์เซ็นต์ ยังไม่เข้ามาสู่กระบวนการตรวจจะแก้ปัญหาอย่างไร โดยศักยภาพของโรงพยาบาลทั้งประเทศยังไม่ได้พัฒนาวิธีการตรวจ สามารถตวจได้ 2 หมื่นกว่าคนต่อวัน และทำอย่างไรจะทำให้ค่าตรวจมีราคาถูกประชาชนทุกคน โดยเฉพาะคนที่มีเงินน้อย สามารถมาตรวจได้ ขณะเดียวกันการให้ประชาชนอยู่บ้านเพื่อป้องกันนั้น แต่สิ่งที่ตามมาคือโรคอดตาย ดังนั้นรัฐบาลต้องรีบดำเนินการแก้ไขจุดนี้ด้วย