ไม่พบผลการค้นหา
อาจารย์ด้านกฎหมาย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ชี้ "สิทธิในอากาศ" เป็นสิทธิที่พยายามระบุให้ชัดขึ้นในยุคหลัง มีหลายประเทศที่ให้ความสำคัญและกำหนดในนโยบายของรัฐและรัฐธรรมนูญ

อ.ดร.ณัฐกรณ์ วิทิตานนท์ อาจารย์ประจำสำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก หลังหลายคนพูดถึงเรื่องสิทธิในอากาศ หรือ Right to Clean Air เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์พึงมี ตนจึงลองไล่ดูรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศแบบละเอียดโดยใช้เครื่องมือค้นในเว็บ Constitute ว่ามีประเทศไหนที่เขียนถึงเรื่องนี้ โดยใช้คำว่า "Air" ทำให้พบว่ามีอยู่ราว 16 ประเทศ คือ

1. รธน.ออสเตรีย 1920 เป็นหน้าที่ของรัฐบาลกลางที่ต้องทำให้อากาศบริสุทธิ์ (Clear Air)

2. รธน.โบลิเวีย 2009 อากาศถือเป็นทรัพยากรธรรมชาติ

3. รธน.เอกวาดอร์ 2008 โครงการพัฒนาต้องคำนึงการเข้าถึงอากาศที่มีคุณภาพของประชาชน, รัฐจะต้องมีมาตรการจำกัดมลพิษทางอากาศ

4. รธน.เอริเทรีย 1997 รัฐต้องรับผิดชอบต่อการจัดการอากาศอย่างสมดุลและยั่งยืน

5. รธน.เยอรมัน 1949 (น่าจะ) ทั้งสองสภามีอำนาจร่วมกันที่จะออกกฎหมายควบคุมมลพิษทางอากาศ

6. รธน.กายอานา 1980 ความสุขของชาติขึ้นอยู่กับการรักษาอากาศให้สะอาด (Clean Air)

7. รธน.ไอร์แลนด์ 1937 ทรัพยากรอากาศเป็นของรัฐ

8. รธน.เคนยา 2010 เคาน์ตี้มีอำนาจและหน้าที่ในการควบคุมมลพิษทางอากาศ

9. รธน.ลิทัวเนีย 1992 การก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศจะต้องถูกห้ามโดยกฎหมาย

10. รธน.ไนจีเรีย 1999 รัฐจะต้องปกป้องและพัฒนาคุณภาพอากาศ

11. รธน.ปานามา 1972 รัฐจะต้องทำให้ประชาชนมั่นใจว่าได้อาศัยอยู่ในอากาศที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิต

12. รธน.ปาปัวนิวกินี 1975 การใช้ทรัพยากรอากาศในการพัฒนาต่างๆ ต้องพึงระลึกถึงคนในรุ่นต่อไป

13. รธน.แอฟริกาใต้ 1996 รัฐบาลท้องถิ่นมีอำนาจที่จัดการปัญหามลพิษทางอากาศ

14. รธน.ยูกันดา 1995 รัฐมีหน้าที่ส่งเสริมให้สาธารณะตระหนักถึงการจัดการทรัพยากรอากาศอย่างสมดุลและยั่งยืนเพื่อคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต

15. รธน.เวเนซุเอลา 1999 เป็นหน้าที่พื้นฐานของรัฐที่จะต้องดูแลให้โครงการพัฒนาปลอดจากมลภาวะทางอากาศตามที่กฎหมายบัญญัติ

16. รธน.เวียดนาม 1992 อากาศถือเป็นสมบัติสาธารณะที่จัดการโดยรัฐ

อ.ดร.ณัฐกรณ์ เปิดเผยว่า 16 ประเทศที่กล่าวมานี้ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในเรื่องสิทธิของประชาชน แต่อยู่ในหมวดที่คล้ายกับแนวนโยบายพื้นฐานของรัฐ ที่รัฐบาลใช้เป็นแนวทางในการดูแล โดยที่ในบางประเทศจะพูดในแง่มุมที่ต่างกัน บางประเทศพูดถึงอากาศในแง่ของสาธารณะที่ต้องหวงแหน บางประเทศพูดตรงไปเลยว่าเป็นหน้าที่รัฐที่ต้องทำอากาศที่ดีให้ประชาชน แต่บางประเทศให้รัฐบาลกลางเข้ามามีอำนาจ บางประเทศให้รัฐบาลท้องถิ่นเข้ามาดูแล

ซึ่งระยะหลังมีการรณรงค์กันมากขึ้น อย่างเมื่อก่อนสิทธิในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีจะเป็นสิทธิโดยรวมของมนุษย์ที่ต้องมีอยู่แล้ว แต่ช่วงหลังมานี้มีประเด็นบางประเด็นที่ทำให้หลายประเทศคิดว่า ต้องให้ความสำคัญมากขึ้น และการทำให้ชัดไปเลยถึงสิทธิในการเข้าถึงอากาศบริสุทธิ์ที่จะใช้หายใจ หรือพูดให้ชัดไปเลย สิ่งเหล่านี้เป็นสิทธิที่พยายามจะระบุให้ชัดเจนขึ้นในยุคที่ประสบกับปัญหานี้ แต่ถ้ามองถึงสิทธิมนุษยชนที่เป็นของยูเอ็นนั้นไม่ได้มีการระบุไว้ แต่ภายหลังปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ทำให้มีการเรียกร้องว่าควรจะบรรจุเรื่องนี้ ซึ่งอย่างน้อยขอให้บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญว่า เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะเพิกเฉยไม่ได้ต้องให้ความสำคัญ แต่โดยรวมการมีสิทธิในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีนั้นอยู่ที่แต่ละประเทศจะให้น้ำหนักมากน้อยแค่ไหน

ทั้งนี้ โดยส่วนตัวมองว่า ถึงให้เขียนระบุไว้ให้มีอากาศที่ดี ก็อยู่ที่ความใส่ใจของรัฐบาลว่ามองเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ขนาดไหน เพราะต่อให้เขียนก็ไม่มีประโยชน์ แต่ละประเทศที่เขียนใช่ว่าจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ มันอยู่ที่นโยบายของรัฐบาลเองมากกว่าว่าจะเอาจริงเอาจังมากแค่ไหน