ไม่พบผลการค้นหา
WHO ชูมาตรการป้องกันการจมน้ำของประเทศไทย โดยเน้นใช้กลยุทธ์ทีมผู้ก่อการดี โดยกรมควบคุมโรคและเครือข่ายร่วมแสดงผลงานในการประชุมเครือข่ายสมาชิกของ WHO ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกตะวันตก 16 ประเทศ

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ประธานเปิดการประชุม พร้อมด้วย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นางสาวเก็มม่า เมย์ ผู้แทนองค์กร Royal National LifeBoat Institution (RNLI) ประเทศอังกฤษ และนายแพทย์ทักษพล ธรรมรังสี ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมการประชุม South – East Asia Regional Meeting on Drowning Prevention (การป้องกันการจมน้ำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ระหว่างวันที่ 30-31 ก.ค. 2562 เพื่อสร้างความตระหนักระดับนโยบายและความมุ่งมั่นในการป้องกันการจมน้ำ ทบทวนกลยุทธ์ นโยบายและโปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการจมน้ำ และพัฒนาศักยภาพและการมีส่วนร่วมขององค์การอนามัยโลก (WHO) และหุ้นส่วนการพัฒนาอื่นๆ

การจมน้ำเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญทั่วโลก ซึ่งในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำประมาณ 360,000 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 40 คน มากกว่าร้อยละ 90 ของการจมน้ำเกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าประเทศที่มีรายได้สูง 3 เท่า ซึ่งการเสียชีวิตจากการจมน้ำของโลกมากกว่าครึ่งหนึ่งเกิดขึ้นในเอเชีย อัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนใหญ่สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานทั่วโลก

สำหรับประเทศไทย การจมน้ำยังเป็นปัญหาสาธารณสุข ที่ส่งผลต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย เพราะเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เนื่องจากการจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี และอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าทุกกลุ่มอายุถึง 2 เท่า โดยก่อนเริ่มดำเนินมาตรการป้องกันการจมน้ำ (ก่อนปี พ.ศ. 2549) มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 1,500 ราย โดยหลังมีนโยบายที่ให้ความสำคัญกับการจมน้ำและเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และจิตอาสา ร่วมกันดำเนินการในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กค่อยๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนดำเนินการลดลงถึงร้อยละ 50 โดยในปี 2561 พบเด็กจมน้ำเสียชีวิต จำนวน 681 ราย

ทั้งนี้ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยได้กำหนดให้แผนการป้องกันการจมน้ำบูรณาการอยู่ในแผนของแต่ละกระทรวงตามบทบาทพันธกิจที่กำหนด เช่น แผนฉุกเฉินอุบัติเหตุทางน้ำ แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ แผนนโยบายโลกที่เหมาะสมสำหรับเด็ก และแผนยุทธศาสตร์ชาติ (ด้านสาธารณสุข) ระยะ 20 ปี ซึ่งกลยุทธ์การสร้างทีมผู้ก่อการดี (MERIT MAKER) เป็นมาตรการหลักที่อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติดังกล่าว 

44.jpg

โดยทีมผู้ก่อการดี (MERIT MAKER) ต้องดำเนินการใน 10 องค์ประกอบ ซึ่งแต่ละองค์ประกอบคือ มาตรการที่สำคัญของการป้องกันการจมน้ำที่ครอบคลุมปัจจัยเสี่ยงทั้งทางด้านตัวบุคคลและสิ่งแวดล้อม โดยผลการดำเนินงานของทีมผู้ก่อการดี (MERIT MAKER) ป้องกันการจมน้ำ ระยะเวลา 4 ปี (ปี 2558–2561) พบว่ามีทีมผู้ก่อการดี 3,484 ทีม ครอบคลุม 688 อำเภอ ใน 77 จังหวัด สำหรับ Good Practice ทางกรมควบคุมโรคได้คัดเลือก 4 พื้นที่ที่ดำเนินงานผู้ก่อการดีมาแสดงผลงาน ได้แก่ ทีมผู้ก่อการดีปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ทีมผู้ก่อการดีบ้านจารย์ จังหวัดสุรินทร์ โรงเรียนวัฒนพฤกษา จังหวัดนนทบุรี และทีมมูลนิธิพุทธธรรม (ฮุก 31) จังหวัดนครราชสีมา

การประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูงของประเทศเครือข่ายสมาชิกขององค์การอนามัยโลกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกตะวันตก 16 ประเทศ เข้าร่วมประชุมประเทศละ 3 คน ได้แก่ ผู้กำหนดนโยบายระดับสูงด้านการบริหารจัดการและการจัดการโครงการระดับประเทศด้านการป้องกันการจมน้ำ ผู้จัดการโครงการระดับประเทศ/ผู้อำนวยการ และผู้ประสานงานด้านข้อมูลของประเทศ นอกจากนี้ ยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันการจมน้ำในระดับโลก รวมทั้งผู้แทนจากองค์การอนามัยโลก สำนักงานใหญ่ เจนีวา ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แปซิฟิกตะวันตกและประเทศไทย และองค์กร Royal Life Saving ประเทศออสเตรเลีย เข้าร่วมประชุมด้วย รวมทั้งสิ้นประมาณ 100 คน